“จรัญ”ระบุตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ8คนต้องชี้ขาดวาระ"วรวิทย์"
“จรัญ ภักดีธนากุล”เผยไม่มีองค์กรใดจะชี้ขาดวาระ "วรวิทย์ กังศศิเทียม" ชี้ตุลาการศาลรธน.ทั้ง 8 คน ต้องหากฎหมายให้ชัดเจนให้ถูกต้อง ทำไม่ถูกต้องไม่ได้ประเทศจะเสียหาย
จากกรณีการดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ วรวิทย์ กังศศิเทียม ซึ่งจะมีอายุครบ 70 ปี ในวันที่ 1 มี.ค.2565 นี้ (เกิด 1 มี.ค.2495) แต่ขณะนี้มีข้อถกเถียงว่าคุณสมบัติของ วรวิทย์ ว่าจะยึดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือรัฐธรรมนูญปี 2560 เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีวาระในตำแหน่งไม่เกิน 9 ปี หรือต้องอายุไม่เกิน 70 ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเรื่องใดมาถึงก่อนหลัง
สำหรับกรณีของวรวิทย์ อายุครบ 70 ปีเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565 ก่อนถึงครบวาระ 9 ปี โดยวรวิทย์ ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 9 ก.ย.2557 และอยู่ในตำแหน่งตุลาการศาลรัฐรรมนูญมาแล้ว 7 ปี 6 เดือน แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ไปกำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีวาระในตำแหน่งไม่เกิน 7 ปี หรือต้องอายุไม่เกิน 70 ปี แต่สามารถขยายอายุไม่ให้เกิน 75 ได้ ซึ่งจะทำให้วรวิทย์ เป็นตุลาการต่อได้ถึงปี 1 มี.ค.2570
อย่างไรก็ตามมีความเห็นแย้งกันเองของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คนทำให้ต้องหารือกันนอกรอบเพื่อเคลียร์ปัญหาให้แล้วเสร็จ แต่ความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เป็นเอกฉันท์ เพราะช่องว่างการกำหนดอายุของรัฐธรรมนูญปี 2550 และรัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นลักลั่นกัน
นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ว่า ขอยุติปัญหานี้ รวมถึงระบบกฎหมายที่มีอยู่ในวันนี้ ไม่มีองค์กรใดที่ให้ข้อยุติได้ โดย "การพ้นจากตําแหน่ง" ของตุลาการ บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 18 ดังนี้
มาตรา 18 นอกจาก "การพ้นจากตําแหน่งตามวาระ" ตุลาการพ้นจากตําแหน่งเมื่อ (1) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 8 หรือมาตรา 9 หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 10 (2) ตาย (3) ลาออก (4) มีอายุครบเจ็ดสิบห้าปี (5) ศาลมีมติให้พ้นจากตําแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เพราะเหตุฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการ
(6) ต้องคําพิพากษาศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือ ใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทาง จริยธรรมอย่างร้ายแรง ประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งลาออกจากตําแหน่งให้พ้นจากตําแหน่งตุลาการด้วย
ในกรณีที่มีปัญหาว่าตุลาการผู้ใดพ้นจากตําแหน่งตาม (1) หรือ (3) หรือไม่ ให้เป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คําวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด ในกรณีที่ไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ตุลาการ เลือกตุลาการคนหนึ่งทําหน้าที่แทนประธานศาลรัฐธรรมนูญ
นายจรัญ เผยว่า มาตรา 18 วรรคสาม "ในกรณีที่มีปัญหาว่าตุลาการผู้ใดพ้นจากตําแหน่งตาม "(1) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 8 หรือมาตรา 9 หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 10 หรือ (3) ลาออก" หรือไม่ ให้เป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คําวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด นั้น ไม่มีที่ให้อำนาจวินิจฉัยเรื่อง "การพ้นจากตำแหน่งตามวาระ" เลย
“ไม่มีทางออก แล้วจะทำอย่างไรองค์กรที่ต้องรับผิดชอบก็คือศาลรัฐธรรมนูญจะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ให้แน่นอนชัดเจนที่สุด แล้วจะรับผิดชอบอย่างไรก็อยู่ที่วิจารณญาณของทั้ง 8 ท่าน ต้องหากฎหมายให้ชัดเจนให้ถูกต้อง ไม่ถูกต้องไม่ได้จะเสียหายแก่ประเทศ เพราะฉะนั้นต้องต้องหาทางออกในสถานการณ์อย่างนี้”