ส่องเกมแยกขั้ว “8 พรรคเล็ก” สายธรรมนัส VS สายทำเนียบฯ
ในกลุ่มพรรคเล็ก 1 เสียง ที่เหลืออยู่ 8 พรรค จะแบ่งเป็น 2 ขั้วคือ สาย ร.อ.ธรรมนัส และสายทำเนียบรัฐบาล แต่ พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค กลับยืนยันจะร่วมหัวจมท้ายกับขั้วนายพล 3 ป. โดยบอกว่า พวกเขาพูดคุยกับ พล.อ.ประวิตรแล้ว ทุกคนยืนยันจะสนับสนุนรัฐบาลไปจนถึงการยุบสภา
ความชุลมุนวุ่นวายในการชิงเสียงพรรคเล็กพรรคจิ๋วในขั้วรัฐบาลด้วยกันเอง ส่อเค้าจะไม่จบลงง่ายๆ เพราะเสียงรัฐบาลยังเป็นเรื่องอ่อนไหวในศึกซักฟอกที่จะมาถึงในอีก 1-2 เดือนหน้า
หัวหน้ากลุ่ม 16 พ.ศ.นี้ "พิเชษฐ สถิรชวาล" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย ให้ข่าวเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ว่า หลังจากพรรคเล็กร่วมรับประทานอาหารค่ำกับนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 17 มี.ค.2565 ถัดมาอีก 1 สัปดาห์ กลุ่ม 16 และพรรคเล็ก จะนัดรับประทานอาหารกันเองอีกครั้งที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์
"สุรทิน พิจารณ์" หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ แกนนำหลักของกลุ่ม 16 ได้แสดงเจตจำนงชัดเจนจะไม่เข้าร่วมวงดินเนอร์กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
เนื่องจากผู้ประสานฝ่ายทำเนียบรัฐบาล ไม่ได้เชื้อเชิญสุรทิน มาแต่แรก แม้ พล.อ.ประวิตร จะเกลี้ยกล่อมให้สุรทินไปร่วมดินเนอร์เคลียร์ใจด้วย แต่หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ก็ขอแค่ฝากข้อเสนอไปถึงนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
"คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล" หัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย ก็อยู่ใน กลุ่ม 16 บอกว่า ตอนนี้กลุ่ม 16 มี ส.ส.อยู่ 30 คน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ จาก ส.ส.พรรคเล็ก 3 คน พรรคขนาด 2-5 เสียง 10 คน รวมกับ 16 เสียงของพรรคเศรษฐกิจไทย
แกนนำกลุ่ม 16 ประกาศชัดว่า “กลุ่มเราไม่เกี่ยวกับพรรคประชาภิวัฒน์ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคพลังท้องถิ่นไท”
ทำไมกล้าบอยคอต “สุรทิน” ไม่ใช่ละอ่อนการเมือง เขาเคยสร้างปรากฏการณ์ได้ ส.ส. 1 ที่นั่งจากการเลือกตั้งปี 2554 ทั้งที่เป็นกติกาบัตร 2 ใบ ส.ส. 400 เขต
ปี 2562 สุรทิน พิจารณ์ นำพรรคประชาธิปไตยใหม่ สู้ศึกเลือกตั้งและได้คะแนนปัดเศษ มี ส.ส. 1 คน โดยตัวเขาได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยเข้าสภาฯรอบนี้ สุรทินกลายเป็นคนสนิทของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
ช่วงกลางปี 2563 จุ๊บจิ๊บ “ธนพร ศรีวิราช” อดีตนางสาวไทย 2559 ภรรยา ร.อ.ธรรมนัส เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปไตยใหม่ หลังจากนั้น จุ๊บจิ๊บก็ลาออกไปรับตำแหน่งข้าราชการการเมือง ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อปลายปี 2563
ปลายปีที่แล้ว สุรทินออกข่าวจะปรับโครงสร้างพรรคใหม่ โดยจะเชิญ จุ๊บจิ๊บ ธนพร มาดำรงตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปไตยใหม่ แต่เจอ ร.อ.ธรรมนัสเบรกทันควัน
คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติไทย ชาวอำนาจเจริญ ในช่วงหาเสียงได้เสนอชื่อ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อุยธยา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่ภายหลัง คฑาเทพมาอยู่ในกลุ่มธรรมนัส
พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม ฉายา เอ๋ พระบาท ก็สนิทสนมกับ ร.อ.ธรรมนัส โดยเตรียมตัวจะลงสมัคร ส.ส.สระบุรี สมัยหน้าในนามพรรคเศรษฐกิจไทย
ส่วน พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชานิยม ที่ยุบพรรคไปเมื่อปี 2563 เข้าสังกัดพลังประชารัฐ ก่อนจะถูกขับออกมาอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย
ทำนองเดียวกัน “พิเชษฐ สถิรชวาล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย ได้ยุบพรรคและเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ แต่มีแนวโน้มว่า หลังยุบสภาฯ อาจไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย
คู่ปรับของ “สุรทิน” ในกลุ่มพรรคเล็ก 1 เสียง ก็หนีไม่พ้น นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ซึ่งพักหลังฝ่าย เสธ.ทำเนียบ ใช้บริการประสานพรรคเล็กบ่อยครั้ง
“ปรีดา บุญเพลิง” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน อดีตผู้นำครูประชาบาล ที่มีฐานเสียงเดียวกับสุรทิน พิจารณ์ พรรคประชาธิปไตยใหม่ แต่ปรีดากลับมีความใกล้ชิดชัชวาลล์ คงอุดม หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท
“ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลเมืองไทย ลูกสาวเสี่ยติ่ง สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ อดีต ส.ส.หลายสมัย ก็เป็นพรรคเล็กที่ยืนข้าง พล.อ.ประยุทธ์ มาแต่แรก
“นันทนา สงฆ์ประชา” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นน้องสาวของมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท พรรคพลังประชารัฐ สังกัดกลุ่มสามมิตร
“บุญญาพร นาตะธนภัทร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังชาติไทย ขอสืบทอดอุดมการณ์ของสามี พล.ต.ทรงกลด ทิพยรัตน์ อดีตนายทหารคนแรกๆ ที่ประกาศตั้งพรรคหนุนบิ๊กตู่เป็นนายกรัฐมนตรี
5 พรรคเล็กดังกล่าวข้างต้น จะมี “ชัชวาลล์ คงอุดม” หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท เป็นแกนกลางในการประสานงาน และไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มพรรคเล็กสายธรรมนัส
แม้ในกลุ่มพรรคเล็ก 1 เสียง ที่เหลืออยู่ 8 พรรค จะแบ่งเป็น 2 ขั้วคือ สาย ร.อ.ธรรมนัส และสายทำเนียบรัฐบาล แต่ พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม กลับยืนยันจะร่วมหัวจมท้ายกับขั้วนายพล 3 ป. โดยบอกว่า พวกเขาพูดคุยกับ พล.อ.ประวิตรแล้ว ทุกคนยืนยันจะสนับสนุนรัฐบาลไปจนถึงการยุบสภา