“ยุบสภา” ถึง “เดดล็อกการเมือง" “3 ป.”ล็อกโรดแมปเลือกตั้ง
ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองตอนนี้ จะถูกเขย่า ด้วยข่าว "ยุบสภา" หรือ "คว่ำร่างพ.ร.ป." แต่ปลายทาง ท้ายสุด คือ เข้าทางโรดแมปการเลือกตั้ง ที่3ป. วางหมากเอาไว้
แม้ “น้องตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่ยืนยันกับคำพูดของ "พี่ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถึงวันยุบสภา หลังเสร็จสิ้นการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค 2565 ช่วง 14-19 พฤศจิกายน 2565 ตามที่ “พล.อ.ประวิตร” บอกไว้กับกลุ่ม ส.ส.พรรคเล็ก ในวงเคลียร์ใจที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ เมื่อ 14 มีนาคม
ทว่า คำประกาศ ของ “พล.อ.ประวิตร” สร้างความเชื่อมั่นว่า นี่คือทางที่นำไปสู่ “การเลือกตั้งทั่วไป” อย่างแท้จริง และให้ความเชื่อถือว่า คือโอกาสเกิดขึ้นจริงมากกว่ารอให้มี “อุบัติเหตุการเมือง” ที่พ่วงกับ วาระดำรงตำแหน่งของนายกฯ ครบ 8 ปีในเดือนสิงหาคม 2564 หรือรอให้รัฐบาลครบวาระ 4 ปีในเดือนมีนาคม 2566
โดย “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ออกตัวว่า เชื่อคำพูดของ พล.อ.ประวิตร และมองว่าเป็นไปได้สูง เพราะจับสังเกต “พี่ใหญ่ 3 ป.” ไม่เคยพูดถึงทิศทางการเมือง แต่ครั้งนี้กลับระบุชัดเจนถึงห้วงเวลา คือจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปต้นปี 2566 เป็นของขวัญปีใหม่
การแจ้งปฏิทินการเมืองของ “กลุ่ม 3 ป.” ล่วงหน้า 8-9 เดือน มีการวิเคราะห์ในทิศทางว่า “อาจเป็นไปได้” และ “อาจเป็นไปไม่ได้” ในเปอร์เซ็นต์ที่เกือบจะเท่ากัน โดยปัจจัยที่นำไปสู่ทิศทางใดทิศทางหนึ่งนั้น ขึ้นอยู่กับ “สถานการณ์การเมือง” และ “เสถียรภาพของรัฐบาล”
คนที่ออกมามองเรื่องนี้ อย่าง “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า การประกาศช่วงยุบสภาแทบไม่มีความหมาย เพราะหากยุบสภาปลายปี 65 เพื่อเลือกตั้งต้นปี 66 หรือจะอยู่ครบวาระเดือนมีนาคม 66 มีช่วงเวลาห่างกันแค่ 4 เดือน แต่เลือกใช้การยุบสภาแทนการอยู่ครบวาระ คือ หวังผลทางกฎหมาย
โดยเฉพาะแทคติกทางกฎหมาย ที่ “อ.สมชัย” มองว่า คือการสร้างโอกาสให้ ส.ส.ย้ายพรรคง่ายขึ้น เพราะการนับสมาชิกภาพของ ส.ส. ที่จะลงเลือกตั้งในนามพรรคใดได้ ต้องเข้าสังกัด 30 วัน กรณียุบสภา แต่หากอยู่จนครบวาระ ส.ส.ต้องเป็นสมาชิกของพรรคใหม่ เกิน 90 วัน ถึงจะมีสิทธิลงเลือกตั้งได้
นอกจากนั้น การยุบสภา อดีต กกต.ยังมองว่า นอกจากเป็นการตัดสินใจของ “พล.อ.ประยุทธ์” แล้ว ปัจจัยชี้ขาดสำคัญคือ ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินภายใต้สภาฯ ชุดปัจจุบัน ฝั่งรัฐบาลควบคุมเสียง ส.ส.ในสภาฯ ไม่ได้
พร้อมตั้งข้อสังเกตกับงานเลี้ยงพรรคเล็กเพื่อใช้เคลียร์ใจ ประสานพลังพรรคขนาดเล็กให้รักษาคะแนน และรักษาเสถียรภาพให้กับรัฐบาล โดยผูกโยงเข้ากับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากรัฐบาลของ “3 ป.” ประสานพลัง ผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ การลากเก้าอี้ให้อยู่จนครบวาระคงไม่ใช่เรื่องยาก
ขณะที่เงื่อนไขของวาระ 8 ปีในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์” ถ้าต้องพ้นจริง เชื่อว่ายังมี “นอมินี” ขึ้นมาทำหน้าที่ได้จนครบเทอม ด้วยปัจจัย "ส.ว. 250 คน” ที่มีสิทธิร่วมเลือกผู้นำประเทศ
ดังนั้นทางที่จะตัดตอนอำนาจของตนเอง เพื่อเลือกตั้งใหม่ จึงอาจเป็นตัวเลือกสุดท้าย หากใช้กลไกที่วางหมากไว้แล้ว ไม่ได้ผล
กับประเด็น “คว่ำกฎหมายลูก” ที่กรรมาธิการฯ ของรัฐสภาอยู่ระหว่างพิจารณา เพื่อให้ใช้เป็นกติกาเลือกตั้ง ล่าสุด มีคำตอบทั้งจากตัวแทนรัฐบาล และฝ่ายค้าน ที่ยืนยันว่าไร้เหตุไร้ผล เพราะแม้จะคว่ำได้ แต่ “เดดล็อก” การเมืองไม่เกิด เพราะตามรัฐธรรมนูญมีทางออก
เรื่องนี้ “ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก” อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มองว่า โอกาสคว่ำกฎหมายลูกเพื่อให้เกิดเดดล็อกทางการเมือง มีความเป็นไปได้ใน “ระดับต่ำ” แม้ ส.ว. และ ส.ส.ให้ความเห็นชอบในวาระสาม "ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ หรือได้เสียงไม่ถึง 365 เสียงจาก 725 คน เส้นทางต่อไปคือ เสนอร่างกฎหมายลูกฉบับใหม่ให้รัฐสภาพิจารณาอีกครั้งตามขั้นตอน
"แม้มีกรณียุบสภา เกิดขึ้นก่อนที่ร่างกฎหมายลูกทำแล้วเสร็จ สิ่งที่เป็นทางออกคือ ใช้มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 วรรคสอง ที่กำหนดว่า หากไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญใช้บังคับแก่กรณีใด ให้ใช้ประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งอาจยกกฎหมายลูกฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้บังคับ อาจเกิดลักษณะผิดฝาผิดตัวได้ และทำให้การเลือกตั้งมีปัญหาได้” ดร.เจษฎ์ ระบุ
ในเกมการเมือง เรื่องชิงอำนาจ แน่นอนว่า “ผู้มีอำนาจ” ปัจจุบัน คือคนกำหนดรูปแบบ เพื่อผลลัพธ์ตามที่ต้องการ แต่ไม่ว่าเกมจะถูกกำหนดไว้ในรูปแบบใด เมื่อสัญญา “ยุบสภา” ลั่นวาจา ขณะที่การตรากฎหมายใช้เลือกตั้งอยู่ในกระบวนการ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกกิจกรรมการเมืองมุ่งตรงสู่ "โรดแมปเลือกตั้ง”อย่างเป็นทางการ และนักเลือกตั้ง พร้อมฉวยจังหวะ และสร้างโอกาสให้เป็นต่อทางการเมืองทุกเวลา.