5 พรรคเปิดศึกชิง "137ส.ส.อีสาน" จับตา “ศึกส้มล้มแดง” - พท.จุดกระแส“แพทองธาร”

5 พรรคเปิดศึกชิง "137ส.ส.อีสาน"  จับตา “ศึกส้มล้มแดง” - พท.จุดกระแส“แพทองธาร”

"สมรภูมิอีสาน" ปัจจัยชี้ขาดจัดตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองสู้กันหนัก เพราะในทางการเมืองพรรคการเมืองใดชนะในพื้นที่อีสาน ถือว่ากำชัยไปกว่าครึ่ง

ในทาง "ยุทธศาสตร์การเมือง" นักเลือกตั้งมองว่า พรรคการเมืองใดชนะในพื้นที่อีสาน พรรคนั้นชนะเลือกตั้ง เพราะอีสานเป็นพื้นที่การเมืองใหญ่สุดของประเทศ และการเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีส.ส. 400 เขต ซึ่งอีสานจะมี ส.ส.เขตมากถึง 137 ที่นั่ง 

หากเทียบกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ปี 2562 มี ส.ส.เขต 350 ที่นั่ง อีสาน มีส.ส. 116 ที่นั่ง และหากย้อนกลับไป ภาคอีสานเคยมี ส.ส.สูงสุด 144  ที่นั่ง และยุคพรรคไทยรักไทย ทักษิณ ชินวัตร เคยกวาดมาได้ถึง 100 ที่นั่ง

ดังนั้น สมรภูมิอีสาน แต่ละพรรคจะแย่งกันหนัก เพราะเป็นปัจจัยชี้ขาด ในการมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล

หากดูผลการเลือกตั้งปี 2562 ในภาคอีสาน 116 ที่นั่ง จะพบว่า เพื่อไทยได้ 84   ภูมิใจไทย 16 ที่นั่ง พลังประชารัฐ 11 ประชาธิปัตย์ 2 อนาคตใหม่ 1 ชาติไทยพัฒนา 1 ชาติพัฒนา 1 

ครั้งหน้าการเพิ่มเขต ถ้าแต่ละพรรคจะขยายให้ได้ที่นั่งเพิ่ม ต้องเหนื่อยหนัก และหากส่องดูในขณะนี้ พื้นที่อีสานจะมีการแข่งกันอยู่ 5 พรรค ได้แก่ 

1.เพื่อไทย เจ้าของพื้นที่หลัก ซึ่งมีจุดแข็งคือ “กระแสทักษิณ” ซึ่งเพื่อไทยตั้งเป้าไว้ถึง 120 ที่นั่ง 

2.ภูมิใจไทย มีจุดแข็ง เรื่องตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต และปัจจัยในการดูแลผู้สมัครที่มากกว่าพรรคอื่น  

3.ก้าวไกล กระแสนิยมในตัว “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ต่อเนื่องจากพรรคอนาคตใหม่ กระทั่งเป็นประธานคณะก้าวหน้า และการลงลึกถึงชาวบ้าน ทั้งสองขา พรรคและกลุ่ม ทำให้ก้าวไกลมีโอกาสไม่น้อย

 

4.พลังประชารัฐ นโยบายประชานิยม ที่เน้นกลุ่มรากหญ้า ทำให้หวังสูงถึง 40 ที่นั่ง

แต่ต้องไม่ลืมว่า มีส.ส.ของพรรคถูกตัดสิทธิในอีสานไปหลายคน และบางส่วนแยกไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทยกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และยังมีแนวโน้มไหลไปอยู่พรรคอื่นอีก การจะหวังเติบโตอีก 4 เท่า ในภาคอีสานของพลังประชารัฐ อาจเป็นไปได้ยาก  

5.ไทยสร้างไทย พยายามสร้างกระแส คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เพื่อไล่บี้เพื่อไทย แต่ก็ยังห่าง แม้ภาพทางการเมืองที่ออกมา เวลาผู้นำพรรคลงพื้นที่ จะมีคนติดตาม หรือระดมคนไปรับ แต่ในการเลือกตั้งเป็นคนละแบบ

ต้องยอมรับว่า ปัจจัยชัยชนะเลือกตั้งในอีสาน มีทั้งกระแส กระสุน และตัวบุคคล หากพรรคใด พร้อมทั้ง 3 ปัจจัยนี้ ย่อมได้เปรียบ

เพื่อไทย ยังโดดเด่น ด้วยกระแสจากทักษิณ และตระกูลชินวัตร  

ส่วนก้าวไกล ไม่มีกระสุน แต่พยายามสร้างตัวบุคคล  ภูมิใจไทยกระแสอาจไม่มี แต่มีกระสุน และตัวบุคคลเป็นจุดขาย ส่วนพลังประชารัฐ จุดอ่อนคือกระแสไม่มี 

ขณะที่ประชาธิปัตย์ แม้จะมีบุคคล แต่กระแสก็ไม่ฟื้น จนทำให้บุคคลไหลออก ขณะที่ไทยสร้างไทย แม้จะพยายามสร้างกระแส แต่กระสุนก็ยังไม่มี ส่วนตัวบุคคล ยังได้บ้างไม่ได้บ้าง

ฉะนั้น เวลานี้ทุกพรรค ยังมีไม่ครบทั้ง 3 ปัจจัย จึงต้องเร่งสร้าง

หากสำรวจพื้นที่อีสานในตอนนี้ เริ่มมีความเคลื่อนไหวสำคัญ สถานการณ์เริ่มระอุคุกรุ่น คือ “ศึกส้มล้มแดง” 

ว่ากันว่า โทนี่ ทักษิณ เองก็วิตกกับสถานการณ์“ขาลง”ของเพื่อไทย ที่สวนกับ “ขาขึ้น” ของเครือข่าย“สีส้ม” เหตุผลคือ คนในสายแดงถูกกด แต่กระแสมวลชนเริ่มเกิด โดยถูกทดลองในการเลือกตั้งท้องถิ่น แม้ก่อนหน้านี้พลังสีส้มยังไม่เกิด แต่เป็นการสั่งสมฐานเสียงคนรุ่นใหม่ ที่เป็นความหวังในพื้นที่อีสานได้

ปลายปีที่แล้ว เมื่อ 16 ตุลาคม 2564 “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยกทัพไปยัง จ.ขอนแก่น จัดประชุมสามัญพรรค ประจำปี ครั้งที่ 2 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ปักธงรบ เป็นยุทธศาสตร์ภาคอีสาน พร้อมกับระบุว่า เป็นการเปิดประตูสู่ภาคอีสานของพรรคก้าวไกล ที่พร้อมจะก้าวข้ามเป็นพรรคการเมืองใหญ่

ขณะที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ก็มีเป้าหมาย และรุกคืบเลือกตั้งท้องถิ่นใน 20 จังหวัดภาคอีสาน เพื่อปักธงความคิด ขยายฐานการเมืองลงลึก ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น และยังทำมาอย่างต่อเนื่อง 

เมื่อกระแสสีส้มเริ่มขึ้น “ทักษิณ” จึงต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ ดันลูกสาวคนเล็ก อุ๊งอิ๊ง “แพทองธาร ชินวัตร” มาดึงคนรุ่นใหม่ โดยเลือกเปิดเกมที่ จ.อุดรธานี  ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกล ได้วางเป้าหมายในพื้นที่ จ.อุดรฯ ที่มีโอกาสสูง

อุดรธานี ถือเป็นเมืองหลวงของเสื้อแดง ฉะนั้น การดึง “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร” มาเป็นตัวแทน ตระกูลชินวัตร หรือบ้านใหญ่จันทร์ส่องหล้า จึงเป็นการไปตอกหมุดของเพื่อไทย เพราะหากย้อนไปดูคะแนนเลือกตั้งในอุดรฯ ปี 2554 เปรียบเทียบกับปี 2562 คะแนนรายเขตของผู้สมัครเพื่อไทย ลดลงเรื่อยๆ

ดังนั้น การจุดกระแสความเป็น ครอบครัวเดียวกันของเพื่อไทย ด้วยสโลแกน “ครอบครัวเพื่อไทย บ้านหลังใหญ่ หัวใจเดิม” โดยมอบหมายให้ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร เป็น “หัวหน้าครอบครัว” โฟกัสจึงอยู่ที่ตระกูลชินวัตร ที่ลูกสาวคนเล็กขึ้นมาเป็นตัวแทน 

ไม่ต่างกับครั้งที่ เปิดตัว “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของเพื่อไทย กระแสก็ไม่ได้อยู่ที่ตัวยิ่งลักษณ์ แต่อยู่ที่ชินวัตร กระทั่งต่อมาเมื่อจึงมีกระแสของตัวเองเมื่อ เข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ หญิงแล้ว

 การรีแบรนด์พรรค สร้างกระแสด้วย “ครอบครัวเพื่อไทย” เปลี่ยนโปรไฟล์เดียวกัน พร้อมสโลแกน “บ้านหลังใหญ่ หัวใจเดิม” ในรอบ 23 ปี จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เพื่อไทยพยายามจะยึดคืนอีสาน เพื่อกลับสู่อำนาจรัฐบาลให้ได้ 

5 พรรคเปิดศึกชิง \"137ส.ส.อีสาน\"  จับตา “ศึกส้มล้มแดง” - พท.จุดกระแส“แพทองธาร”