“ก้าวไกล” ค้านสุดลิ่ม! จี้รัฐบาลหยุดเดินหน้า “กม.คุม NGO” หวั่นขยายขัดแย้ง
“พรรคก้าวไกล” ค้านสุดตัว! “ณัฐวุฒิ” จี้รัฐบาลฟังเสียงประชาชน หยุดเดินหน้ากฎหมาย “ควบคุม NGO” ชี้มีจุดมุ่งหมายซ่อนเร้น ทำลายความเข้มแข็งของประชาชน ลั่นอย่าดันทุรัง จนกลายเป็นความขัดแย้ง
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2565 นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าต่อกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2565 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์ไม่แสวงหากำไร พ.ศ. .... ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ยกร่าง และมอบให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นเจ้าภาพรับร่างไปเปิดรับฟังความเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ และจะครบกำหนดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 25 มี.ค. ที่จะถึงพร้อมเตรียมเสนอสภาพิจารณาต่อไป ว่า จากที่ได้ติดตามความเห็นจากเวทีภาคประชาสังคมและภาคประชาชนเป็นจำนวนมาก ต่างเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายซ่อนเร้น ทำลายความเข้มแข็งของภาคประชาชน ที่สุดท้ายประชาชนจะกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบ จี้หากฟังความเห็นแล้วประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ก็อย่าดันทุรัง หยุดเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก่อนที่จะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับภาครัฐมากขึ้นไปอีก
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเนื้อหา 28 มาตรา สาระสำคัญคือการกำหนดนิยาม “องค์กรไม่แสวงหากำไร” ที่กว้างครอบคลุมเกือบทุกการรวมกลุ่ม ขยายไปจากประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำกับดูแลการจดทะเบียนมูลนิธิ สมาคมอยู่แล้ว การจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่มี รมต.พม.เป็นประธาน มีการกำหนดให้องค์กรไม่แสวงหากำไร ต้องเปิดเผยข้อมูล ทั้งวัตถุประสงค์การจัดตั้ง วิธีการดำเนินการ แหล่งที่มาของเงินทุน ผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะหากเป็นเงินทุนจากต่างประเทศ ที่จะต้องมีกระบวนการตรวจที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีการกำหนดว่าองค์กรต่างๆ ต้องไม่มีลักษณะที่ดำเนินกิจการส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือก่อให้เกิดความแตกแยกของสังคม อย่างไรก็ตามเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านการยกร่างของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานี้ มีความแตกต่างไปจาก ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ… ที่กระทรวง พม. เคยยกร่างก่อนหน้านี้
”มีองค์กรระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เป็นจำนวนมากประสานมายังพรรคก้าวไกลว่าไม่เห็นด้วยกับร่าง กม. ดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อหาสาระขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติกา และอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ อีกทั้งจะส่งผลต่อการสนับสนุนที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ที่ทำงานตอบสนองต่อประชาชนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ แรงงาน การเกษตร การอาชีพ การพัฒนาประชาธิปไตย ที่กระจายอยู่ทุกพื้นที่ ที่ภาครัฐเองไม่อาจดูแลได้อย่างทั่วถึง พวกเขาล้วนกล่าวว่า แทนที่หากจะมีการออก กม.เชิง “ส่งเสริม” กับกลายเป็น กม. “ควบคุม” และท้ายที่สุดคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประชาชน ซึ่งไม่อาจคิดเป็นอื่นได้ นอกเสียจากวาระซ่อนเร้นทางการเมือง ที่ก่อนหน้านี้ได้ท้วงติงการบริหารของรัฐบาลที่ไปละเมิดสิทธิและส่งผลกระทบต่อประชาชน” นายณัฐวุฒิกล่าว
รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า ทั้งนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ… ผ่านช่องทางต่างๆ ของกระทรวงทั้งระบบออนไลน์ และเวทีรับฟังความเห็นผ่านสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในทุกจังหวัด โดยสำหรับประชาชนนั้นสามารถส่งความเห็นต่อร่าง กม.ดังกล่าวได้ที่เมล์ [email protected] จนถึงวันที่ 25 มี.ค. ควบคู่ไปกับเวทีของภาคประชาสังคมที่มีกำหนดจะจัดการชุมนุมคัดค้าน กม.ฉบับนี้ในวันที่ 24 มี.ค. หน้ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดทั้งวัน
“ข้อดีอย่างเดียวของการยกร่าง กม.ฉบับนี้ คือการทำให้ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนถึง 1,800 กว่าองค์กร เป็นหนึ่งเดียวกันในการออกมาลงชื่อร่วมกันคัดค้าน และเชื่อว่ามีอีกมากกว่าจำนวนนั้น สำหรับพรรคก้าวไกลนั้นมีจุดยืนเคียงข้างกับภาคประชาสังคมและภาคประชาชนคือไม่เห็นด้วยกับการยกร่าง กม. ฉบับนี้ และเชื่อว่าหาก รบ. ตั้งใจจะตรวจสอบแบบไม่มีวาระซ่อนเร้น ก็สามารถใช้กลไกทาง กม.และการบริหารที่มีอยู่ดำเนินการได้อยู่แล้ว รบ. ที่ดีจะต้องฟังเสียงประชาชน หากเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับร่าง กม.นี้ ก็อย่าดันทุรังเดินหน้าส่งสภาฯ แต่หากจะเดินหน้าส่ง ตนเชื่อว่า ส.ส.ที่มาจากประชาชนย่อมทราบว่าประชาชนต้องการสิ่งใด เมื่อนั้นตัวแทนประชาชนจะพิพากษาซ้ำให้ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมประชาชนฉบับนี้ตกไป และ รบ.จะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้กระทำมาทั้งหมด” นายณัฐวุฒิ กล่าว