"ชวน" แนะ ใช้หลักธรรมาภิบาล-คุณธรรม แก้ปัญหา "ปชช." ไม่เชื่อมั่นงานยุติธรรม

"ชวน" แนะ ใช้หลักธรรมาภิบาล-คุณธรรม แก้ปัญหา "ปชช." ไม่เชื่อมั่นงานยุติธรรม

"ประธานสภาฯ" บรรยายปัญหากระบวนการยุติธรรม สะท้อน7ประเด็น แนะให้ใช้หลักธรรมาภิบาล คู่หลักคุณธรรมแก้ปัญหา พร้อมเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม

         นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวบรรยายในหัวข้อ สภาพปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทยกับมุมมองของนักการเมืองต่อกระบวนการยุติธรรมไทย ให้กับ ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ 26 จัดโดยสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่งระบุ ว่า ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทย คือ การขาดความเชื่อมั่นจากประชาชน ซึ่งมีปัจจัยต้นเหตุ อาทิ กฎหมายล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลง , การใช้อำนาจออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้คนเฉพาะกลุ่ม , การทุจริตคอร์รัปชันที่เพิ่มมากขึ้น

 

           "ความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับคนส่วนใหญ่ในสังคม เพราะประชาชนไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างรวดเร็ว เป็นธรรมและทั่วถึง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นการผลักดันให้เกิดการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น การนำหลักธรรมาภิบาล และยึดหลักคุณธรรม จะช่วยแก้ปัญหา รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน นอกจากนั้นต้องมีกลไกในการควบคุมติดตามและตรวจสอบ โดยมีประชาชนหรือองค์กรภายนอกเข้ามามีส่วนร่วม" นายชวน กล่าว

         นายชวน กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้นต้องปรับวิธีคิด โดยให้ทุกฝ่ายบูรณาการการทำงานร่วมกัน และนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้เพื่อให้งานบรรลุผลสำเร็จ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาสังคมในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น ส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารตามสิทธิที่มีอยู่ และผู้ที่มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนการรณรงค์ให้ประชาชนรู้สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย และตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการยุติธรรมในฐานะเป็นกลไกหลักในการผดุงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมอย่างจริงจัง

         นายชวน กล่าวด้วยว่า สำหรับสภาพปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่สามารถจำแนกได้มี 7 ประการ  คือ 

         1. ปัญหาเกี่ยวกับระบบการบริหารงานยุติธรรม 

         2. ปัญหาเกี่ยวกับระบบการดำเนินคดีอาญา 

         3. ปัญหาเกี่ยวกับระบบการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิด 

         4. ปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติโดยไม่ชอบธรรมจากบุคคลในกระบวนการยุติธรรม

         5. กระบวนการยุติธรรมขาดการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากประชาชน 

         6. กระบวนการยุติธรรมขาดองค์ความรู้และศักยภาพในการพัฒนา  

         และ 7. บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมขาดจิตสำนึกและขาดทัศนคติที่ดีในการให้บริการความยุติธรรมแก่ประชาชน