"สกลธี" มั่นใจ ชิง "ผู้ว่าฯกทม." 4ปีทำได้จริง อ้าแขนรับ ว่าที่ ส.ก. 2พรรคหนุน
"สกลธี" ลงพื้นที่ "ทุ่งครุ" เล็งแก้ปัญหาการเดินเรือ ปรับระบบประตูระบายน้ำให้ทันสมัย มั่นใจ นโยบายทำได้จริงใน4ปี ชู จุดเด่นรู้พื้นที่ จ่อเปิดตัวทีมงานมันสมอง ยัน คดีความไม่เป็นอุปสรรค ลงชิง "ผู้ว่าฯกทม." รับ ฐานเสียง ทับซ้อน "อัศวิน" เชื่อ กระแสสำคัญกว่าคะแนนจัดตั้ง
นายสกลธี ภัททิยกุล ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่รับฟังปัญหาสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ดูระบบบริหารจัดการน้ำ และการท่องเที่ยวริมคลอง โดยลงเรือที่ชุมชนกัมปงในดงปรือ คลองรางราชพฤกษ์น้อย เขตทุ่งครุ ซึ่งพบว่ามีปัญหาในเรื่องของการเดินเรือในชุมชน
ขณะเดียวกันคนในชุมชนเสนอการแก้ปัญหาจราจรโดยให้ใช้บริการทางเรือจะสะดวกรวดเร็วที่สุด เนื่องจากระบบขนส่งรถไฟฟ้ายังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
นายสกลธี กล่าวว่า ตรงจุดนี้มีปัญหาเรื่องคลองที่มีหลายสาขา การทิ้งขยะลงคลอง และมีน้ำทะเลหนุน การแก้ปัญหาต้องดูเรื่องประตูระบายน้ำ และปรับระบบให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้นสอดคล้องกับนโยบายหลักของตนคือ ล้อ ราง เรือ โดยจะทำคลองเชื่อมกับสถานีวุฒากาศรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีแดง เพื่อนำระบบเรือเดินไฟฟ้าของ กทม. มาปรับใช้จะช่วยแก้ปัญหาจราจรได้ เนื่องจากแถวนี้มีหมู่บ้านจัดสรรเพิ่มขึ้น ระยะทางหลักจากคลองบางมดไปสถานีรถไฟฟ้าประมาณ 9 กิโลเมตร หากนำเรือโดยสารมาช่วยก็จะลดระยะเวลาการเดินทาง เนื่องจากเคยทดสอบแล้วว่าการเดินทางด้วยเรือสะดวกรวดเร็ว จึงเป็นทางเลือกให้กับประชาชน
นายสกลธี กล่าวว่า นโยบายหาเสียงของตนเป็นสิ่งที่ทำได้จริงใน 4 ปี เนื่องจาก มีประสบการณ์จากการดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. มาก่อน ทำให้รู้ข้อจำกัด โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ จึงต้องมาวางแผนว่าโครงการไหนจะทำให้จบได้ภายใน 4 ปี ส่วนปัญหาที่จะเเก้ไขโดยเร่งด่วนคือการบริหารงบประมาณ ซึ่งผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ต้องจัดสรรงบให้เกิดความเหมาะสมโดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จำเป็นจะต้องนำมาบริหารว่าสิ่งไหนสำคัญก่อนหลังโดยเฉพาะงบประมาณในแต่ละเขตที่ยังลงน้อยเกินไป ที่สำคัญการบริหารงบต้องให้ความสำคัญกับความต้องการของประชาชน โดยพบว่ามีประชาชน 50 ครัวเรือนที่ยังไม่มีน้ำประปาใช้ ซี่งทางเขตทุ่งครุแจ้งว่าไม่มีงบประมาณดำเนินการ ดังนั้น ต้องมีการกระจายงบไปยังเขตต่างๆ ทั้งนี้ หลังจากนี้จะมีการเปิดนโยบายรอง เสริมจากนโยบายหลัก หลังการลงสมัครผู้ว่าฯ และได้เบอร์เป็นที่เรียบร้อย ก็จะเปิดตัวทีมทำงานที่ช่วยคิดนโยบาย โดยจุดเด่นที่คิดว่ามีมากกว่าผู้สมัครคนอื่นคือ การได้สัมผัสงานในพื้นที่ กทม. และได้ทำงานเต็มที่จนเป็นที่น่าพอใจแต่มีบางอย่างที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำ จึงนำสิ่งที่ได้พูดคุยกับประชาชนเก็บสะสมมาเป็นนโยบาย
นายสกลธี กล่าวว่า คุณสมบัติของตนครบถ้วน ก่อนถึงวันรับสมัคร เนื่องจากดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. มาก่อนแล้ว ส่วนคดีความที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้จะไม่ส่งผลกระทบ เนื่องจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษายกฟ้องแล้ว ส่วนในชั้นศาลฎีกา ขึ้นอยู่กับอัยการสูงสุด แต่ยืนยันว่าไม่เป็นอุปสรรคแน่นอน
นายสกลธี กล่าวว่า สำหรับแผนในช่วงหาเสียงนั้น มีความแตกต่างจากการหาเสียง ส.ส. ที่ต้องเคาะประตูตามบ้าน แต่จะเป็นการดูในภาพรวม โดยจะผสมผสานระหว่างการลงพื้นที่และการรับฟังปัญหาแบบจับเข่าคุย ทั้งนี้ ยอมรับว่าฐานเสียงของตนอาจทับซ้อนกับฐานเสียงของพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. บ้าง แต่คิดว่าคน กทม. จะเลือกผู้สมัครที่ดีที่สุด และมีกระเเสที่ดี ส่วนนโยบายก็มีความคล้ายคลึงกัน อยู่ที่ว่าใครจะนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างไรแต่ส่วนตัวคิดว่าใครที่มีฐานแฟนคลับจะเปลี่ยนกันยากอยู่แล้ว แต่จุดที่จะเปลี่ยนคือคนที่ได้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก หรือ first voter ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่เกือบ 1 ล้านคน ที่อาจจะยังไม่มีคนในใจ และกลุ่มนี้จะเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่ง
ส่วนการที่ไม่มี ส.ก. ในสังกัด นั้น มองว่า การเลือกตั้งใน กทม. ชนะกันที่หลักแสน กระแสจึงมีความสำคัญมากกว่าการจัดตั้ง แต่จะสู้ในภาพใหญ่ไม่ได้ ขณะเดียวกันไม่ได้ปิดโอกาสหากส.ก. ในนามกลุ่มพรรคการเมืองจะให้การสนับสนุน เพราะเคยทำงานร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐ พร้อมยินดีทำงานร่วมกับ ส.ก.ทุกพรรค จึงตัดสินใจลงในนามอิสระ
จากนั้น นายสกลธี ไปปั่นจักรยานสำรวจแนวป่าโกงกาง และการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน โดยนายสกลธี ระบุว่า ถ้าไม่ทำแนวกั้น จะถูกกัดเซาะชายฝั่งเข้ามาเรื่อยๆ ปีละประมาณ 10 เมตร ตอนนี้กัดเซาะเข้าไป 5 กิโลเมตรแล้ว จึงต้องทยอยปลูกต้นโกงกางเรื่อยๆโดยต้นอ่อนปักลงในฐานเพื่อให้มีที่ยึดเกาะอยู่ได้จนโต ขณะเดียวกันนำไม้ไผ่มากั้นการกัดเซาะเป็นการแก้ปัญหาระบบผังเมือง ทั้งยังอนุรักษ์เชิงท่องเที่ยวได้ โดยมีทั้ง กทม. ภาครัฐ และเอกชน ร่วมกันปลูกต้นโกงกาง