เปิดปม ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหา "บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม" สางคดีก่อนเลือกตั้งใหญ่
ที่น่าสนใจคือ การไล่ “ปิดจ็อบ” คดีกล่าวหา “บิ๊กเนมรัฐบาล” เกิดขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายของ “รัฐนาวาประยุทธ์” ที่ใกล้จะมีการเลือกตั้งใหญ่เต็มที จนถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการ “ถอนชนักติดหลัง” เพื่อให้สามารถไปต่อได้ หรือ “ลงจากหลังเสือ” ง่ายขึ้นหรือไม่
จังหวะการเมืองกำลังอยู่ในช่วงโหมโรงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) พร้อมกับนายกเมืองพัทยา และสมาชิกสภาเมืองพัทยา (สม.) หลายพรรคเล็ก-ใหญ่เร่งลงพื้นที่ช่วงชิงคะแนนเสียงกัน
อีกจังหวะของฝ่ายค้าน อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานข้อร้องเรียนต่าง ๆ เพื่อยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ช่วงเดือน พ.ค. 2565 หวังขยี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้พ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ให้ได้
แม้ว่าเงื่อนปมวาระร้อน “เก้าอี้นายกฯ 8 ปี” ที่ฝ่ายค้านประโคมข่าวมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 จะเป็น “จุดตาย” สำคัญของ “พล.อ.ประยุทธ์” ก็ตาม แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ถูกขุดคุ้ยมากล่าวหา เช่น กรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนด้วยวิธีรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งถูกแฉว่า ยังไม่มีเครื่องยนต์มาใส่ เพราะรัฐบาลเยอรมันไม่ขายเครื่องยนต์ให้จีนนำไปประกอบ
รวมถึงไปกรณีการบริหารจัดการงบประมาณช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด อาจส่อไปในทางใช้ “ได้ไม่คุ้มเสีย” บริหารงานผิดพลาด ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนตกงานกันระนาว บริษัทห้างร้านปิดตัวกันหมด ที่เป็นอีกหมัดเด็ดของฝ่ายค้านเตรียมรุกฆาตรัฐบาลชุดนี้
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค. 2557 จนถึงปัจจุบันเกือบ 8 ปี มีหลายข้อร้องเรียนยื่นไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะ “องค์กรหลัก” ในการตรวจสอบเรื่องทุจริต กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ และคนใกล้ชิดหลายคน
ล่าสุด หลายข้อร้องเรียน กล่าวหาเหล่านั้น อาจ “แท้ง” ถูกตีตกทั้งหมดหรือไม่
เพราะนับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ว่ากันว่า “บิ๊ก” ในสำนักงาน ป.ป.ช. พยายามชงเรื่อง เร่งรัดคดีกล่าวหา “พล.อ.ประยุทธ์-คนใกล้ชิด” ที่คาราคาซังอยู่ในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริง และชั้นตรวจสอบข้อเท็จจริงชั้นต้นให้หมด เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า หลายปีที่ผ่านมา ลุยตรวจสอบแต่คดี “ฝั่งตรงข้าม”
ปัจจุบันขั้นตอนดำเนินการทางคดี ก่อนจะนำเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ลงมติอย่างหนึ่งอย่างใด จะต้องผ่านด่านคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาเสียก่อน โดยหลายคดีที่มีการกล่าวหา “บิ๊กเนมรัฐบาล” ส่วนใหญ่อยู่ในชั้นนี้แทบทั้งสิ้น
เรื่องร้องเรียนกล่าวหาบุคคลในรัฐบาล คสช.จนถึงรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” มีคดีสำคัญ ๆ ไล่เรียงมาให้เห็นภาพ ดังนี้
1.กรณี “แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน” กล่าวหา “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตีตกข้อกล่าวหาทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ และไม่เข้าข่ายการรับทรัพย์สินเกิน 3 พันบาทอีกด้วย เพราะเป็นการ “ยืมแบบคงรูป” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เช่นเดียวกับกรณีการรับของขวัญวันเกิดจาก “คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล" ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังไทยรักไทย ที่ให้ “อัญมณี” แก่ “พล.อ.ประวิตร” ทว่าจากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ พบว่า การกระทำนี้ไม่เข้าข่ายรับทรัพย์สินเกิน 3,000 บาทแต่อย่างใด เนื่องจากอัญมณีก้อนดังกล่าวมีมูลค่าเพียง 1,500 บาท
2.กรณี “หุ้น” ที่มีการกล่าวหา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย ในการแจ้งบัญชีทรัพย์สินกรณีเข้ารับตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ ว่า ไม่มีการแจ้งถือครองหุ้นบางบริษัท นอกจากนี้ ยังไม่แจ้งประธาน ป.ป.ช. กรณี “ภรรยา” ถือครองหุ้นเกิน 5% ใน 3 บริษัท ก่อนจะมีการถ่ายเทหุ้นออกไปให้เหลือต่ำกว่า 5% ในภายหลัง ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการ “ตรวจสอบเชิงลึก” จาก ป.ป.ช.
3.กรณีกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีหลายข้อกล่าวหามาก ยกตัวอย่างบางคดีที่ถูกคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ มีความเห็นควรไม่รับเรื่องไต่สวน เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ หรือบางเรื่องฟังไม่ได้ว่าทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา เช่น
-กรณีถูกกล่าวหาว่า สนับสนุนให้ประชาชนใช้แอปพลิเคชั่น “Grab Taxi” ทั้งที่ไม่มีใบขับขี่รถสาธารณะ และไม่ได้เป็นผู้รับจ้างสาธารณะดำเนินการขนส่ง ส่อเอื้อประโยชน์ให้ Grab Taxi
-กรณีใช้กำลังสลายการชุมนุมช่วงภายหลังการรัฐประหาร และบริหารจัดการแผ่นดินส่อไปในทางมิชอบ
-กรณีออกประกาศ คสช.หลายฉบับ เรียกบุคคลมารายงานตัว
4.กรณีกล่าวหานายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม 2 กรณี แบ่งเป็น
-กรณีถูกกล่าวหาว่ารับสินบนในการจัดซื้อเครื่องยนต์โรลซ์รอยซ์ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ดีเจ้าตัวมิได้ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด เป็นเพียงหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาลอตแรกเท่านั้น
-กรณีถูกกล่าวหาร่วมกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวก ในการจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้งของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้สถานะทางการเงินของ “การบินไทย” ขาดทุนมาถึงปัจจุบัน โดยเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการไต่สวน
ทั้งหมดคือข้อมูลทางคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. จะเห็นได้ว่าคดีกล่าวหา พี่น้อง 2 ป. “พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร” ล้วนถูก “เคลียร์” ไปหมดแล้วทั้งสิ้น ในชั้นคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ แม้ว่าเรื่องเหล่านี้จะต้องรอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาในชั้นสุดท้ายก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ที่ประชุมมักเห็นตามที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ เสนอ
คงเหลือแต่กรณีกล่าวหา “ผู้กองธรรมนัส” และ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” เท่านั้น ที่ยังค้างอยู่ในชั้นการไต่สวนของ ป.ป.ช.
ที่น่าสนใจคือ การไล่ “ปิดจ็อบ” คดีกล่าวหา “บิ๊กเนมรัฐบาล” เกิดขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายของ “รัฐนาวาประยุทธ์” ที่ใกล้จะมีการเลือกตั้งใหญ่เต็มที จนถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการ “ถอนชนักติดหลัง” เพื่อให้สามารถไปต่อได้ หรือ “ลงจากหลังเสือ” ง่ายขึ้นหรือไม่
ขณะที่คดีของ “ร.อ.ธรรมนัส” ที่ปัจจุบันกลายเป็น “ศัตรูทางการเมือง” ของ “พล.อ.ประยุทธ์” กลับยังถูก “ตรวจสอบเชิงลึก” อยู่
เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า จะมีคดีอะไรของนายกฯ ประยุทธ์ อีกบ้างที่ถูก “ตีตก” ในช่วงเวลาถัดจากนี้ไป จนถึงก่อนเลือกตั้งใหญ่