เครือข่ายสตรี เปิดเวทีประชันนโยบายด้านสังคม 6ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.
6ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ขึ้นเวทีประชันนโยบายด้านสังคม ชูพัฒนาเด็ก-พัฒนาเมือง-หนุนกองทุนสตรี พร้อมสร้างกทม.เป็นเมืองสวัสดิการถ้วนหน้า
สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ และเครือข่ายสตรีและเด็ก จัดเวทีประชันนโยบายของผู้สมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หัวข้อ เสนอมา - แถลงไป นโยบายสังคมของผู้ว่าฯกทม. เสียงผู้หญิง 2.3ล้าน ชี้ขาดใคร โดยมี 7 ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม. ร่วมเวที
โดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. พรรคก้าวไกล หมายเลข1 กล่าวว่า ต้องสร้างเมืองให้เป็นรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่การสงเคราะห์ เพื่อไม่ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใดลดสวัสดิการ และกดดันให้รัฐบาล ทำสวัสดิการ 3,000 บาท ให้กับคนทุกจังหวัด ซึ่งตนมองว่าต้องเริ่มที่กทม. เพื่อไปต่อในทั่วประเทศ นอกจากนั้นตนมองว่าการแก้ปัญหาในคน หรือชุมชนของกทม. ต้องกระจายงบประมาณลงสู่เขต เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนต่อการตัดสินใจแก้ปัญหาในพื้นที่ของตนเอง
“การบริหารกทม. 7-8 ปี ที่ผ่านมา มีคนมองว่าตัวเองเป็นเจ้าของกทม. ทั้งที่การดูแลประชาชน ไม่ใช่การทำนโยบาย แต่คือหน้าที่ ทั้งการติดต่อราชการของผู้พิการ ต้องได้รับความสะดวก นอกจากนั้นประเด็นหาบแร่ แผงลอย ที่ผ่านมาพบว่ามีการทำตัวเป็นเจ้านาย และต้องจัดระเบียบ ทั้งที่ผู้ว่าฯกทม. ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและสร้างกติกาประชาชน และผู้ว่าฯกทม.ทำหน้าที่รักษากติกาของประชาชนนั้น ผมเชื่อว่าการสร้างเมืองต้องทำให้คนเท่ากัน” นายวิโรจน์ กล่าว
ด้านน.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. พรรคไทยสร้างไทย หมายเลข ว่า นโยบายด้านสังคม ต้องลงทุนด้านการศึกษา โดยทำให้โรงเรียนกทม.ทัดเทียมโรงเรียนเอกชน ทั้งการศึกษา พัฒนาทักษะ ผ่านการจัดสรรงบประมาณ ขณะที่ผู้พิการ ต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณ 5% ซึ่งแบ่งมาจากงบประมาณที่ทำเพื่อให้ที่ปกติทางร่างกาย ยเพื่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง เพื่ออำนวยความสะดวก ให้คนพิการสามารถแสดงศักยภาพตามอัตลักษณ์ของตนเอง ขณะที่เจ้าหน้าที่เทศกิจ ต้องส่งเสริมให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้ ไม่ใช่ตามจับ
“นโยบายของผม คือสร้างคน สร้างงาน สร้างเมือง หากผมได้เป็นผู้ว่าฯกทม. จะเจอผมจนเบื่อ และเข้าไปดูแลประชาชน คลังสมองของผม คือ คนที่ทำงานเพื่อประชาชน เอ็นจีโอ และช่วยเหลือคนกทม.” น.ต.ศิธา กล่าว
ขณะที่นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข4 กล่าวว่า ตนต้องการเปลี่ยนกทม. ให้เป็นเมืองทันสมัยต้นแบบอาเซียน โดยสิ่งแรกที่ตนจะทำ คือ ทำให้กทม. เป็นเมืองสวัสดิการ เพื่อคนทุกคนมีความพร้อมและยืนอยู่ได้ นอกจากนั้นจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย อินเตอร์เน็ตฟรี เพื่อเชื่อมโยงการให้บริการ และช่วยเหลือ โดยเฉพาะเหตุฉุกเฉินที่ผู้สูงอายุที่อาศัยในบ้านคนเดียวกังวล และตนจะตั้งสภาผู้สูงอายุ เพื่อให้เกิดการรวมตัวคิดและแก้ปัญหาที่ตรงความต้องการ โดยมีงบประมาณให้บริหาร ไม่ผ่านสำนักงานเขต นอกจากนั้นคือการจัดสวัสดิการเท่าเทียม ถ้วนหน้าให้กับ เด็กอายุ 0-6 ปีในกทม. ที่มี 2.6 แสนคน ปัจจุบันพบว่ารัฐบาลอุดหนุนได้เพียง 6หมื่นคน แต่ที่เหลืออีก 2 แสนคนไม่ได้รับสวัสดิการ 600 บาทต่อเดือน
ส่วนน.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัคร ผู้ว่าฯกทม. ในนามอิสระ หมายเลข8 ประกาศจัดสรรสวัสดิการให้กับบำนาญประชาชน 3,000 บาท ซึ่งตนเชื่อว่าสามารถทำได้จริง หากการบริหารกทม.ไม่มีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น โดยเร่ิมจากผู้ชราที่ไม่มีหลักประกันรายได้ ที่กทม.มีจำนวน 5.3 แสนคน ซึ่งจะเพิ่มเงินให้จากเบี้ยที่รัฐบาลจัดสรร สำหรับที่มาของงบประมาณร คือ จากการรีดไขมัน ลดการจ่ายเงินใต้โต๊ะ 9,000 ล้านบาท , การแยกขยะที่คาดว่าจะได้ 10% ต่อปี และดึงจากกรุงเทพธนาคม 4,000 ล้านบาท เพื่อทำเป็นบำนาญให้ประชาชนเกิดขึ้นจริง
“มีแนวคิดว่าจะใช้เงินวิสาหกิจกทม. ตั้งกองทุนช่วยเหลือ เช่น หาบแร่แผงลอย เพื่อให้มีศักยภาพในการทำงาน นอกจากนั้นจะพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ทำให้ดีขึ้นและพัฒนาที่แท้จริง พ่อแม่ วัยทำงาน สามารถฝากลูกได้ จะออกไปทำงาน และคนที่หาเช้ากินค่ำที่พึ่งพิงหนี้นอกระบบต้องช่วยไม่ทำให้เกิดหนี้นอกระบบ ลดความเดือดร้อน ส่วนกองทุนต่างๆ จะส่งเสริมผู้หญิงในกทม.” น.ส.รสนา กล่าว
ขณะที่ นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัคร ผู้ว่าฯกทม. ในนามอิสระ หมายเลข3 กล่าวซึ่งระบุว่าพร้อมสานต่อการทำงานในสมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าฯกทม. ทั้งการพัฒนาเด็ก สตรี อย่างไรก็ดีมีคำถามต่อกองทุนต่างๆ ที่พบว่าไม่สามารถเข้าถึงและสนับสนุนเอกชนได้ ดังนั้นฐานะที่ตนจบกฎหมายทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท พร้อมทำลายข้อจำกัดดังกล่าว
ทางด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัคร ผู้ว่าฯกทม. ในนามอิสระ หมายเลข6 กล่าวย้ำถึงการทำงานที่ผ่านมา และตอบคำถามถึงการแก้ปัญหาเด็ก โดยย้ำถึงการจัดสรรและอุดหนุนงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็ก ส่วนประเด็นการแก้ไขคนงานนอกระบบ ที่ไม่ใช่คนกทม. ต้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งนี้ตนพูดไม่เก่ง แต่ทำงานเยอะ สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. รอบนี้ พบว่ามีคนมีคุณภาพลงสมัคร แต่หากไม่ชอบใครเลย ตนขอเป็นตัวเลือก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเวทีดังกล่าวมีประเด็นข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนสตรี ที่กทม. อุดหนุนงบ 100 ล้านบาท ทั้งนี้ผู้สมัคร ผู้ว่าฯกทม. ให้ความเห็นสนับสนุนและพร้อมจะรับเป็นนโยบายของกทม. นำไปปฏิบัติเมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม. อย่างไรก็ดี นายสุชัชวีร์ คิดต่อยอดว่า กองทุนดังกล่าวควรทำเป็นกองทุนเพื่อความเสมอภาค เพื่อให้ดูแลเด็ก สตรี ผู้สูงอายุที่เท่าเทียม โดยมีงบอุดหนุน 300 ล้านบาท