"ศิธา" เปิดนโยบาย "สภาชุมชน" คืนอำนาจ ปชช. เป็นหุ้นส่วนบริหารจัดการ "กทม."
"ศิธา" แท็กทีม "สุดารัตน์" เสวนา เปิดนโยบายสภาชุมชน ลั่น จะเป็น "ผู้ว่าฯ กทม." ที่กระจายอำนาจจัดการงบฯ ให้คนกรุง ออกระเบียบคืนอำนาจ ให้เป็นหุ้นส่วนบริหารจัดการ วางระบบ D.A.O สื่อสาร ติดตาม ตรวจสอบ ได้โดยตรง
พรรคไทยสร้างไทย โดย น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าราชการกทม.หมายเลข 11 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย พร้อมด้วย ดร.รัตติกาล แก้วเกิดมี ผู้สมัครส.ก.เขตสายไหม หมายเลข 4 และนายวิกรม ธรรมวัฒนะ ผู้สมัครส.ก.เขตบางเขน หมายเลข 4 จัดเสวนาเปิดนโยบาย ”สภาชุมชน” (PEOPLE COUNCIL) ณ แขวงคลองถนน เขตสายไหม โดยมีผู้นำชุมชน และประชาชน จากเขตบางเขนและสายไหม ให้ความสนใจร่วมหารือกันเป็นจำนวนมาก
น.ต.ศิธา กล่าวว่า ผมจะเป็นผู้ว่าฯ คนแรกที่จะกระจายอำนาจการจัดการงบประมาณกทม.ให้กับคนกรุงเทพฯ ผ่าน สภาชุมชน โดยการออกเป็นระเบียบกรุงเทพมหานคร เป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านสภาชุมชน (Empower People With People Council) และปลดปล่อยประชาชนจากพันธนาการรัฐราชการอำนาจนิยม เป็นประชาธิปไตยทางตรง ที่ชุมชนสามารถร่วมจัดงบประมาณของกทม. เพื่อไปแก้ไขปัญหาในหมู่บ้านหรือชุมชนของตนเองได้ จัดการตัวเองได้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดตามความต้องการของประชาชน
น.ต.ศิธา กล่าวว่า ดังนั้น สภาชุมชนจึงเป็นพื้นที่ของชาวบ้านที่มารวมตัวกัน เพื่อร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างทางออก เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการตัวเอง ทำงานร่วมกับกทม. สะท้อนภาพประชาชนคือหุ้นส่วนในการบริหารจัดการกรุงเทพฯ รวมทั้งสามารถติดตามการบริหารงานต่างๆ โดย กทม.ต้องจัดสรรงบประมาณให้แต่ละชุมชน โดยประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ตรวจสอบงบประมาณ ผ่านระบบบล็อกเชน Decentralized Autonomous Organization (D.A.O) ที่จะเป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างชุมชนกับผู้ว่าฯรับรู้ปัญหาได้โดยตรงจากชุมชน และสามารถหาแนวทางและแก้ไขได้ทันที และให้ประชาชนมีอำนาจในการแสดงความคิดเห็นและโหวตให้กับโครงการต่างๆของกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดนโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน รวมทั้งการตั้งงบประมาณตอบแทนให้กับคณะกรรมการสภาชุมชน
“เดิมการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ เป็นการใช้กรรไกรข้างเดียวในการจัดการปัญหา อาจเปรียบมีดอีโต้ในการฟันปัญหาต่างๆ เวลาจะออกนโยบายก็ใช้ค้อนทุบให้ชาวบ้านไปปฏิบัติตาม แต่สำหรับแนวคิดสภาชุมชนเราต้องการให้เป็นกรรไกรที่มีความคมทั้งด้านบน และด้านล่าง เพื่อสามารถจัดการปัญหาได้ ซึ่งนโยบายสภาชุมชน จะมี 2 ระดับคือแนวราบ และแนวดิ่ง คือแนวราบนโยบายจะมาจากประชาชนผ่านการรวมตัวกัน เป็นสภาชุมชน และแนวดิ่งมาจาก Comunity Online เพื่อให้จิตอาสาที่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นต่างๆได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา” น.ต.ศิธา กล่าว
น.ต.ศิธา กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนระบบ D.A.O มีการบันทึกทุกรายละเอียดข้อเสนอ และข้อร้องเรียนต่างๆ จะถูกบันทึกและจัดเก็บในห่วงโซ่บล็อกเชน (Blockchain) เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและรับประกันความปลอดภัยข้อมูล ด้วยวิทยาการเข้ารหัสลับประชาชนจะใช้แอพมือถือเพื่อตรวจสอบ ติดตาม และประเมินการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ เพราะข้าราชการมีหน้าที่ดูแลประชาชน ซึ่งประชาชนสามารถประเมินโดยการให้คะแนนมีผลต่อการเลื่อน-ลด-ปลด-ย้ายทำให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องมาเอาใจผู้ว่าฯ หรือ ผ.อ.เขต แต่ต้องเอาใจประชาชนแทน
ทั้งนี้ ระบบ D.A.O จะทำให้ประชาชนสามารถสื่อสารกับผู้ว่าฯได้โดยตรง ทั้งการติดตามงานและตรวจสอบได้ตลอดเวลา