"สนามม้าโคราช" ปฏิบัติการหักดิบ "บิ๊กป้อม"
ทั้ง "สนามมวยลุมพีนี-สนามม้าโคราช" เป็นกิจการที่อยู่ในแผนปฏิรูปกองทัพ และถูกสั่งปิดเนื่องจาก "โควิด-19" แต่ในมุมมอง "พล.อ.ณรงค์พันธ์" ได้ขีดเส้นแบ่งไว้ชัดเจน สนามหนึ่ง คือ พื้นที่รักษาศิลปะวัฒนธรรม ส่วนอีกสนามเป็นแหล่งพนัน อบายมุข ที่รอวันปิดตัว
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณตอบรับจาก พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) หลัง พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นายกสมาคมกีฬาม้าแข่งไทย ได้ลงนามในหนังสือขอความอนุเคราะห์ใช้ "สนามกีฬาทหาร" ของกองทัพภาคที่ 2 เป็นพื้นที่จัดกีฬาม้าแข่ง
"สนามกีฬาทหาร" หรือที่รู้จักกันดี "สนามแข่งม้าโคราช"เป็นหนึ่งในสวัสดิการเชิงธุรกิจ ที่อยู่ในแผนปฏิรูปกองทัพยุค "บิ๊กแดง" พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. หลังเกิดกรณีจ่าคลั่งโคราช ก่อนจะถูกสั่งปิดจากพิษ "โควิด-19" เมื่อ 29 ก.พ. 2563 ต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 ปี ทำให้คนในวงการม้าแข่งกว่า 4 หมื่นชีวิตได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งเจ้าของคอกม้า คนเลี้ยงม้า และครอบครัว
"สนามแข่งม้าโคราช" อยู่ในช่วงการเปลี่ยนมือจากกองทัพบกไปอยู่ในความดูแลของสมาคมกีฬาม้าแข่งไทย หลัง "พล.อ.ณรงค์พันธ์" มีนโยบายให้เขตทหารปลอดการพนัน โดยสนับสนุนพื้นที่ราชพัสดุ ที่กรมพลาธิการ ใช้ประโยชน์ จำนวน 170 กว่าไร่ ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชศรีมา ก่อสร้าง "สนามม้าแห่งใหม่"
เพื่อสนับสนุนให้คนในวงการม้าแข่งมีอาชีพต่อไป และในระหว่างนี้ให้ใช้ "สนามกีฬาทหาร" จัดการแข่งม้าเป็นการชั่วคราว จนกว่า
"สนามม้าแห่งใหม่" ก่อสร้างเสร็จ ซึ่งคาดว่าใช้เวลา 2 ปี โดย คณะกรรมการกองทัพภาคที่ 2 ได้ลงพื้นที่ชี้จุด กำหนดระวางก่อสร้างแล้ว
ต่อมาภายหลัง "โควิด-19" เบาบาง กระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งเรื่องแนวทางปฏิบัติของสถานที่และกิจกรรมตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับกิจกรรมการเล่นหรือแข่งขันชนไก่ กัดปลา แข่งม้า ชนโค ชกมวย และแข่งนก ตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ซึ่งมีการประกาศผ่อนคลายมาตรการจากทาง ศบค. เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2564
เหลือเพียง "สนามแข่งม้าโคราช" ที่ยังปิดอยู่ จนเป็นที่มาของการทำหนังสือ 2 ฉบับ จากสมาคมกีฬาม้าแข่งไทย ลงนามโดย พล.อ.วิชญ์ ในฐานะนายกสมาคมฯ เมื่อ 8 ธ.ค.2564 โดยฉบับหนึ่งส่งไปยัง ผบ.ทบ.อีกฉบับส่งไปให้ พล.ท.สวราชย์ แสงผล แม่ทัพภาคที่ 2
เพื่อขอความอนุเคราะห์ใช้"สนามกีฬาทหาร" 1.จัดแข่งทดสอบม้าใหม่ 2.จัดการแข่งขันชิงแชมป์แห่งประเทศไทย 3. ขอบริหารสนามม้าเพื่อเป็นการจัดแข่งในระหว่างรอสนามม้าแห่งใหม่สร้างเสร็จ
จากนั้นได้มีหนังสือจากกรมกำลังพลทหารบก (กพ.ทบ.) เมื่อ 28 ธ.ค.2564 เสนอให้ กรมส่งกำลังบำรุงทหารบก (กบ.ทบ.) พิจารณาการใช้พื้นที่ "สนามกีฬาทหาร" ตามที่ สมาคมกีฬาม้าแข่งไทย ขอความอนุเคราะห์ เนื่องจากการแข่งม้าของสมาคมฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขันกีฬาของกองทัพบก และไม่ได้ดำเนินการในรูปแบบการจัดรัฐสวัสดิการให้แก่กำลังพล
ถัดมาก็มีหนังสือจาก กพ.ทบ. ส่งถึง แม่ทัพภาคที่ 2 เมื่อ 8 ม.ค.2565 ให้พิจารณาการให้ใช้พื้นที่สนามกีฬาทหาร ตามที่สมาคมกีฬาม้าแข่งไทยขอความอนุเคราะห์ โดยอ้างระเบียบการใช้ที่ดินกองทัพบก ที่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสมพร้อมส่งหนังสือรายงานกองทัพบกทราบ
โดยแม่ทัพภาคที่ 2 ได้ทำหนังสือนำเรียน ผบ.ทบ. ผ่าน กบ.ทบ. รายงานผลการพิจารณาให้รับทราบเมื่อ 6 ก.พ.2565 เพื่อขออนุมัติสมาคมกีฬาม้าแข่งไทยจัดทดสอบและจัดแข่งขันกีฬาม้าแข่ง เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของผู้ประกอบอาชีพม้าแข่ง และอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง
ก่อนหน้านี้ ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด "บิ๊กป้อม " พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พล.อ.วิชญ์ และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เคยรับประทานอาหารร่วมกัน และได้มีการสอบถามความคืบหน้าการใช้พื้นสนามกีฬาทหาร จัดม้าแข่ง ก็ได้รับคำตอบจาก พล.อ.ณรงค์พันธ์ว่า ไม่มีปัญหา
เวลาผ่านไปเกือบ 2 เดือน เรื่องดังกล่าวเงียบหายไป กลุ่มตัวแทนชมรมเจ้าของม้าแข่งจังหวัดนครราชสีมา ยกขบวนเดินทางเข้าพบ พล.อ.วิชญ์ ที่สมาคมโอลิมปิคฯ เพื่อขอให้ติดตามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ประสานไปยัง "บิ๊กป้อม" จนได้รับคำตอบว่า
"ก็บอก ผบ.ทบ.ให้แล้ว ผบ.ทบ. ก็ตอบว่า ครับๆ แต่ ผบ.ทบ.ไม่ทำ แล้วจะให้ทำยังไง"
ทั้งนี้ เมื่อวัน 5 เม.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ณรงค์พันธ์ ได้ทำเอ็มโอยูความร่วมมือเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนสนามมวยต้นแบบสู่การพัฒนามาตรฐานมวยไทยในด้านต่างๆ เพื่อยกระดับกีฬามวยไทยให้เป็นกีฬาประจำชาติอย่างแท้จริง กับนายก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)
เพื่อผลักดันให้ "สนามมวยลุมพินี" ที่เป็นหนึ่งในกิจการสวัสดิการกองทัพบก ที่ได้พัฒนา และปรับรูปแบบการบริหารจัดการ และการให้บริการเพื่อสวัสดิการกำลังพลและประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป เพื่อใช้เป็นพื้นที่ออกกำลังกาย ฝึกอบรมกีฬามวยไทย จัดการแข่งขันชกมวยปราศจากพนัน เป็นศูนย์รวมการผลิตบุคลากรกีฬามวยไทย รวมทั้งการอนุรักษ์และส่งเสริมกีฬามวยไทย
"สนามมวยลุมพินี ยังมีการแข่งขันชกมวยอยู่ ในอนาคตจะเป็นสถานที่ในการรักษาศิลปะวัฒนธรรมของชาติ เป็นสถานที่การเรียนรู้ และเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยจะเป็นการแข่งขันเชิงท่องเที่ยวที่เน้นศิลปวัฒนธรรมของชาติ แต่จะไม่มีการพนันโดยเด็ดขาด " ผบ.ทบ.กล่าว
สำหรับ "สนามมวยลุมพีนี" แม้จะเป็นกิจการที่อยู่ในแผนการปฏิรูปกองทัพ และถูกสั่งปิดเนื่องจาก "โควิด-19" ไม่ต่างกับ "สนามแข่งม้าโคราช" แต่ในมุมมองของ "พล.อ.ณรงค์พันธ์" ได้ขีดเส้นแบ่งไว้ชัดเจน สนามหนึ่ง คือ พื้นที่รักษาศิลปะวัฒนธรรมประจำชาติ ที่กำลังผลักดัน ส่วนอีกสนามเป็นแหล่งพนัน อบายมุข ที่รอวันปิดตัว
"สนามแข่งม้าโคราช" แม้จะถูกมองว่าเป็นแหล่งอบายมุข แต่ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน รายได้ ให้ทั้งคนในวงการอาชีพม้าแข่ง คนในชุมชน โรงแรม ร้านอาหาร ที่"สมาคมกีฬาม้าแข่งไทย" หวังยกระดับให้เป็นสากล ปลอดการพนัน ไม่ต่างกับ สมาคมมวย สมาคมฟุตบอล เพื่อให้เป็นอัตลักษณ์และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต
ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า บทสรุปอาชีพคนแข่งม้า หลายหมื่นชีวิตที่ต้องทำมาหากิน กับจุดยืน พล.อ.ณรงค์พันธ์ เขตทหารต้องปลอดพนัน จะลงเอยเช่นไร เพราะแม้แต่ "บิ๊กป้อม" ก็ดูท่าจะเอาไม่อยู่