5 ชนักปักหลัง “จึงรุ่งเรืองกิจ” วิบากกรรมใต้ปีก “ธนาธร”
ทั้งหมดคือ 5 คดีสำคัญเป็นชนักปักหลัง “จึงรุ่งเรืองกิจ” ใต้ปีก “ธนาธร” ที่หลายคดีกำลังคืบหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่บางคดียังคงเงียบงัน ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลแต่อย่างใด
ปี 2565 อาจเรียกได้ว่าเป็นอีกปีหนึ่งที่ตระกูล “จึงรุ่งเรืองกิจ” ภายใต้ปีกของ “ธนาธร” ประธานคณะก้าวหน้า กำลังเผชิญวิบากกรรมอย่างหนักหน่วง
ไล่เรียงมาตั้งแต่ต้นปี 2565 “ธนาธร” และ “ครอบครัว” ถูกดำเนินหลายคดี ทั้งเรื่องที่ดิน ส.ป.ก. บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ถาวร และพื้นที่ป่าสงวน “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี” รวมกว่า 2,111 ไร่
คดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีไลฟ์สดวิจารณ์ “วัคซีน”
ล่าสุด เพิ่งมีความคืบหน้าคดี “ซุกหุ้นสื่อ” จากการถือครองหุ้นบริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีความเห็น "ควรสั่งฟ้อง" แย้งกับพนักงานอัยการที่มีความเห็น "ไม่ควรสั่งฟ้อง" สุดท้ายจึงส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) ชี้ขาดแล้วว่าจะสั่งฟ้องคดีแก่ศาลหรือไม่
กรุงเทพธุรกิจ เรียบเรียงสารพัดคดีของตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ เฉพาะครอบครัวของ “ธนาธร” มานำเสนอ ดังนี้
- คดีซุกหุ้นสื่อ บริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด
คดีดังกล่าว เริ่มจากสื่อมวลชนทำการขุดคุ้ยตั้งแต่ปี 2562 ภายหลังนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (ขณะนั้น) ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของพรรค ทว่า กลับยังไม่แจ้งการถือครองหุ้นของบริษัท วีลัค มีเดียฯ ซึ่งจดทะเบียนประกอบธุรกิจสื่อ และยังไม่เสร็จชำระบัญชี ส่งผลให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัยว่า เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง ขัดหรือแย้งตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงเข้าข่ายว่ารู้ หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่กลับลงสมัคร ผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562
คดีนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกกรณีดำรงตำแหน่ง ส.ส. โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายธนาธร พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.นับตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2562 ซึ่งเป็นวันที่ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้คืนสิทธิประโยชน์ทุกอย่างแก่สภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)
ส่วนที่สอง คดีอาญา โดย กกต.เห็นว่า นายธนาธรเข้าข่ายรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังสมัคร เข้าข่ายผิดตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกำหนด 20 ปี
ในส่วนคดีอาญานั้น กกต.ยื่นร้องทุกข์กล่าวโทษนายธนาธรต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง เนื่องจากเป็นเขตอำนาจหน้าที่รับผิดชอบคดี ต่อมา สน.ทุ่งสองห้อง ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าว ก่อนจะมีความเห็นควรสั่งฟ้อง และส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการ ทว่าพนักงานอัยการมีความเห็นไม่ควรสั่งฟ้อง ทำให้สำนวนถูกตีกลับมายัง สน.ทุ่งสองห้อง
หลังจากนั้น ผบ.ตร. แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมารับผิดชอบพิจารณาเรื่องนี้ และมีความเห็นยืนยันควรสั่งฟ้อง แย้งกับความเห็นของพนักงานอัยการ ทำให้ต้องส่งเรื่องให้กับ อสส. เพื่อพิจารณาชี้ขาดว่าจะสั่งฟ้องนายธนาธรหรือไม่ หาก อสส.มีความเห็นควรสั่งฟ้อง จะดำเนินการตามขั้นตอนของศาลต่อไป แต่หากไม่สั่งฟ้องเท่ากับว่าคดีจะสิ้นสุดทันที
- คดียุบพรรคอนาคตใหม่
คดีนี้เกิดขึ้นภายหลังนายธนาธร แถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ตอนหนึ่งว่า ได้ปล่อยเงินกู้ยืมให้แก่พรรคอนาคตใหม่ หลักร้อยล้านบาท ทำให้มีการไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกต.ว่า กรณีนี้เข้าข่ายกระทำผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ เนื่องจากตามมาตรา 72 กำหนดให้พรรคการเมืองมีรายได้จากข้อกำหนดต่าง ๆ แต่ไม่ได้หมายรวมถึงการกู้ยืมเงิน
ต่อมา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ (เป็นไปตามกฎหมาย ป.ป.ช. แม้ว่าจะถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่งก็ตาม) แจ้งว่า มีการปล่อยเงินกู้แก่พรรคอนาคตใหม่ 2 ครั้ง รวมวงเงิน 191.2 ล้านบาท โดยทำสัญญาฉบับแรกเมื่อ 2 ม.ค. 2562 วงเงิน 161.2 ล้านบาท และฉบับสองเมื่อ 11 เม.ย. 2562 วงเงิน 30 ล้านบาท
หลังจากนั้น กกต.วินิจฉัยว่า การที่พรรคอนาคตใหม่รับเงินกู้จากนายธนาธร วงเงิน 191.2 ล้านบาท เข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 72 มีโทษสูงสุดถึงขั้นยุบพรรค รวมถึงตัดสิทธิทางการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรคที่มีมติยินยอมรับเงินกู้ดังกล่าว
สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย “ยุบพรรค” อนาคตใหม่ ด้วยคะแนน 7 ต่อ 2 เสียง เนื่องจากตีความว่าการปล่อยกู้เงินเข้าข่ายเป็นการ “บริจาค” และเป็นการนำเอา “พรรคการเมือง” ไปทำเป็น “ธุรกิจการเมือง” ก่อให้เกิดการครอบงำขึ้นในพรรคได้ โดยเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรครวม 16 คน คนละ 10 ปี
นอกจากนี้ กกต.ยังดำเนินคดีอาญากรณีดังกล่าว โดยเห็นว่า นายธนาธร บริจาคเงินให้พรรคการเมืองเกิน 10 ล้านบาท/ปี มีโทษตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 124 จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ส่วนกรรมการบริหารพรรคที่เหลือ ผิดฐานรับบริจาคเงินโดยรู้ หรือควรรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีโทษตามมาตรา 125 และ 126 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าคดีในส่วนนี้
- คดีถูกกล่าวหาบุกรุกป่า แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
กรณีครอบครองที่ดิน น.ส.3 ก. ในพื้นที่ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี บริเวณป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี โดยครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจ 3 ราย ได้แก่ นายธนาธร จึงรุ่งเรือง นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา และนางชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ พี่สาวนายธนาธร มีโฉนด น.ส.3 ก. รวม 59 ฉบับ จำนวนพื้นที่ 2,111 ไร่เศษ
โดยกรมป่าไม้พบว่าที่ดินดังกล่าว ตั้งอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี” ต่อมาได้ประกาศเป็นเขต “ป่าสงวนแห่งชาติ” เมื่อปี 2527 จึงเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ห้ามดำเนินการในเขตป่าไม้ถาวร และเป็นที่ดินต้องห้ามมิให้ออก น.ส.3 ก. ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2527) ข้อ 3 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น
ต่อมากรมป่าไม้มีหนังสือถึงกรมที่ดินเพื่อให้เพิกถอนโฉนดทั้ง 59 ฉบับดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2565 อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งที่ 747/2565 เพิกถอน น.ส.3 ก. ทั้ง 59 ฉบับเรียบร้อยแล้ว
ในส่วนของคดีอาญานั้น ปัจจุบันกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ดำเนินการสอบสวนเสร็จแล้ว และมีความเห็นควรสั่งฟ้อง โดยส่งสำนวนไปยังอัยการจังหวัดราชบุรี อย่างไรก็ดีอัยการมีความเห็นแย้งพนักงานสอบสวน บก.ปทส. ทำให้ต้องยืนยันความเห็นแย้งไปที่อัยการอีกครั้ง
กรณีครอบครองที่ดิน น.ส.2 และที่ดิน ภ.บ.ท.5 รวมจำนวน 440 ไร่ บริเวณเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี” ของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการสอบสวนอยู่ โดยถูกกล่าวหาว่า ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ หรือแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันมีลักษณะเป็นการค้า ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ปปง. พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (15)
- คดีไลฟ์สดวัคซีน
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 25645 นายธนาธร ในฐานะประธานคณะก้าวหน้า บรรยายเรื่อง “วัคซีนพระราชทาน” ผ่านทางไลฟ์สดเฟซบุ๊กแฟนเพจคณะก้าวหน้า และแฟนเพจธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์การจัดซื้อวัคซีนที่ล่าช้าของรัฐบาล
อย่างไรก็ดี มีการแจ้งความกล่าวหาว่า นายธนาธรพูดตอนหนึ่งพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในประเด็นที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงถือครองหุ้นในบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19
เบื้องต้นนายธนาธรให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน ต่อมาพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง และส่งสำนวนให้อัยการ โดยอัยการนำตัวนายธนาธรฟ้องต่อศาลอาญา กล่าวหาว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปัจจุบันศาลประทับรับฟ้องแล้ว และอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวนายธนาธร ด้วยวงเงิน 90,000 บาท มีเงื่อนไขห้ามกระทำตามที่ถูกกล่าวหาอีก
- คดี “น้องชาย” ให้สินบน เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินฯ
คดีนี้สืบเนื่องจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาลงโทษจำเลย 2 ราย โดยรายหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คดีปลอมเอกสารเช่าที่ดินสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยในคำพิพากษาตอนหนึ่ง ระบุถึงจำเลย 2 รายดังกล่าว ได้รับเงินจากนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด อย่างน้อย 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 20 ล้านบาท โดยอ้างว่าเป็น “ค่าอำนวยความสะดวก”
เบื้องหลังคดีนี้ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ทำการสอบสวนในทางลับ หรือเรียกกันในรหัส “ว.5” โดยพบว่า นายประสิทธิ อภัยพลชาญ อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ยอมรับว่า มีการปลอมเอกสารขึ้นเพื่อเตรียมเอื้อประโยชน์ให้เอกชน คือบริษัทของนายสกุลธร ได้เช่าสิทธิที่ดินสำนักงานทรัพย์สินฯ บริเวณสีลม หลังจากนั้น บก.ป.จึงเชิญสำนักงานทรัพย์สินฯ ในฐานะผู้เสียหายมาแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว
อย่างไรก็ดี คณะพนักงานสอบสวนหารือกันว่า จะดำเนินคดีกับนายสกุลธร ด้วยหรือไม่ ในฐานะผู้ใช้ หรือผู้จ้างวาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 แต่ท้ายที่สุดไม่มีการดำเนินคดีกับนายสกุลธร หรือแม้แต่เรียกนายสกุลธรมาให้ถ้อยคำ ทำให้เมื่อพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งอัยการฟ้อง ไม่มีชื่อของนายสกุลธรอยู่ในสำนวน
เมื่อมีการตีแผ่เรื่องนี้ออกมา ทำให้ บก.ป. ต้องกลับมาดูสำนวนเดิม และรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง พร้อมกับแจ้งข้อหาแก่นายสกุลธร โดยเมื่อเดือน ก.พ. 2564 นายสกุลธร ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน และปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยเฉพาะกรณีการให้สินบนเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินฯ จำนวน 20 ล้านบาท ขณะเดียวกันเจ้าตัวเผยแพร่แถลงการณ์ยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง ยืนยันเป็นผู้เสียหาย ไม่ใช่ผู้กระทำผิด ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
ทั้งหมดคือ 5 คดีสำคัญเป็นชนักปักหลัง “จึงรุ่งเรืองกิจ” ใต้ปีก “ธนาธร” ที่หลายคดีกำลังคืบหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่บางคดียังคงเงียบงัน ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลแต่อย่างใด
นับเป็นวิบากการเมือง ที่คนในตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ ถูกตรวจสอบ ถูกดำเนินคดีต่างๆ นับตั้งแต่ “ธนาธร” ก้าวเข้าสู่การเมืองอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวงรอบเลือกตั้งใหญ่ กำลังวนกลับมาอีกครั้ง โดยไม่มีโอกาสได้ลงแข่ง