"คำนูณ" เสนอ เพิ่ม 4แนวทาง ทำมาตรฐานลดโทษคดีสำคัญ ป้องกันลดโทษสุดซอย

"คำนูณ" เสนอ เพิ่ม 4แนวทาง ทำมาตรฐานลดโทษคดีสำคัญ  ป้องกันลดโทษสุดซอย

"คำนูณ" เห็นด้วย6หลักเกณฑ์ ลด-อภัยโทษ คดีสำคัญ แต่ขอเพิ่มความเห็น 4 ประเด็น ย้ำต้องแก้กฎหมาย กันฝ่ายนโยบายแก้ไขเปลี่ยนแปลง

                 นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ต่อกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบข้อเสนอการปรับปรุงแนวทางการจัดชั้น เลื่อนชั้นนักโทษ เพื่อให้มีแนวทางที่ชัดเจนต่อการอภัยโทษ ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษเสนอ ว่า ข้อเสนอทั้ง 6 ข้อนั้น ตนเห็นด้วย แต่มีข้อสังเกตเพิ่มเติม คือ

 

                 1. มาตรการทั้ง6 ข้อนั้น จำเป็นต้องนำไปแก้ไขกฎหมายหลักให้มากที่สุด เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กรมราชทัณฑ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายในอนาคต

 

                 2. มาตรการที่กำหนดให้นักโทษที่จะได้รับอภัยโทษ ไม่ว่าลดโทษหรือ ปล่อยตัว ต้องรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ จำคุกมาแล้ว 8 ปี หรือแล้วแต่ระยะเวลาใดถึงก่อน ตนเห็นว่าควรยึดเกณฑ์การรับโทษมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เป็นสำคัญ เพราะประเด็น 8 ปีนั้นไม่ทราบว่ามีที่มาอย่างไร และกรณีที่เป็นคดีซึ่งมีการลงโทษสูง เช่น จำคุก 48 - 50 ปี ระยะเวลา 8 นั้น ไม่ถือว่าเข้า 1 ใน 3

                 นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า 3.การพิจารณาลดโทษนักโทษในเรือนจำ ควรให้มีคณะกรรมการไตรภาคี เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าศาล อัยการท้องถิ่นร่วมด้วย เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีเพียงเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ดำเนินการพิจารณาเท่านั้น

 

                 และ 4. นักโทษที่ได้รับสิทธิลดโทษ หรืออภัยโทษ ควรได้รับสิทธิปีละ 1 ครั้ง เพราะบางคดีสามารถรับสิทธิได้ถึง 3 ครั้งต่อปี ตามโอกาสสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ซึ่งการอภัยโทษเป็นการทั่วไปนั้น ที่พบว่านักโทษชั้นดีมาก หรือชั้นเยี่ยมได้รับสิทธิทุกครั้งไม่มีเหตุผล

 

 

                 "มาตรการที่แถลงไปนั้น ไม่มีผลย้อนหลัง ทำให้ คดีจำนำข้าว ซึ่งนักโทษได้รับการลดโทษไปแล้ว ได้รับสิทธิ ตาม พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ พ.ศ.2564 อย่างไรก็ดีการลดโทษแบบสุดซอย ต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนไม่ใช่ลดแบบสุดซอยเหมือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะคดีอาชญากรรมสำคัญ คดีทางเพศที่โหดร้ายเป็นต้น ทั้งนี้มีประเด็นพิจารณาด้วยว่ากรณีที่มีกฎหมายจำกัดสิทธินักโทษที่พ้นโทษ เพื่อความปลอดภัยทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งข้อสังเกตด้วยว่ากฎหมายใหม่อาจทำได้ไม่เต็มที่หากไม่แก้ไข และไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน” นายคำนูณ กล่าว.