รู้จัก “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” รองหัวหน้า ปชป. รายได้ธุรกิจล่าสุด 2,152 บาท
ทำความรู้จัก “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” รองหัวหน้าพรรค ปชป. ก่อนปัดแจงปม “ษิทรา” อ้างหญิงร้องเรียนถูกนักการเมืองดังลวนลาม พบสัมพันธ์กับลูกบิ๊กนักการเมือง-เทคโนแครตดัง ทำธุรกิจให้คำปรึกษา เพิ่งแจ้งเลิก รายได้ล่าสุดปี 63 รวม 2,152 บาท
ชื่อของ “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กำลังได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างมากในช่วงเวลานี้
เพราะถูกพาดพิงไปถึงกรณี “ษิทรา เบี้ยบังเกิด” เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนเพื่อเยาวชนและสังคม เปิดเผยว่า หญิงอายุ 18 ปีเข้ามาปรึกษา โดยระบุว่าถูกนักการเมืองระดับรองหัวหน้าพรรคลวนลาม
อย่างไรก็ดีสื่อหลายสำนักรายงานข่าวอ้างว่า “ปริญญ์” ได้ชี้แจงเรื่องนี้ต่อ “บิดา” คือ “ดร.ซุป” ศุภชัย พานิชภักดิ์ แกนนำคนสำคัญพรรคประชาธิปัตย์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) ไปแล้ว
ล่าสุด เจ้าตัวแถลงข่าว ขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และพร้อมชี้แจงตามกระบวนการยุติธรรม แต่เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของ ปชป. จึงขอประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งที่มีใน ปชป.
อ่านข่าว: “ปริญญ์” ประกาศลาออกทุกตำแหน่งใน ปชป. ปฏิเสธทุกข้อหาปมสาวร้องถูกลวนลาม
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเส้นทางการเมืองของ “ปริญญ์” ถูกจับตาเนื่องจากเป็นบุตรชายของ “ดร.ซุป” ศุภชัย พานิชภักดิ์ แกนนำคนสำคัญของ “ค่ายสะตอ” เคยขึ้นจุดสูงสุดด้วยการเป็น ผอ.องค์การการค้าโลก หรือ WTO และเคยเป็นเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD)
ในทางการเมือง ดร.ซุป เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีดูแลด้านเศรษฐกิจหลายสมัย เป็นอดีต ส.ส.หลายสมัยเช่นเดียวกัน และมีอยู่บางยุคที่การเมืองถึงทางตัน มีการเปิดช่องให้หา “นายกคนกลาง” ปรากฏชื่อของ “ศุภชัย พานิชภักดิ์” ติดโผมาโดยตลอด
เมื่อปี 2562 “ปริญญ์” เริ่มต้นเส้นทางการเมืองด้วยการเข้ามามีบทบาทใน ปชป. ด้วยตำแหน่ง “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย” ซึ่งถือว่าเป็นยุค “เปลี่ยนถ่ายเลือดใหม่” ภายในพรรค พร้อมกับนั่งเก้าอี้ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรค ปชป.) รวมถึงเก้าอี้ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร และเลขานุการคณะอนุกรรมาธิการทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร
ในช่วงเวลานั้นชื่อชั้นของ "ปริญญ์" คือ 1 ใน 3 แคนดิเดต "ว่าที่ผู้นำพรรค" คนรุ่นใหม่ ร่วมกับ "ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ" บุตรชาย "สุรินทร์ พิศสุวรรณ" ปรมาจารย์การเมืองผู้ล่วงลับ และ "ไอติม" พริษฐ์ วัชรสินธุ หลานชาย "อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ" อดีตหัวหน้าพรรค เลยทีเดียว
ปัจจุบันเหลือแค่ "ปริญญ์" ที่ยังอยู่กับ "ค่ายสะตอ" ส่วนอีก 2 รายแยกย้ายพเนจรไปตามทางของตัวเอง
ในช่วงปี 2563 “ปริญญ์” คือหนึ่งใน “คลังสมอง” ด้านเศรษฐกิจของ ปชป. เสนอไอเดียด้านนโยบายจำนวนมาก ในช่วงเป็นประธานคณะอนุกรรมาขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตร สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (มีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการ ปชป. เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์) เช่น นโยบาย “บาซูก้า” 2 ล้านล้านบาท โครงการเรียนจบพบงาน โครงการแก้สินค้ามังคุดล้นตลาด เป็นต้น
ในมุมธุรกิจ “ปริญญ์” มีสายสัมพันธ์อันดีกับ “ลูกหลาน” อดีตนักการเมือง-เทคโนแครตชื่อดัง เช่น “สันติธาร เสถียรไทย” บุตรชาย “สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีหลายสมัย “การดี เลียวไพโรจน์” บุตร “มนู เลียวไพโรจน์” อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ปี 2557 เป็นต้น
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2565 พบว่า “ปริญญ์” เป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 1 แห่ง ได้แก่ บริษัท ไอโครา จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2560 แจ้งเลิก 1 ก.ค. 2564 เสร็จชำระบัญชีเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2564 ทุนปัจจุบัน 5 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 897 ซอยลาดพร้าว 107 (ดีสมโชค) แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด ให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น
ปรากฏชื่อ 7 รายเป็นกรรมการ
- นางการดี เลียวไพโรจน์
- นายลี ไขว้ เซง
- นายศิโรตม์ เสตะพันธุ (อดีตนักการเงิน ผู้สร้างอนิเมชั่น 9 ศาสตรา)
- นายสันติธาร เสถียรไทย
- นายปริญญ์ พานิชภักดิ์
- นายลิน ชี ล๊ก
- นางสาวนิลทิตา เลิศเรืองศุภกุล (โอปอล์ CEO ชื่อดัง ทำธุรกิจ Fintech)
นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 พบว่า หุ้นถูกกระจายอยู่ใน 5 คน คนละ 20% เท่า ๆ กัน ได้แก่ น.ส.นิลทิตา เลิศเรืองศุภกุล นางการดี เลียวไพโรจน์ นายศิโรตม์ เสตะพันธุ นายลี ไขว้เซง และนางชนาทิพย์ เสถียรไทย (ภริยานายสันติธาร เสถียรไทย)
นำส่งงบการเงิน 4 ปีหลังสุด (2560-2563) ดังนี้
- ปี 2563 มีรายได้รวม 2,152 บาท รายจ่ายรวม 76,842 บาท ขาดทุนสุทธิ 74,690 บาท
- ปี 2562 มีรายได้รวม 15,364 บาท รายจ่ายรวม 723,462 บาท ขาดทุนสุทธิ 708,098 บาท
- ปี 2561 มีรายได้รวม 22,607,330 บาท รายจ่ายรวม 23,026,746 บาท ขาดทุนสุทธิ 419,416 บาท
- ปี 2560 (ช่วงก่อตั้ง) มีรายได้รวม 2,013 บาท รายจ่ายรวม 61,622 บาท ขาดทุนสุทธิ 59,609 บาท