“ห้องน้ำสาธารณะ-ลิฟต์”ที่อับเสี่ยงสูงผลวิจัยย้ำ“หน้ากาก”ป้องกันโควิด

“ห้องน้ำสาธารณะ-ลิฟต์”ที่อับเสี่ยงสูงผลวิจัยย้ำ“หน้ากาก”ป้องกันโควิด

คณะผู้วิจัยระบุว่าการสวมหน้ากากอนามัยควรได้รับการส่งเสริมให้เป็นการปฏิบัติปกติประจำ เมื่อเข้าสู่พื้นที่บริเวณสาธารณะภายในอาคาร เพราะสามารถลดความเสี่ยงด้วยเช่นกัน และสามารถลดการรั่วซึมบริเวณขอบหน้ากากได้

ทีมนักวิชาการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ผู้วิจัยหัวข้อ “ผลของหน้ากากและการระบายอากาศต่อความเสี่ยงในการแพร่ของเชื้อ SARS-CoV-2 ในระบบทางเดินหายใจในห้องน้ำสาธารณะ : ด้วยการประเมินความเสี่ยงจุลินทรีย์เชิงปริมาณ” ยืนยันผลวิจัยบ่งชี้ว่าห้องน้ำสาธารณะและห้องอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน คือ เล็ก แคบ และมีการระบายอากาศที่ไม่ดีเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงในการแพร่ของเชื้อโควิด-19 และวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันการแพร่ระบาดคือการที่ทุกคนใส่หน้ากากกรองอากาศให้มิดชิด

  จากการเสวนาในหัวข้อ “ใช้ห้องน้ำสาธารณะอย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด” ที่เฟซบุ๊กเพจ Zero C Thailand รวมพลังไทยลดยอดติดเชื้อ ให้เหลือ “0” เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ดร. ขวัญรวี สิริกาญจน นักวิจัยเชี่ยวชาญประจำห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า การแพร่ทางอากาศ (Airborne) เป็นช่องทางหนึ่งในการระบาดของเชื้อโควิด-19

  “การใส่หน้ากากเป็นวิธี (ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19) ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดและง่ายที่สุดด้วย เราเริ่มได้ที่ตัวเอง โดยเฉพาะในพื้นที่ปิดที่ค่อนข้างแคบ แม้ว่าจะไม่เห็นว่ามีใครใช้ห้องน้ำมาก่อนหน้าเรา หรืออยู่ในลิฟต์ด้วยกัน ผลวิจัยของเราก็บอกว่าแม้จะรอ 10 นาทีแล้วจะมีความเสี่ยงน้อยลงแต่ก็ยังมี (ความเสี่ยง) อยู่” ดร.ขวัญรวี กล่าว

“ห้องน้ำสาธารณะ-ลิฟต์”ที่อับเสี่ยงสูงผลวิจัยย้ำ“หน้ากาก”ป้องกันโควิด

ดร.ธรรมณิษฐ์พล เด่นเพชรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่าผู้ที่มีเชื้อโควิด-19 สามารถแพร่เชื้อได้ทั้งผ่านละอองฝอย (Droplet) ซึ่งเป็นละอองน้ำมูก น้ำลายขนาดใหญ่ซึ่งจะตกลงสู่พื้นด้านล่างในระยะ 2 เมตร และแพร่เชื้อผ่านละอองลอย (Aerosol) ซึ่งมีขนาดเล็กจิ๋วเฉกเช่น PM2.5 และลอยค้างอยู่ในอากาศได้นาน หากเว้นระยะเวลาเข้าใช้ห้องน้ำต่อจากคนก่อนหน้า ร่วมกับการระบายอากาศในห้องน้ำ ระดับความเข้มข้นของเชื้อโรคจะน้อยลง

 ดร.ธรรมณิษฐ์พล กล่าวว่า “ถ้าเป็น Aerosol (ละอองลอย) เราจะรู้ได้ยังไงว่าคนก่อนหน้าเราเขาหายใจ ไอ จามอย่างไร ละอองขนาดไหน เรามีโอกาสที่จะติด (เชื้อโควิด-19) ได้”

ดร.ธรรมณิษฐ์พล ยังกล่าวถึงการเลือกใช้หน้ากากชนิดต่างๆ ด้วยว่า หน้ากากกรองอากาศ (Respirators) เช่น N95 KN95 KF94 FFP2 จะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการแพร่เชื้อและรับเชื้อโควิดในห้องน้ำและสถานที่สาธารณะ ในขณะที่หน้ากากอนามัยมีประสิทธิภาพรองลงมาแต่ต้องพยายามใส่ให้มิดชิดที่สุด ส่วนหน้ากากผ้าซึ่งมีหลากหลายอาจมีประสิทธิภาพแตกต่างกันไป และหน้ากากผ้าธรรมดาบางชนิดอาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะกรองละอองไวรัส

 “การไม่ใส่ (หน้ากาก) เลย โอกาสติดเชื้อคือมี 1,000 คนก็ติด 1,000 คน คือเสี่ยงมากๆ เลย แต่หากใส่หน้ากากตระกูล N95 และใส่อย่างถูกวิธี โอกาสติดอาจเป็น 1 ใน 100,000 คน” ดร.ธรรมณิษฐ์พล กล่าว

“ห้องน้ำสาธารณะ-ลิฟต์”ที่อับเสี่ยงสูงผลวิจัยย้ำ“หน้ากาก”ป้องกันโควิด

ดร.มนต์ชัย พุ่มแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี กล่าวว่า ไม่แนะนำให้ถอดหน้ากากในห้องน้ำสาธารณะ หากมีความจำเป็น เช่น ต้องการล้างหน้า ให้กลั้นหายใจขณะล้างหน้า และรีบใส่หน้ากากกลับเข้าไปโดยเร็วที่สุด

ผศ.ดร.เอกบดินทร์ วินิจกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ผู้ร่วมเสวนา กล่าวว่า จากงานวิจัยดังกล่าวทำให้แน่ใจได้ว่าห้องน้ำสาธารณะเป็นสถานที่ที่มีการสะสมของเชื้อโรค ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา และควรใช้เวลาในห้องน้ำให้น้อยที่สุด

ส่วนนายธนะศักดิ์ พึ่งฮั้ว ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมบริษัทเอกชนหลายแห่ง เจ้าของเพจ “เรื่อง Airborne มองจากมุมวิศวกร” กล่าวว่า สถานการณ์ที่คนจะเผลอและมีความเสี่ยงมากคือระหว่างการรับประทานอาหารร่วมกัน เพราะเป็นช่วงที่แต่ละคนถอดหน้ากาก จึงแนะนำให้รับประทานอาหารในพื้นที่เปิดที่มีการระบายอากาศได้ดี และให้นั่งรับประทานห่างๆ กัน

นายธนะศักดิ์ กล่าวว่า คนไทยไม่ควรรีบยกเลิกการใส่หน้ากากในที่สาธารณะตามอย่างคนในประเทศอื่น “ถ้าทุกอย่างมีแต่ข่าวลบไปหมด ชีวิตมันก็เครียด ผมเข้าใจ แต่ในความเป็นจริง เราหย่อนได้ระดับหนึ่งครับ แต่ยังต้องควบคุมอยู่ ถ้าเราไม่ควบคุมเลยมันก็จะกลับมาเป็นแผลร้ายเหมือนตอนนี้ที่เรากำลังจะเข้าสงกรานต์ในสถานการณ์คนติดเชื้อวันละ 50,000 ตายวันละร้อยกว่าคน ก็จะเจอภาพนี้ซ้ำๆ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเจอ 2 ปีที่ผ่านมาเราผิดหวังหลายรอบแล้วนะครับ” นายธนะศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ การเสวนาดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ผลการวิจัยของ ดร.ธรรมณิษฐ์พล เด่นเพชรกุล ดร.มนต์ชัย พุ่มแก้ว นางสาวอรนุช สิทธิพันธ์ศักดา รศ.ดร.พรสวรรค์ เหลืองวุฒิวงษ์ ศ.เกียรติคุณ ดร.ศกรณ์ มงคลสุข และ ดร.ขวัญรวี สิริกาญจน ในหัวข้อ Effects of face masks and ventilation on the risk of SARS-CoV-2 respiratory transmission in public toilets: a quantitative microbial risk assessment ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Water and Health Vol 20 No 2 หน้า 300-331

งานวิจัยดังกล่าวได้วิเคราะห์ความเสี่ยงในการติดเชื้อที่แพร่กระจายทางอากาศ กรณีที่มีผู้ติดเชื้อที่สามารถแพร่เชื้อได้มาเข้าห้องน้ำ แล้วมีคนที่อาจเป็นผู้รับเชื้อมาใช้ห้องน้ำต่อ พบว่า หากผู้ที่มีเชื้อแค่หายใจเฉยๆ ความเสี่ยงที่ผู้ที่เข้าห้องน้ำต่อจะได้รับเชื้อมีมากถึง 10% แต่หากผู้ที่มีเชื้อไอหรือจามเพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้น ความเสี่ยงในการติดเชื้อก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 100 % แต่หากทั้งสองฝ่ายสวมใส่หน้ากากตระกูล N95 หรือหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ความเสี่ยงจะลดลงเหลือเกือบ 0.01 %

“ห้องน้ำสาธารณะ-ลิฟต์”ที่อับเสี่ยงสูงผลวิจัยย้ำ“หน้ากาก”ป้องกันโควิด

คณะผู้วิจัยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมได้ใช้วิธีประเมินความเสี่ยงจุลินทรีย์เชิงปริมาณ (Quantitative microbial risk assessment หรือ QMRA) โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ และลักษณะสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่เราจะเจอในประเทศไทยให้มากที่สุด เช่น คำนวณปริมาณความเข้มข้นของไวรัสโดยอ้างอิงจากผล RT-PCR ที่ได้จากผู้ป่วยในโรงพยาบาลของรัฐบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2564 จำนวน 251 ตัวอย่าง คำนวณสำหรับโมเดลห้องสุขาสาธารณะขนาดตามมาตรฐานของประเทศไทยซึ่งมีขนาดความยาว 1.5 เมตร x กว้าง 0.8 เมตร x สูง 2.7 เมตร (ปริมาตร 3.24 ลูกบาศก์เมตร) และคำนวณในระดับการระบายหมุนเวียนอากาศที่แตกต่างกันหลายๆ ระดับ

นอกจากนี้ ยังเปรียบเทียบผลของการทิ้งระยะรอคอยและเปรียบเทียบผลของการใส่หน้ากากกรองอากาศตระกูล N95 หน้ากากอนามัย และหน้ากากผ้าในการป้องกันการแพร่หรือรับเชื้อด้วย

จากผลการวิจัย ได้ข้อสรุปว่า ช่วงระยะเวลารอคอยนานอย่างน้อย 10 นาทีทำให้มีความเสี่ยงลดลง นอกเหนือจากการสวมใส่หน้ากากในที่ที่มีการระบายถ่ายเทอากาศอยู่ที่ 12 หน่วยต่อชั่วโมง แต่โดยรวมแล้วการสวมหน้ากากชนิด N95 และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เป็นการลดความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับผู้ใช้ห้องน้ำสาธารณะ ส่วนการสวมหน้ากากผ้าธรรมดานั้นยังให้การปกป้องที่ไม่เพียงพอ

ทางคณะผู้วิจัยระบุด้วยว่า การสวมหน้ากากควรได้รับการส่งเสริมให้เป็นการปฏิบัติปกติประจำเมื่อเข้าสู่พื้นที่บริเวณสาธารณะภายในอาคาร นอกจากนี้ การสวมหน้ากากที่กระชับใบหน้ามากขึ้นก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการลดความเสี่ยงด้วยเช่นกัน เพราะว่าสามารถลดการรั่วซึมบริเวณขอบหน้ากากได้