"ศิธา" ชู ปรับภูมิทัศน์ ริมเจ้าพระยา เปิดพื้นที่ชุมชน ให้ค้าขาย สร้างรายได้
"สุดารัตน์" นำทีมช่วย "ศิธา" หาเสียง "ผู้ว่าฯกทม." ชู นโยบาย “Connect & Protect" ออกแบบใหม่กำแพงริมเจ้าพระยา เพิ่มพื้นที่สีเขียว ท่องเที่ยว ออกกำลังกาย เปิดพื้นที่ชุมชนริมน้ำ ให้สามารถค้าขายสร้างรายได้
ที่วัดจันทรสโมสร เขตดุสิต คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 11 พร้อมด้วย นายเจนณรงค์ ซาก้า ผู้สมัครส.ก. หมายเลข 5 เขตดุสิต พรรคไทยสร้างไทย ร่วมงานประเพณีสงกรานต์ประจำปี 2565
ทั้งนี้ น.ต. ศิธา ระบุว่า ตนจะชูนโยบาย “Connect & Protect” ปรับเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นกำแพงกั้นสูงปิดบังทัศนียภาพของบ้านเรือนริมน้ำมาออกแบบใหม่ เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งการป้องกันน้ำท่วม และเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว ใช้ออกกำลังกาย ทำพื้นที่กิจกรรม เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิง วิถีชีวิตและวัฒนธรรม “Cultural Tourism” พร้อมเชื่อมโยง และเปิดพื้นที่ชุมชนริมน้ำ ให้สามารถค้าขายสร้างรายได้ให้คนในชุมชนเป็น “Community retail space” โดยยึดหลักการพัฒนาให้ดีขึ้นโดยฟังเสียงและความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก
อย่างเช่นพื้นที่เขตดุสิต สามารถนำร่องเป็นพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ โดยเฉพาะที่วัดจันทรสโมสรให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชน "Cultural Tourism" สร้างรายได้โดยเปิดพื้นที่ค้าขาย "community Retail Space" ต่อยอดให้คนนอกพื้นที่ รู้จักของดีเขตดุสิตมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้คนในเขตดุสิต
น.ต.ศิธา กล่าวว่า พื้นที่เขตดุสิต มีศักยภาพของชุมชนริมน้ำ ซึ่งต้องปรับพื้นที่ริมแม่น้ำ ให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการสร้างโอกาสให้คนดุสิต โดยเห็นว่าบริบทและภูมิศาสตร์ ของเขตดุสิต เป็นเขตที่มีพื้นที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ยาวตลอดเขต รวมถึงพื้นที่บริเวณริมคลองสาธารณะ 17 แห่งทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำมีบทบาทในวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชาวดุสิตเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นชุมชน เส้นทาง การคมนาคม รวมถึงสถานที่สำคัญเช่นวัด พิพิธภัณฑ์ และท่าเรือ
นอกจากนี้ พื้นที่เขตดุสิต ที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา และริมคลอง หลายแห่งในเขตดุสิตยังสามารถนำมาพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณะ เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตคนในชุมชน และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้เขตดุสิตในเชิงพาณิชย์ซึ่งสามารถปรับปรุงและยกระดับให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น บริเวณวัดจันทรสโมสร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2386 มีประวัติความเป็นมาคู่กับชุมชนยาวนานถึง 179 ปีและเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับชุมชน และโรงเรียนระดับปฐมศึกษา
โดยพื้นที่รอบวัด โรงเรียน และ ชุมชน สามารนำมาปรับปรุงเป็นพื้นที่เชื่อมต่อวัฒนธรรมและพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ร่วม ของ บ -ว -ร หรือ บ้าน วัด และ โรงเรียน ผ่านการปรับปรุง เปลี่ยนภูมิทัศน์ที่เสื่อมโทรมให้กลายไปเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ โดยการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำภายในวัดให้เป็น สวนสาธารณะ และ พื้นที่สีเขียวเพื่อสุขภาพ และสามารถปรับปรุงให้เป็นทางวิ่งหรือทางจักรยาน ให้ประชาชนในเขตดุสิตสามารถมาออกกำลังกาย และรับอากาศบริสุทธิ์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์เรียนรู้นอกห้องเรียน ทำให้เยาวชนชาวดุสิตได้เรียนรู้อัตลักษณ์ชุมชน ผ่านการทำศูนย์การเรียนรู้ชุมชน สนามเด็กเล่น และลานกีฬา เพื่อพัฒนาทักษะและส่งเสริมสุขภาพให้กับนักเรียนภายในและนอกชุมชน ให้ห่างไกลยาเสพติด
โดยการออกแบบนั้น ต้องมาจาก People First Design Thinking โดยต้อง
-เข้าใจบริบทและออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์และ อัตลักษณ์ชุมชน
-สร้างโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในท้องถิ่นและต่อยอดโอกาสทางเศรษฐกิจในอนาคต
-ออกแบบโดยคำนึงถึงผลระทบที่มีต่อแม่น้ำมากที่สุด
-พัฒนาพื้นที่ร่วมกับชุมชน ทั้งภาครัฐ และประชาชน เพื่อให้ทุกคนได้ใช้พื้นที่ร่วมกัน และเป็นพื้นที่ที่ทุกคนเข้าถึง