"ร.1รอ." วังวนอำนาจ "3 ป." จาก M79 สู่ ระเบิดปิงปอง
แม้ "ร.1.รอ." จะแปรสภาพเป็น "ร.1 ทม.รอ." แต่ภาพลักษณ์ทางการเมืองที่เกี่ยวโยงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ก็ยังคงเป็นป้อมค่ายของ "พี่น้อง 3 ป" เพราะอำนาจต่างๆล้วนเกิดในหน่วยทหารแห่งนี้ทั้งสิ้น
เหตุขว้างระเบิดปิงปิง เมื่อช่วงค่ำวันที่ 10 เม.ย.2565 เข้าไปในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 ทม.รอ.) ในวันครบรอบ 12 ปี สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)หรือ คนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 คงไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
โดยก่อนหน้านี้ "ร.1รอ.ทม." มีชื่อเดิมว่า กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร.1รอ.) ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อและโอนย้ายไปเป็นหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ส่วนราชการในพระองค์ ตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อปี 2562
ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าหน่วยทหารแห่งนี้เป็นแหล่งบัญชาการและขุมกำลังของ "พี่น้อง3 ป." นับตั้งแต่ "บิ๊กป้อม"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เกษียณอายุราชการ ก่อนจะผลักดันให้น้องรักทั้งคู่ "บิ๊กป๊อก" พล.อ.อนุงพงษ์ เผ่าจินดา และ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเก้าอี้ผบ.ทบ.ต่อเนื่องกันมา จนกระทั่งได้เป็น นายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ภายใต้การสนับสนุนของ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
เดิมทีพื้นที่ภายใน ร.1 รอ.นอกจากจะเป็นอาคาร สถานที่ทำงานแล้ว ยังเป็นที่ตั้งบ้านพักหลวง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ ที่มีอาณาเขตติดต่อกับมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดฯ ที่นั่งทำงาน พล.อ.ประวิตร จุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ใช้พบปะทางการเมือง
ปลายปี 2551 พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ ใช้ตึก บัญชาการของกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1พัน1รอ.)เป็นสถานที่จัดตั้งรัฐบาล ทำให้
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี จนถูกเรียกว่า จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
โดยเฉพาะในห้วงที่ต้องรับมือกับม็อบเสื้อแดง เมื่อปี2553 "ร.1 รอ." คือสถานที่พักพิงชั่วคราวของ นายกฯอภิสิทธิ์ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี หลังถูกกลุ่มผู้ชุมนุมไล่ล่า อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ "พี่น้อง 3 ป."ร่วมกันวางกลยุทธ์เผด็จศึกม็อบเสื้อแดงจนแพ้ราบคาบ
"ร.1.รอ." กลายเป็นพื้นที่เป้าหมายของขั้วตรงข้ามทางการเมืองนับตั้งแต่นั้นมา และเคยถูกโจมตีด้วยอาวุธ M79 มาแล้ว โดยพิกัดการยิงมาจากทางด่วนถนนวิภาวดี-รังสิต หวังให้ตกในจุดพักพิงของ "พี่น้อง3 ป." แต่กระสุนพลาดเป้าไปลงที่กองรักษาการ กองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 1มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1พัน4 รอ.)ส่งผลให้ทหารได้รับบาดเจ็บ 2 นาย
หลังเสร็จศึกคนเสื้อแดง "ร.1 รอ." ไม่ได้ถูกลดบทบาท แต่กลับเด่นชัดในเชิงสัญลักษณ์ของ "พี่น้อง3 ป." หลัง พล.อ.ประยุทธ์ ทำรัฐประหารปี 2557 กวาดต้อนนักการเมือง แกนนำม็อบ ต้นตอก่อวิกฤติการเมืองในขณะนั้นทั้ง เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ นปช. กปปส. ไปกักตัวในพื้นที่หน่วยทหารดังกล่าว
จนกระทั่งมีการจัดตั้งรัฐบาล คสช. ร.1รอ. ก็ยังถูกใช้เป็นพื้นที่ขับเคลื่อนพบปะกับนักเมือง นักธุรกิจ ที่ตบเท้าเดินทางเข้าพบ "พี่น้อง 3 ป." อยู่เนืองๆ ตลอดจนเป็นที่ประชุมลับในช่วงที่เกิดวิกฤติการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านเรื่อยมา
จวบจนการสู้ศึกเลือกตั้งของ พปชร.เมื่อปี 2562 "พี่น้อง 3 ป." ยังคงใช้ ร.1รอ. เป็นฐานที่มั่นติดตามผลการเลือกตั้ง และตามมาด้วยการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารเป็นครั้งที่ 2 โดยมี พปชร.เป็นแกนนำ
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ร.1รอ. ได้รับผลกระทบการชุมนุมทางการเมืองมาโดยตลอด ในขณะที่ มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ถูก โรม สังสิมันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โจมตีอย่างหนักว่าเป็นแหล่งซ่องสุมอำนาจ ดำเนินกิจกรรมผิดวัตถุประสงค์ จนถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาท ไม่เว้นแม้แต่ บ้านพักหลวง ของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ ก็ถูกตั้งข้อสังเกตุถึงความไม่ถูกต้องในการพักอาศัย
แม้ "ร.1.รอ." จะแปรสภาพเป็น "ร.1 ทม.รอ." เหลือเพียง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยังอาศัยบ้านพักหลวง แต่ภาพลักษณ์ทางการเมืองที่เกี่ยวโยงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ก็ยังคงเป็นป้อมค่ายของ "พี่น้อง 3 ป" เพราะอำนาจต่างๆล้วนเกิดในหน่วยทหารแห่งนี้ทั้งสิ้น