"คำนูณ" เผยร่างกม.JSOC คืบหน้า ห่วง2ปมร้อน มีผลย้อนหลัง-พ่วงเกณฑ์ลดโทษ

"คำนูณ" เผยร่างกม.JSOC คืบหน้า ห่วง2ปมร้อน มีผลย้อนหลัง-พ่วงเกณฑ์ลดโทษ

กมธ.พิจารณาร่างกม.JSOC เผยเนื้อหาคืบหน้า คาดทันใช้ภายในสมัยประชุมหน้า แต่ห่วง 2ปมร้อนให้ถกเถียง ทั้งมีผลย้อนหลัง ใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาลดโทษ

            นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) มาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …  วุฒิสภา  หรือ ร่างกฎหมายJSOC โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ถึงความคืบหน้าของการพิจารณาเนื้อหาว่า  อยู่ระหว่างที่กมธ.วุฒิสภาพิจารณา หากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะเกิดการเปลี่ยนนแปลงใหญ่ เนื่องจากมีมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 19 วรรคสองกำหนดให้มีมาตรการทางการแพทย์ และมาตรการอื่นๆ ที่ต้องกำหนดไว้ในกฎกระทรวง และข้อบังคับของประธานศาลฏีกา  โดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เช่น มาตรการกดฮอร์โมนเพศชาติ หรือ ทำให้อวัยวะเพศชายฝ่อ ที่เป็นมาตรการทางการแพทย์ที่ศาลต้องออกเป็นคำสั่ง โดยอัยการต้องเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลไปพร้อมกับคำฟ้อง

 

 

            "ร่างกฎหมายมาตรา 19 วรรคสามกำหนดให้ศาลไต่สวนโดยคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งความรุนแรงของคดี สาเหตุแห่งการกระทำความผิด ประวัติการกระทำความผิด ภาวะแห่งจิต นิสัย และลักษณะส่วนตัวอื่นของผู้กระทำความผิด ความปลอดภัยของผู้เสียหายและสังคม โอกาสในการกระทำความผิดซ้ำ และการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด ทั้งนี้ในการไต่สวน ศาลสามารถเรียกสำนวนการสอบสวนจากอัยการ รับฟังคำคัดค้านของผู้กระทำความผิด รวมทั้งสั่งให้เจ้าพนักงานคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม สืบเสาะและพินิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุมประพฤติ หากศาลเห็นควรออกคำสั่งใช้มาตรการทางการแพทย์หรือมาตรการแก้ไขฟื้นฟูอื่น ๆ ให้รวมไว้ในคำพิพากษา” นายคำนูณ ระบุ

 

            นายคำนูณ ระบุด้วยว่า ในส่วนของกรมราชทัณฑ์จะเป็นผู้ปกิบัติตามคำสั่งศาล ที่จะรวมถึงหมายจำคุกด้วย และให้รายงานผลต่ออัยการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง  ส่วนการยกเลิกมาตรการหรือเปลี่ยนแปลงมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดนั้นทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับผลการใช้มาตรการกับผู้กระทำตามที่กรมราชทัณฑ์รายงาน ทั้งนี้ มาตรการทางการแพทย์ทั้งหมด ร่างกฎหมายกำหนดให้มีความเห็นแพทย์อย่างน้อย 2 คน รวมถึงผู้กระทำความผิดต้องให้ความยินยอม  

\"คำนูณ\" เผยร่างกม.JSOC คืบหน้า ห่วง2ปมร้อน มีผลย้อนหลัง-พ่วงเกณฑ์ลดโทษ

            นายคำนูณ ระบุอีกว่า ทั้งนี้มีประเด็นที่คาดว่าจะกลายเป็นข้อถกเถียงสำคัญในชั้นกรรมาธิการ คือ มาตรา มาตรา 21 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้กรมราชทัณฑ์นำผลของการใช้มาตรการทางการแพทย์ มาใช้ในการพิจารณาลดโทษ พักโทษ หรือให้ประโยชน์อื่นใดอันเป็นผลให้ผู้กระทำความผิดได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดในคำพิพากษาตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์  รวมถึงบทบัญญัติที่ให้มีผลย้อนหลังสำหรับคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาาล และกรณีการปล่อยตัวนักโทษที่กระทำความผิดทางเพศและความผิดที่ใช้ความรุนแรง 

            "หลักการที่ให้มีผลย้อนหลังนี้ เพราะผู้ร่างไม่ถือว่ามาตรการทางการแพทย์หรือมาตรการแก้ไขฟื้นฟูอื่น ๆ ไม่ถือเป็นโทษทางอาญา แต่ถือเป็นมาตรการที่เป็นคุณต่อผู้กระทำความผิดทางเพศหรือความผิดรุนแรงที่ระบุไว้จนติดเป็นนิสัย ควบคุมตัวเองไม่ได้ และถือเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยของสังคมอีก ทั้งนี้ตามตารางทำงานของรัฐสภา ร่างกฎหมาย จะผ่านออกมาบังคับใช้ได้ภายในสมัยประชุมที่จะเปิดวันที่ 22 พฤษภาคม 2565  แต่จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา และ สภาผู้แทนราษฎรจะเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภาหรือไม่ จะต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วมระหว่าง 2 สภาหรือไม่” นายคำนูณ ระบุ