วิบากกรรม “สราวุธ” มหากาพย์คดี “ศาลพระโขนง” ก่อน ก.ต.ลงดาบไล่ออกราชการ
เปิดมหากาพย์คดีปรับปรุงอาคาร “ศาลพระโขนง” 42 ล้านบาท ชนวนเหตุวิบากกรรม “สราวุธ เบญจกุล” อดีตเลขาธิการศาลยุติธรรม ถูกมติ ก.ต.เสียงข้างมากลงดาบ “ไล่ออกจากราชการ”
นับเป็นอดีตข้าราชการระดับสูงในสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ถูกคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ลงมติด้วยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 7 เสียงให้ “ไล่ออกจากราชการ”
สำหรับนายสราวุธ เบญจกุล อดีตเลขาธิการศาลยุติธรรม ที่ดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็นที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักงานศาลยุติธรรม
โดยมติ ก.ต.เห็นว่า นายสราวุธ ผิดวินัยอย่างร้ายแรง จากกรณีการปรับปรุงอาคารศาลพระโขนงในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏพยานหลักฐานว่า มีเอกชนเข้ามาทำงานก่อนประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานอ้างแหล่งข่าวใน ก.ต. ระบุว่า มติไล่ออก 8 ต่อ 7 เสียง เสียงข้างมาก ได้แก่ นายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ นายสมเกียรติ ตั้งสกุล นายปุณณะ จงนิมิตรสถาพร นายเศกสิทธิ์ สุขใจ นายสมชาย อุดมศรีสำราญ นายเจริญวิทย์ เกื้อทิพย์ นายชยกมล เกษมสันต์ นายไผทชิต เอกจริยกร
ส่วนข้างน้อย ได้แก่ นางสาวปิยกุล บุญเพิ่ม ประธาน กต. นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ นายชัยเจริญ ดุษฎีพร นายรุ่งศักดิ์ วงศ์กระสันต์ นายจุมพล ชูวงษ์ นายณรัช อิ่มสุขศรี นายจำนง เฉลิมฉัตร โดย 7 เสียงนี้ ลงมติปลดออกและให้ลดลงเหลือให้ออก
คดีปรับปรุงอาคารศาลพระโขนงเป็นมาอย่างไร กรุงเทพธุรกิจ เรียบเรียงไทม์ไลน์ให้เห็นภาพ ดังนี้
- เอกชนเข้าปรับปรุงก่อนประกวดราคาจ้าง
โครงการปรับปรุงอาคารศาลพระโขนงเป็นศาลแพ่งและศาลอาญาดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงการปรับปรุงศาลมีนบุรี และศาลตลิ่งชัน เป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาพระโขนง และศาลอาญามีนบุรี พ.ศ. 2562
ในช่วงเดือน ม.ค. 2562 หรือก่อนกฎหมายประกาศบังคับใช้นั้น ปรากฏข้อมูลร้องเรียนว่ามีเอกชนบางแห่งส่งพนักงานเข้าไปปรับปรุงอาคารศาลพระโขนง และศาลมีนบุรี ก่อนจะมีการเปิดประกวดราคา และก่อนหน้าที่จะมีการประกาศ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลฯ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2562
โดยในข้อร้องเรียนนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นภาพ และลายเซ็นของผู้รับเหมาของเอกชนแห่งหนึ่ง เข้าไปปรับปรุงอาคารพื้นที่ศาลพระโขนง และศาลมีนบุรี โดยมีคนงานจำนวนหนึ่งเข้ามาดำเนินการด้วย เบื้องต้นในส่วนของศาลมีนบุรี พบว่า มีการขออนุญาตปรับปรุงอาคารระหว่างวันที่ 3-9 ม.ค. 2562 ปรับปรุงรายชั้นตั้งแต่ชั้น 1-10 มีการติดแอร์ มิเตอร์น้ำ-ไฟ เพื่อให้คนงานใช้ โดยมีเอกชนแห่งนี้เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ต่อมา เมื่อ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว สำนักงานศาลยุติธรรมได้เปิดประกวดราคาด้วยวิธีคัดเลือก เพื่อให้เอกชนเข้าไปปรับปรุงอาคารศาลทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ศาลพระโขนง ศาลมีนบุรี และศาลตลิ่งชัน
- เอกชนผู้ชนะประกวดราคา คู่สัญญาศาลยุติธรรม 812 ล้าน
โดยการปรับปรุงอาคารศาลทั้ง 3 แห่ง พบว่า มีผู้ชนะการประกวดราคา ได้แก่ บริษัท โปรเกรส ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ชนะราคาปรับปรุงศาลพระโขนง วงเงิน 42,342,000 บาท และชนะประกวดราคาศาลมีนบุรี 45,280,000 บาท โดยเมื่อตรวจสอบพบว่า ในการยื่นประกวดราคาปรับปรุงอาคารศาลทั้ง 2 แห่ง เป็นเอกชน 3 รายเหมือนกันทั้งหมด ได้แก่ บริษัท โปรเกรส ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท ออกัสท์ เดคอเรชั่น จำกัด และ หจก.ศรีกรุงทวีกิจการก่อสร้าง
ข้อมูลของบริษัท โปรเกรส ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2539 ทุนปัจจุบัน 5 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 259/11 ซ.วิภาวดีรังสิต 70 (พัชราภา) แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. แจ้งประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ปรากฏชื่อนายสุรศักดิ์ ประสิทธิ์พันธ์ เป็นกรรมการ
นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2563 มีรายได้รวม 151,606,017 บาท รายจ่ายรวม 144,509,842 บาท เสียภาษีเงินได้ 1,552,986 บาท กำไรสุทธิ 7,096,175 บาท
จากการตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบว่า บริษัทแห่งนี้เป็นคู่สัญญากับสำนักงานศาลยุติธรรมระหว่างปี 2551-2563 อย่างน้อย 30 สัญญา รวมวงเงินอย่างน้อย 843.2 ล้านบาท
- คตง.ชง ป.ป.ช.ไต่สวน-ปธ.ศาลฎีกาตั้ง กก.สอบด้วย
ประเด็นของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อผู้พิพากษาที่เปิดโปงเรื่องนี้ นำเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กระทั่งนำไปสู่การนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) โดยท้ายที่สุด คตง.พิจารณาจากรายงานของนายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้ว่าฯ สตง.) แล้วมีมติว่า การกระทำดังกล่าวน่าจะเข้าข่ายการกระทำที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้วฯ) จึงส่งเรื่องให้แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนต่อไป
โดยสำนักงาน ป.ป.ช. มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องนี้ มีนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข กรรมการ ป.ป.ช. ที่เคยเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี มาเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ปัจจุบันเรื่องยังอยู่ระหว่างการไต่สวน
ในช่วงเวลาเดียวกันนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา (ขณะนั้น) ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีนี้ด้วย
- เบื้องหลังคนขับรถประจำ กก.ป.ป.ช.สะกดรอยผู้พิพากษา
เรื่องราวที่คาบเกี่ยวกันคือ เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล รองประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ และกรรมการ ก.ต. ได้แจ้งความต่อตำรวจ สน.พหลโยธิน ว่า ถูกรถยนต์คันหนึ่งขับตามตั้งแต่ออกจากบ้านพัก จนมาถึงศาลอุทธรณ์ ถ.รัชดาภิเษก
จากการตรวจสอบของตำรวจพบว่า ป้ายทะเบียนรถคันดังกล่าว มีเจ้าของรถเป็น พนักงานขับรถประจำตัวของกรรมการ ป.ป.ช. รายหนึ่ง ทำให้ตำรวจประสานมายังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อขอติดต่อกับพนักงานขับรถรายนี้ โดยเจ้าตัวยอมรับสารภาพว่าทำจริง แต่อ้างว่านายอนุรักษ์ขับรถปาดหน้า จึงขับตามไปยังศาลอุทธรณ์ ทำให้ตำรวจทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ส่งตัวพนักงานขับรถรายนี้มาสอบสวนอย่างเป็นทางการ
ทำให้เกิดประเด็นดราม่าในกลุ่มไลน์ผู้พิพากษาทันที เนื่องจากนายอนุรักษ์ คือหนึ่งในตัวตั้งตัวตีเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลโครงการปรับปรุงอาคารศาลพระโขนง ทำให้มีการผูกโยงเรื่องว่าอาจเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่ ทว่าเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา กรรมการ ป.ป.ช. รายนี้ ได้เขียนข้อความผ่านไลน์กลุ่มเพื่อนผู้พิพากษา ที่มีนายอนุรักษ์อยู่ด้วย เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง โดยยอมรับว่าบุคคลดังกล่าวเป็นพนักงานขับรถ 1 ใน 2 คนของตนจริง แต่ไม่ได้สั่งการให้สะกดรอย พร้อมกับขอโทษนายอนุรักษ์แล้ว
ต่อมานายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น) ให้สัมภาษณ์ว่า พนักงานขับรถของกรรมการ ป.ป.ช. รายนี้ ได้แจ้งลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา แต่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือถึงทะเบียนราษฎร์ของพนักงานขับรถรายนี้ เพื่อประสานขอให้ไปพบพนักงานสอบสวน
ขณะที่ฝั่งตำรวจ สน.พหลโยธิน ดำเนินการเรียกตัวพนักงานขับรถรายนี้มาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ทว่าไม่มีการตอบรับกลับมา ทำให้พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ดำเนินการออกหมายจับพนักงานขับรถรายนี้ พร้อมกับส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปค้นที่บ้าน แต่ไม่พบตัวแต่อย่างใด
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่าตำรวจได้นำตัวพนักงานขับรถรายนี้ มาสอบปากคำแล้วหรือไม่
- ก.ต.ลุยสอบข้อเท็จจริง-ผ่าน ปธ.ศาลฎีกา 3 สมัยถึงลงดาบ
ในส่วนการสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานศาลยุติธรรมนั้น พบว่า เรื่องราวยาวนานผ่านระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของประธานศาลฎีกาถึง 3 คน ได้แก่ นายไสลเกษ วัฒนพันธ์ (คนตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง) นางเมทินี ชโลธร และนางปิยกุล บุญเพิ่ม (ประธานศาลฎีกา คนปัจจุบัน) โดยปรากฏชื่อผู้บริหารระดับสูงที่ถูกร้องเรียนเรื่องดังกล่าวคือ นายสราวุธ เบญจกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการศาลยุติธรรม (ขณะนั้นไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักงานศาลยุติธรรมแล้ว)
พลันที่นายสไลเกษ ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมานั้น คณะกรรมการชุดดังกล่าวสรุปผลการสอบเสนอที่ประชุม ก.ต. พิจารณาช่วงเดือน เม.ย. 2564 อย่างไรก็ดี นายสราวุธที่ถูกร้องเรียนเรื่องนี้ ทำหนังสือขอความเป็นธรรม และคัดค้าน โดยเห็นว่า ก.ต. ไม่มีอำนาจดำเนินการทางวินัยร้ายแรง ต่อมาในการประชุม ก.ต. เมื่อ 17 พ.ค. 2565 ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 10-5 เสียง เห็นว่า แม้ผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานศาลยุติธรรมย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่นภายในสำนักงานศาลยุติธรรมแล้วก็ตาม แต่ ก.ต. ยังคงมีอำนาจดำเนินการทางวินัย ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 22 (1) และมาตรา 75 วรรคหนึ่ง โดยหลังจากนี้ประธานศาลฎีกาจะดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543
นายสราวุธ ร้องขอความเป็นธรรมอีกครั้ง โดยนางเมทินี เมื่อครั้งเป็นประธานศาลฎีกา ให้โอกาสเข้าชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในวันที่ 5 ก.ค. 2564 ก่อนที่เดือน ส.ค. 2564 นางเมทินี ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงกับนายสราวุธ หลังจากนั้นมีการชงที่ประชุม ก.ต.เพื่อขอให้พักราชการนายสราวุธไว้ก่อน แต่ที่ประชุม ก.ต. มีมติ 8-7 เสียง ยังไม่พักราชการนายสราวุธ เนื่องจากให้รอผลการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงก่อน
ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยมีความเห็น และนำเสนอเรื่องต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการตุลาการ (อนุ ก.ต.) โดยที่ประชุมอนุ ก.ต.เห็นว่า นายสราวุธ มีความผิดวินัย 18 ต่อ 2 เสียง ผิดวินัยร้ายแรง 15 ต่อ 5 เสียง แต่เห็นว่ากรณีดังกล่าวไม่เป็นการทุจริต 14 ต่อ 6 เสียง และเห็นสมควรให้ลงโทษให้ออกหรือปลดจากราชการ 13 ต่อ 7 เสียง ซึ่งยังมีสิทธิ์ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ ทั้งนี้จะมีการเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการตุลากรศาลยุติธรรม (ก.ต.) 15 คน พิจารณาผลเป็นทางการต่อไป
อย่างไรก็ดีพอเรื่องเข้ามาสู่ที่ประชุม ก.ต. จึงมีมติสวนทางความเห็นของคณะอนุ ก.ต.ที่เห็นสมควรลงโทษให้ออกหรือปลดออกจากราชการ เป็นไล่ออกจากราชการดังกล่าว
- “บิ๊กตู่” ตั้งเป็น อ.ก.ตร.อุทธรณ์-เจ้าตัวสมัคร “ผู้ว่าฯ กทม.” ด้วย
ในช่วงเวลาที่นายสราวุธ ถูกสอบสวนอยู่นั้น ได้ดำรงตำแหน่งอื่นด้วย เช่น กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) โดยเจ้าตัวได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งทั้งหมด
ขณะเดียวกันนายสราวุธ ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) แต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับการอุทธรณ์ (อ.ก.ตร.อุทธรณ์) ด้วย
ปัจจุบันนายสราวุธ ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ในนามอิสระ เบอร์ 28
ทั้งหมดคือมหากาพย์คดี “ศาลพระโขนง” ที่ส่งผลกระทบมายัง “สราวุธ เบญจกุล” โดยคดีทางปกครองถือว่าสิ้นสุดลงไปแล้ว เนื่องจาก ก.ต.มีมติไล่ออกจากราชการ หลังจากนี้นายสราวุธมีสิทธิ์ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อไป
ส่วนคดีอาญานั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนของสำนักงาน ป.ป.ช. ยังคงไม่มีความคืบหน้าในส่วนนี้แต่อย่างใด