หมูรายย่อย เลี้ยงอย่างไร ให้รอดปลอดภัย

หมูรายย่อย เลี้ยงอย่างไร ให้รอดปลอดภัย

"หมูรายย่อย เลี้ยงอย่างไร ให้รอดปลอดภัย" เคล็ดลับความสำเร็จการเลี้ยง "หมูรายย่อย" เลี้ยงอย่างไร ให้รอดปลอดภัย

ถอดสูตรคิด เรียนรู้ความสำเร็จจากเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย สู่แนวทางบริหารจัดการระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์ม และวิธีการเลี้ยงอย่างไรให้ปลอดภัย ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค
 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวการระบาดของโรคทำให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยล้มหายไปจากระบบกว่าครึ่ง แต่เมื่อสถานการณ์ค่อยๆ คลี่คลาย สิ่งแรกที่ต้องกลับมาทบทวนคือ พื้นฐานของระบบการป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์ม เพราะเป็นทางเดียวที่จะป้องกันโรคต่างๆ ได้อย่างดี และมีประสิทธิภาพที่สุด
 

กรมปศุสัตว์ โดยกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ จึงได้ดำเนินการสุ่มสำรวจเก็บข้อมูลเกษตรกร ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันโรค และประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการฟาร์มเลี้ยงหมู ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ถอดสูตรคิดออกมาเป็นแนวทางจัดการฟาร์มในด้านต่างๆ ดังนี้
 

การขึ้นทะเบียนฟาร์ม

ความสำเร็จในการบริหารจัดการฟาร์ม สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การขึ้นทะเบียนฟาร์ม จากการสำรวจ พบว่า เกษตรกรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนภายใต้กรมปศุสัตว์ที่ขับเคลื่อนและดูแลโดยปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ และ อาสาปศุสัตว์ ช่วยให้เข้าถึงความรู้ และความช่วยเหลือหากประสบกับโรคระบาดในสัตว์
 

การจดบันทึกข้อมูล

มีการจดบันทึกข้อมูลภายในฟาร์ม เช่น การใช้ยาหรือวัคซีน รวมไปถึงเวชภัณฑ์ต่างๆ การผสมเทียม การตั้งท้อง การคลอดลูก การเจ็บป่วย การให้อาหารในช่วงอายุต่างๆ ตลอดจนความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน และง่ายต่อการบริหารจัดการฟาร์ม

หมูรายย่อย เลี้ยงอย่างไร ให้รอดปลอดภัย

หมูรายย่อย เลี้ยงอย่างไร ให้รอดปลอดภัย

การเข้มงวดระบบความปลอดภัยในฟาร์ม

การจัดระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มอย่างเข้มงวด ช่วยป้องกันโรคระบาดต่างๆ จากภายนอกได้ดี โดยมีแนวทาง ดังนี้

1. มีการพ่นยาฆ่าเชื้อ  ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ อุปกรณ์ หรือยานพาหนะต้องผ่านการฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์มทุกครั้ง มีประตูหน้าฟาร์มที่ปิดมิดชิด และไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าฟาร์มโดยไม่ได้รับอนุญาต

2. มีการจัดทำคู่มือการเลี้ยงไว้ในฟาร์ม การจดบันทึกการเลี้ยงเพื่อใช้ในการในแต่ละวัน

3. รอบๆ โรงเรือนมีการใช้มุ้งเขียวล้อมรอบบริเวณ เพื่อป้องกันพาหะของโรค เช่น นก หนู แมลงต่างๆ รวมถึงสุนัขต้องไม่สามารถเข้าไปในโรงเรือนได้

4. ที่ตั้งฟาร์มควรอยู่นอกชุมชน มีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าและอาบน้ำก่อนเข้าฟาร์ม

5. บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม ต้องได้รับความรู้และข้อมูลการจัดการฟาร์มที่ถูกต้อง

หมูรายย่อย เลี้ยงอย่างไร ให้รอดปลอดภัย

หมูรายย่อย เลี้ยงอย่างไร ให้รอดปลอดภัย
 

การเข้าสู่มาตรฐานฟาร์ม

เกษตรกรต้องมีการป้องกันโรค มีระบบการจัดการสุขภาพสัตว์ มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรค การถ่ายพยาธิตามโปรแกรม ตลอดจนการติดตามข้อมูลข่าวสารด้านปศุสัตว์จากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ และหน่วยงานเอกชนอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ มีการจัดระบบการเลี้ยงตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ โดยจัดให้มีโรงเรือนที่เหมาะสม ภายในโรงเรือนประกอบด้วย คอกพ่อแม่พันธุ์ คอกอนุบาล คอกหมูขุน มีน้ำและอาหารให้กินอย่างเต็มที่ตามความต้องการในแต่ละช่วงอายุ รวมทั้งมีแผนการเพิ่มจำนวนพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ เพื่อผลิตลูกหมูที่มีคุณภาพ การเลี้ยงภายใต้มาตรฐานฟาร์ม ทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น
 

ทั้งหมดนี้คือ เบื้องหลังความสำเร็จจากการถอดบทเรียนในการบริหารจัดการฟาร์ม ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ซึ่งนอกจากช่วยป้องกันโรคจากภายนอกเข้าสู่ฟาร์มแล้ว ยังเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคอีกด้วย  นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การนำเข้ามาเลี้ยงใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ป้องกันโรคระบาด และลดการสูญเสียของเกษตรกรอีกด้วย

หมูรายย่อย เลี้ยงอย่างไร ให้รอดปลอดภัย

หมูรายย่อย เลี้ยงอย่างไร ให้รอดปลอดภัย