โปร่งใส มีส่วนร่วม ตรวจสอบได้

โปร่งใส มีส่วนร่วม ตรวจสอบได้

โปร่งใส มีส่วนร่วม ตรวจสอบได้ ใช้เทคโนโลยีช่วยประหยัดงบประมาณ ลงทุนน้อยแต่ได้มาก

DGA ร่วมกับ กทม. โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ ผลักดัน การเปิดเผยข้อมูล เน้นการมีส่วนร่วม ตรวจสอบได้ ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลให้บริการของ กทม. สะดวก รวดเร็ว ทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ
 

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA นำโดย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และคณะผู้บริหาร DGA ให้การต้อนรับ รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ และ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ และคณะทำงานผู้ว่าฯ พร้อมด้วย นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. และ นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ประชุมความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ณ สำนักงาน DGA
 

โดย ผู้ว่าฯ ชัชชาติ แถลงภายหลังประชุมว่า ในฐานะที่ DGA เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันภาครัฐสู่รัฐบาลดิจิทัล จึงมั่นใจว่าความร่วมมือในการผลักดันกรุงเทพฯ สู่เมืองที่มีบริการดิจิทัลจะสามารถตอบโจทย์คนทุกช่วงวัย ได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านโครงการสำคัญๆ ดังนี้        
 

1. Open Bangkok Open Data ซึ่งกรุงเทพฯ ได้เปิดข้อมูลให้ประชาชนสามารถนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ได้ผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ เว็บไซต์ data.go.th ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมเปิดข้อมูลกว่า 6,028 ชุดข้อมูล และมีภาษีไปไหน เว็บไซต์ govspending.data.go.th ที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมสามารถเข้าถึงระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐได้ผ่านออนไลน์ ซึ่ง กทม.ก็จะเริ่มนำข้อมูลงบประมาณปี 2566 ขึ้นเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนเห็นข้อมูล และจะนำสัญญาต่างๆ มาเปิดเผยเพิ่มมากขึ้น

2. แพลตฟอร์มดิจิทัลบริการประชาชน และภาคธุรกิจ มีศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการมิติใหม่ติดต่อราชการ ที่เว็บไซต์ info.go.th สำหรับบริการค้นหาข้อมูล และจุดบริการภาครัฐ นอกจากสามารถนำทางไปยังหน่วยงานได้แล้ว สามารถดูรายละเอียดบริการของหน่วยงานต่างๆ ได้ ทั้งบอกระยะเวลาการดำเนินการ ค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ไม่ว่าจะอยู่ตรงมุมไหนของกทม. หรือส่วนไหนของประเทศก็เข้าถึงระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) ได้ผ่าน ‘แอปพลิเคชันทางรัฐ’ ทั้งเรื่องการตรวจสอบสิทธิสวัสดิการ และบริการต่าง ๆ ของรัฐ เช่น เช็กเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด, ข้อมูลประกันสังคม, สิทธิการรักษาพยาบาล และกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นต้น ซึ่งกทม.กำลังหารือในเรื่องการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยความพิการด้วย
 

นอกจากนี้ ระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ เว็บไซต์ bizportal.go.th ก็สามารถรองรับการขอใบอนุญาต 90 ใบอนุญาต ใน 25 ธุรกิจ โดยติดตามความคืบหน้าในการขอบริการ (Tracking) ได้เองง่ายๆ ซึ่งกทม. ก็กำลังหารือเรื่องการขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 13 บริการ และหนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายเพิ่มเติมด้วย
 

3. การพัฒนาเอกสารหลักฐานทางการศึกษารูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) ซึ่ง DGA ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปลี่ยนแปลงการใช้กระดาษสู่เอกสารดิจิทัล โดยปัจจุบันมี 39 มหาวิทยาลัยที่ให้บริการ Digital Transcript ได้ และมีหน่วยงานรัฐและเอกชนที่พร้อมรับเอกสาร Digital Transcript แทนทรานสคริปต์รูปแบบกระดาษแล้วกว่า 16 แห่ง และอยู่ระหว่างเตรียมร่วมมือกับ สพฐ. เพื่อขยายผลโครงการไปยังระดับมัธยมปลาย รวมถึงโรงเรียนสังกัด กทม. และศูนย์ฝึกอาชีพฯ ต่อไป

และ 4. เครื่องมือสนับสนุนการพัฒนาทักษะบุคลากร สถาบัน TDGA ภายใต้การกำกับดูแลของ DGA พร้อมสนับสนุนให้ความรู้ด้านทักษะดิจิทัลให้กับเจ้าหน้าทั้ง 50 เขต ใน กทม. ด้วยเครื่องมือต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการอัปสกิล เช่น ระบบ DG Learning Portal สำหรับการเรียนออนไลน์ ระบบ DG Course Match สําหรับการสืบค้นและให้ข้อมูลหลักสูตรฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลที่สอดคล้องกับสมรรถนะของคนภาครัฐ เป็นต้น
 

“สิ่งสำคัญที่สุดของกทม. คือการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน เพิ่มความโปร่งใสและลดขั้นตอนต่างๆ โดยให้กระบวนการทำงานเป็นดิจิทัลให้มากขึ้น ลดการใช้ดุลยพินิจของบุคคล และพยายามเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้มากขึ้นซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้นด้วย สำหรับการประชุมในวันนี้ DGA และ สำนักงาน กพร. มีหลายโครงการที่ดีมากๆ ที่จะช่วยให้การทำงานกทม.มีประสิทธิภาพมาก ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเรื่องเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ใช้งบประมาณไม่เยอะแต่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะเรื่องใบอนุญาตหากสามารถทำให้เป็น One Stop Service ได้ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการรายใหม่เริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้จะมีการประชุมพบปะเพื่ออัปเดตความก้าวหน้าโครงการต่างๆ กันทุกเดือน เพราะหากหน่วยงานของรัฐสามารถผูกเกลียวให้เหนียวแน่นระหว่างกันได้ก็จะสามารถร่วมกันดึงเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้ประโยชน์สูงสุด”
 

ด้าน ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ กล่าวว่า DGA มีความพร้อมที่จะร่วมเดินไปข้างหน้ากับกทม. และหน่วยงานพันธมิตรเพื่อขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ภายใต้แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ให้เกิด ‘บริการภาครัฐสะดวก โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน’ ทั้งในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนสามารถนำไปประมวลผลและใช้ประโยชน์ต่อได้ การเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามความคืบหน้าและแสดงความคิดเห็นโครงการต่างๆ ของกทม.ได้ การให้ประชาชนสามารถตรวจสอบเบี้ยผู้สูงอายุ และเบี้ยผู้พิการได้ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ ที่มีการเชื่อมข้อมูลกับกรมบัญชีกลาง และได้รับความร่วมมือกับกระทรวง พม. ช่วยให้สามารถตรวจสอบสิทธิประโยชน์ของตนเองได้ครบถ้วน ขณะเดียวกันก็มีเว็บไซต์ bizportal.go.th ให้ผู้ประกอบการสามารถขออนุญาตในการประกอบธุรกิจออนไลน์ ซึ่งต่อไปก็จะมีเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์ และจะมีการทำโครงการ Digital Transcript สำหรับโรงเรียนในสังกัดกทม. และศูนย์ฝึกอาชีพ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ที่เรียนจบและจะได้รับความสะดวกในการสมัครงานและไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกปลอมแปลงเอกสาร และสุดท้าย DGA พร้อมให้ความร่วมมือในเรื่องการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลบุคลากรของกทม. โดยอาจจะมีการจัดแคมป์ร่วมกันเพื่อพัฒนาอาสาสมัครเทคโนโลยีของกทม.ที่จะเข้าไปช่วยคนในชุมชนให้สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของภาครัฐได้ รวมถึงมีแหล่งเรียนรู้ให้บุคลากรของกทม.เข้ามาพัฒนาทักษะตนเองได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ผ่านระบบดิจิทัลของภาครัฐในทุกช่วงชีวิตตามความคาดหวังของคนในยุคดิจิทัลว่า ต่อไปจะสามารถใช้บริการภาครัฐได้ 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องรอเวลาราชการ