GISTDA เปิดบ้านโชว์ความพร้อมผลักดันเศรษฐกิจอวกาศไทยสู่เวทีโลก

GISTDA เปิดบ้านโชว์ความพร้อมผลักดันเศรษฐกิจอวกาศไทยสู่เวทีโลก

GISTDA จัดกิจกรรม GISTDA Open House “Beyond the Limit” ครั้งที่ 1 เพื่อเปิดบ้านต้อนรับกลุ่มผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมอวกาศ เข้าเยี่ยมชมภารกิจด้านกิจการอวกาศ พร้อมนำเสนอความพร้อมของศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ

       กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จัดกิจกรรม GISTDA Open House “Beyond the Limit” ครั้งที่ 1 เพื่อเปิดบ้านต้อนรับกลุ่มผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมอวกาศ เข้าเยี่ยมชมภารกิจด้านกิจการอวกาศ พร้อมนำเสนอความพร้อมของศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ (National Assembly Integration and Test: AIT) และความสำเร็จของประเทศไทยในการสร้างดาวเทียมสำรวจโลกที่มีชื่อว่า THEOS-2A ซึ่งทีมวิศวกรไทยกว่า 22 คน และผู้ประกอบการในประเทศมีส่วนสำคัญในการออกแบบ พัฒนา และร่วมผลิต ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันอังคารที่ 2 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา

 

        “เศรษฐกิจอวกาศคือเป้าหมายสำคัญที่ GISTDA กำลังเร่งผลักดันและสร้างการสนับสนุนผ่านการดำเนินงานในโครงการ THEOS-2 เพื่อให้ประเทศไทยมีดาวเทียมเป็นของตัวเอง อีกทั้ง ยังพัฒนาทรัพยากรบุคคล พัฒนาองค์ความรู้ด้านการสร้างและผลิตดาวเทียม รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศที่ได้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมอวกาศของไทยให้ก้าวเข้าสู่เวทีโลกได้อย่างมั่นคง” โดยกิจกรรม GISTDA Open House “Beyond the Limit” ประกอบไปด้วย 2 ช่วง ได้แก่

 

 

GISTDA เปิดบ้านโชว์ความพร้อมผลักดันเศรษฐกิจอวกาศไทยสู่เวทีโลก

ช่วงแรก - สัมมนาเชิงปฏิบัติการกับหน่วยงานพันธมิตร: แนวทางการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ THEOS-2 เพื่อนำเสนอกับหน่วยงานพันธมิตรโดยตรงถึงศักยภาพของดาวเทียมสำรวจโลกดวงใหม่ เช่น ประสิทธิภาพและคุณภาพของภาพจากดาวเทียมที่มีความละเอียดสูง และแนวทางการประยุกต์ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมภายใต้โครงการ THEOS-2 อาทิ การบริหารจัดการผังเมือง การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการด้านการเกษตร การจัดการภัยพิบัติ โดยเฉพาะการพัฒนาข้อมูลจากดาวเทียมสู่การประยุกต์ใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาด หรือที่เรียกว่า AIP (Actionable Intelligence Policy) เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลจากดาวเทียมไปใช้ในการกำหนดนโยบายสำคัญของประเทศได้จริง รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริหาร

 

GISTDA เปิดบ้านโชว์ความพร้อมผลักดันเศรษฐกิจอวกาศไทยสู่เวทีโลก

ช่วงที่สอง - GISTDA เปิดบ้านให้หน่วยงานพันธมิตรได้รับชมการทำงานและความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ภายในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ได้แก่ ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ หรือ AIT เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคต ศูนย์ควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียม THEOS-2 ศูนย์ปฏิบัติการความเป็นเลิศและนวัตกรรมการบินและอวกาศ หรือ GALAXI Lab ที่ให้บริการผู้ประกอบการและนักศึกษาในอุตสาหกรรมทั้งยานยนต์ อากาศยาน และอวกาศยาน หรือชิ้นส่วนระดับ Industrial Grade ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Technology Research Center (S-TREC) ซึ่งมีระบบจัดการจราจรอวกาศ (Space Traffic Management System) หรือ ZIRCON ซึ่งทีมนักวิจัยของ GISTDA พัฒนาขึ้นเอง และสามารถวิเคราะห์คาดการณ์แจ้งเตือนการตกของชิ้นส่วนจรวดลองมาร์ช 5 บี ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Microgravity Experiment Laboratory) เพื่อยกระดับงานวิจัยไทยให้มีโอกาสได้ทดลองงานวิจัยในสภาวะอวกาศ หรือ microgravity ที่ระดับไมโคร G ซึ่งจะส่งผลให้ผลลัพธ์งานวิจัยแตกต่างออกไปจากเดิม ด้วยพฤติกรรมจากอวกาศ และสามารถใช้เป็นสมมติฐานในการวิจัยจริงในอวกาศ การสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อใช้งานในอวกาศ หรือการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้