การศึกษา - สุขภาวะ เรื่องดีๆ ที่ต้องไปด้วยกัน

การศึกษา - สุขภาวะ เรื่องดีๆ ที่ต้องไปด้วยกัน

 

อีกหนึ่งเรื่องเล็กๆ ที่คาดไม่ถึงว่า แค่พูดไม่ได้ อ่านไม่ออกจะกลายเป็นอุปสรรคการสะกัดกั้นการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ

แต่นี่คือเรื่องจริงที่ถูกสะท้อนโดย ลัดดาวัลย์ หลักแก้ว จากมูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท (มยช.) ถึงสถานการณ์ในด้านโอกาสของประชากรข้ามชาติกับการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพในประเทศไทย

โดยจากการที่ ลัดดาวัลย์ เป็นผู้จัดการโครงการ “สร้างเสริมสุขภาวะประชากรข้ามชาติโดยระบบการศึกษา” หนึ่งในงานขับเคลื่อนงานสุขภาวะของกลุ่มประชากรข้ามชาติ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ซึ่งมีภารกิจสำคัญคือการยกระดับการจัดการด้านการศึกษาสำหรับลูกหลานแรงงานข้ามชาติ และยังเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่จะเฉลยคำตอบว่า ทำไมเรื่องสุขภาวะและการศึกษาต้องไปด้วยกัน

เธอเล่าว่าในกลุ่มประชากรข้ามชาติ จะเห็นชัดเจนว่าทำไมต้องการการศึกษา

เพราะมีปัญหาพูดคุยกับบุคลากรในโรงพยาบาล หรือเมื่อต้องติดต่อกับหน่วยงาน แม้แต่ในชีวิตการทำงานหรือชีวิตประจำวัน ความไม่รู้หนังสือหรือไม่สามารถสื่อสารได้ ยังเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้นอีกเช่นกัน

 “การศึกษาที่ทำให้พวกเขาอ่านออก พูด หรือเขียนได้ ซึ่งสะดวกต่อการสื่อสารที่เข้าใจกับบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ให้บริการ นำไปสู่การดูแลในเรื่องสุขภาวะทั้งสี่มิติ”

ทว่าแม้การศึกษา เป็นหนึ่งในปัจจัยทางสังคมที่สำคัญที่สามารถช่วยลดช่องว่างและความไม่เป็นธรรมทางสุขภาวะของสังคม แต่ปัจจุบันยังมีเด็กและกลุ่มแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา และนำไปไปสู่อุปสรรคในการเข้าถึงการมีสุขภาวะ

มีข้อมูลพบว่า ก่อนปี 2555 เด็กต่างด้าวในไทยเข้าถึงการศึกษาน้อยมาก ภรณี ภู่ประเสริฐ รักษาการผู้อำนวยการสำนักประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. เปิดเผยว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาวะของกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมืองและประชากรข้ามชาติ พ.ศ.2560-2563 ของสำนัก9 นั้น จึงมีเป้าหมายในการผลักดันทั้ง “นโยบาย กลไก และแนวปฏิบัติ” ที่เอื้อต่อการเข้าถึงการศึกษา และการสร้างเสริมสุขภาพ

“การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาเป็นปัจจัยทางสังคมที่สำคัญอันส่งผลต่อสุขภาพ โดย สสส. และภาคีทำงานร่วมกันตั้งแต่การส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษา การวิเคราะห์สถานการณ์ด้านสุขภาพ วางแผน จัดรูปแบบบริการสุขภาพที่เหมาะสม กำหนดการวัดติดตามประเมินผล ไปจนถึงการจัดบริการการศึกษาและบริการสุขภาพ อาทิ การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ การสร้างเสริมภาวะโภชนาการ อาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น”

แต่เมื่อการศึกษาในระบบเป็นอุปสรรค เพราะในโรงเรียนบางแห่งยังปฏิเสธเด็ก ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขด้านเอกสารหรือความไม่พร้อมใดๆ นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีหลักสูตรพื้นฐานสำหรับเด็กที่พูดภาษาไทยเท่านั้น จึงไม่เอื้อต่อการได้รับการศึกษาของเยาวชนต่างด้าว

ลัดดาวัลย์เล่าต่อว่าการดำเนินโครงการจึงต้องหันมาหารูปแบบการศึกษาทางเลือกอื่น เช่น ระบบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) และการศึกษาในศูนย์การเรียน ที่มักจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ที่มีประชากรข้ามชาติอาศัยอยู่หนาแน่น

 “ที่ผ่านมาเรามีความร่วมมือ และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในด้านการศึกษาสำหรับเยาวชนกลุ่มนี้ร่วมกับ กศน.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยหวังว่าจะสามารถนำแนวทางดังกล่าวที่ได้มาพัฒนาเป็นกลไกในการดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตร สภาพแวดล้อม เพื่อให้กลุ่มประชากรต่างด้าวได้เข้าถึงการศึกษาในไทยมากขึ้น ซึ่งตอนนี้นโยบายโอเคแล้ว แต่ติดขัดตรงการนำนโยบายไปปฏิบัติ” ลัดดาวัลย์เสริม

ในกระบวนการทำงาน ขาหนึ่งคือขับเคลื่อนระดับจังหวัด อีกขาคือการนำร่อง เพื่อนำข้อมูลมาถอดบทเรียน ก่อนจัดทำเป็นแนวปฏิบัติต่อไป

การดำเนินการดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากฝั่งรัฐบาลเมียนมาในหลายส่วน โดยเฉพาะด้านหลักสูตร มีการกระตุ้น กศน.เปลี่ยนจากการตั้งรับที่ทำให้เข้าถึงน้อยหรืออุปสรรค เป็นการทำงานเชิงรุก ซึ่งปัจจุบันสามารถรุกไปถึงสถานประกอบการเลยทีเดียว เพราะโครงการสนับสนุนให้ กศน. มาจับมือกับสถานประกอบการ

 “ชุมพร” เป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งแรกในการนำร่องกลไกยุทธศาสตร์จัดการศึกษาระดับจังหวัด โดยหลังมีการจัดการศึกษาสำหรับเยาวชนกลุ่มนี้ ทำให้เห็นภาพการทำงานที่ชัดเจน จนสามารถสร้างกลไกและกระบวนการ นำมาสู่แผนปฏิบัติการ และต่อมาโครงการจึงขยายไปที่แม่สอด แม่ระมาด พบพระ และ “จังหวัดระนอง” ซึ่งถือเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรก ที่มีการนำร่องในพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ชายขอบ

“เราจัดการที่ระนองเพื่อศึกษากระบวนการจัดการการศึกษาสำหรับประชากรเยาวชนต่างด้าวที่อยู่ในพื้นที่ชั้นใน ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และควรจะนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ เช่นกรุงเทพฯ อย่างไร เป็นต้น”

ซึ่งข้อมูลสถิติการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ณ วันที่ 21 กรกฏาคม 2559 ของสำนักงานแรงงานจังหวัดระนอง มีจำนวน  63,784 คน ส่วนจำนวนบุตรหลานแรงงานข้ามชาติในพื้นที่คาดว่าจะมีจำนวน 7,670 คน  ปัจจุบันลูกหลานแรงงานข้ามชาติในจังหวัดระนองได้รับการศึกษาใน 3 รูปแบบหลัก คือ 1) การศึกษาในระบบโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวนรวม 2,238 คน  2) การศึกษานอกระบบ (กศน.) ในระดับประถมศึกษาจำนวน 197 คน  ซึ่งจัดการศึกษาร่วมกับภาคีเครือข่ายศูนย์การเรียนจำนวน 5 แห่ง และ 3) การศึกษาในรูปแบบศูนย์การเรียน จำนวนทั้งหมด 13 ศูนย์การเรียน จำนวน 2,462 คน รวมทั้งหมดจึงมีลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการศึกษาเพียง 4,897 คนเท่านั้น นั่นหมายความว่ายังมีลูกหลานแรงงานข้ามชาติอีกที่กว่า 2,000 คนที่ยังเข้าไม่ถึงการศึกษา ทั้งนี้ในปัจจุบันได้มีความพยายามหารือเพื่อสร้างความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างเขตพื้นที่การศึกษาของประเทศไทยและประเทศเมียนมาเพื่อหาแนวทางเชื่อมโยงการศึกษาระหว่างกัน

สำหรับการเริ่มต้นของศูนย์การเรียนในพื้นที่จังหวัดระนองเกิดจากกลุ่มผู้ปกครองแรงงานข้ามชาติที่ต้องออกไปทำงานตอนกลางวัน จึงไม่มีคนดูแลบุตรหลาน จึงฝากเด็กเลี้ยงไว้และพัฒนากลายเป็นศูนย์การเรียนที่ต่อมาได้รับการจัดการภายใต้แนวทางและกลไกอย่างเป็นทางการในปี 2550 ได้กำหนดให้ทุกแห่งใช้ชื่อว่า “ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตชายแดนไทย-พม่า” โดยมีเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนองเป็นกลไกหลักในการดูแลจนปัจจุบัน

“เยหม่อง ติ๋ม และโม” เป็นครอบครัวชาวเมียนมาที่ใช้ชีวิตในไทยกว่ายี่สิบปี ซึ่งร่วมกันจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อเยาวชนในพื้นที่ศูนย์ 7 จ.ระนอง เพื่อเปิดสอนหนังสือในระดับประถมทั้งภาษาไทย ภาษาเมียนมาและภาษาอังกฤษ ศูนย์แห่งนี้มีเด็กเฉลี่ยประมาณ 150 คน โดยผู้ปกครองจะเสียค่าใช้จ่ายเพียงเดือนละ 150 บาท โดยเด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กเชื้อสายพม่าที่เกิดในไทยส่วนที่มาการจัดตั้งศูนย์เกิดจากความสงสารเด็กที่ต้องถูกทิ้งหรือขังในบ้านเมื่อพ่อแม่ต้องออกไปทำงาน เพราะมไม่มีคนดูแล จึงคิดว่าการตั้งศูนย์ขึ้นนอกจากจะช่วยในเรื่องดูแลเด็กแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะให้เด็กเรียนหนังสือ เพราะหวังว่าเด็กๆ จะนำความรู้ไปสอบเพื่อศึกษาต่อได้

นอกจากนี้ ในพื้นที่ ต.บางริ้น ถือว่าเป็นชุมชนที่มีประชากรแรงงานข้ามชาติชาวพม่าหนาแน่นแออัดท ส่งผลให้คนในชุมชนมีปัญหาในเรื่องสุขภาพ  ดังนั้นมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงได้ดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนไทย-พม่า (ศสมช.) รวมถึงจัดตั้ง อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เข้ามาทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านของไทย โดยในพื้นที่ อสต. ทุกคนจะได้รับการพัฒนาศักยภาพ การอบรมให้ความรู้ทุกปีจากนั้นจะได้รับมอบหมายให้ดูแลชาวพม่าในชุมชนของตนเอง เช่น เมื่อมีโรคระบาดให้ไปแจ้งข่าวที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อวางแผนป้องกันโรค และมีการบูรณาการงานร่วมกัน เช่น เมื่อลงเยี่ยมติดตามผู้ป่วย อสต. จะติดตามไปด้วยในลักษณะ buddy และ budder เพื่อเป็นล่ามและให้คำแนะนำ ส่งผลให้แรงงานชาวพม่ามีความเชื่อมั่น และยินดีใช้บริการสาธารณสุขในท้องถิ่นมากขึ้น