“พลังแห่งการทำดี”

เพราะการทำความดี เกิดขึ้นได้ทุกวัน ไม่มีวันหยุด
ในช่วงที่คนไทยเสียใจ และรู้สึกสูญเสียมากที่สุด ยังเกิดอีกปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ นั่นคือ การได้เห็น “พลัง” ที่เกิดจากการหลอมรวมใจของคนไทยที่มุ่งหวัง “ทำดีตามรอยพ่อ”
อีกกิจกรรมที่เริ่มต้นจากความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของเหล่าพสกนิกรไทย และแรงบันดาลใจของคนกลุ่มหนึ่ง ที่เชื่อมั่นใน “เรื่องของการทำจิตอาสา” และ “พลังแห่งการทำดี” ด้วยการแปรความโศกเศร้าและความอาลัยมาเป็น “ลงมือทำ” เพื่อสานต่อพระราชปณิธานตามแนวทางของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในกิจกรรม “365 วัน ทำดี จิตอาสาพลังแผ่นดิน”อีกช่องทางหนึ่งในการเปิดประสบการณ์งานอาสาสำหรับคนทั่วไปและองค์กร
“เรามองว่า ที่ผ่านมา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงมีกรณียกิจมากมายที่สร้างประโยชน์และความสุขให้กับประชาชนคนไทยตลอด 70 ปีแต่ตอนนี้พระองค์ท่านไม่อยู่แล้ว จึงคิดว่าพวกเราคนไทยควรจะลุกขึ้นมาสานต่อปณิธานพระองค์ได้อย่างไรบ้าง จึงอยากสร้างพื้นที่ เพื่อให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมการทำความดี”
พลังแห่งความดี
ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสาบอกเล่าต่อว่า จากแนวคิดดังกล่าวสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ธนาคารจิตอาสา และโครงการจิตอาสาพลังแผ่นดิน จึงอยากให้ช่วงเวลาดังกล่าว เป็นโอกาสที่ทุกคนได้มีประสบการณ์งานอาสา จึงนำแพลตฟอร์มออนไลน์ มาสร้างสรรค์กิจกรรมผ่านเว็บไซต์ www.Palangpandin.comซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการขับเคลื่อนคนไทยให้ออกมาทำงานจิตอาสาหรือทำความดี โดยมุ่งเน้นในด้านความยั่งยืน เป็นกิจกรรมที่ได้ประโยชน์แท้จริง และไม่ซ้ำซ้อน นอกจากนี้ต้องเป็นกิจกรรมที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้
“กิจกรรมนี้เราตั้งเป้ายังคงผลักดันให้มีต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่ใช่จบหลังเหตุการณ์แล้วกิจกรรมเลือนหายไป แต่อยากให้เขาทำต่อเนื่องทุกๆ ปี ผมเชื่อว่ามันเป็นเรื่องของการสานพลัง หรือเป็นSynergy ที่เกิดขึ้นในสังคมนะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงต้นทุนที่สำคัญของประเทศอย่างมาก เพราะในตอนที่เราทำโครงการธนาคารจิตอาสา ซึ่งปัจจุบันนี้มีคนมาฝากเวลา(จิตอาสา) กับเราแล้วถึงสามล้านกว่าชั่วโมง ผมคิดว่าเวลาที่พวกเขาฝากไว้เป็นต้นทุนทางสังคม วัฒนธรรม จิตวิญญาณอย่างหนึ่งของประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมยังคงรุ่มรวยด้วยน้ำใจและอยากทำอะไรดีเพื่อผู้อื่น
ที่สำคัญเรายังได้เห็นโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่มีความคิดสร้างสรรค์จากแต่ละคนหรือแต่ละองค์กร ซึ่งน่าทึ่งมากๆ“
ลงแรง-จองวัน-ปันของ
ดร.สรยุทธเอ่ยย้ำว่า โครงการนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าโมเดลที่ดีที่สุดของการส่งเสริมสนับสนุนให้คนออกมาทำความดี ควรใช้การสร้างแรงบันดาลใจเพื่อจุดประกายมากกว่าเป็นระบบแบบการสั่งการ ในเว็บไซต์ palangpandin.comจึงมีการพัฒนาระบบออกเป็น 3 รูปแบบกิจกรรมใน3ฟังค์ชัน ตอบโจทย์ความต้องการของคนแต่ละแบบ ได้แก่
“ลงแรง”พื้นที่สำหรับทุกคนที่มีเวลาและอยากใช้เวลาของตนเองให้เป็นประโยชน์ หรือมีความตั้งใจทำงานเพื่อผู้อื่นในสังคม ซึ่งเป็นรูปแบบที่เชื่อมกับงานธนาคารจิตอาสาที่ดำเนินการอยู่
“จองวัน” เป็นการชักชวนเหล่าองค์กรชั้นนำทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน ที่เวลานี้มีไม่ต่ำกว่า 19 องค์กร รวมถึงบุคคลทั่วไปมาร่วมกันทำความดี โดยมีกลไกง่ายๆ คือการเลือกและลงชื่อจองวันที่จะทำกิจกรรมในเว็บไซต์ ซึ่งอาจเป็นวันสำคัญ เช่น วันเกิด วันก่อตั้งบริษัท เป็นต้นโดยสามารถเลือกกิจกรรมได้ตามกำลังและความสนใจเฉพาะทางขององค์กร และบุคคล
นอกจากนี้ ยังมีส่วนของการ “ปันของ” เป็นพื้นที่ให้องค์กรสาธารณกุศล มูลนิธิ หรือโรงเรียน ใช้เพื่อประกาศขอรับบริจาคสิ่งของที่ต้องการ ให้อย่างถูกคน ถูกที่ และถูกเวลา จะเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนเข้ามาเห็นว่าในสังคมไทยกำลังมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นที่ไหนบ้าง
การนำแพลตฟอร์มาเป็นจุดร่วมในการเชื่อมโยง ทำให้เห็นภาพกิจกรรมเกี่ยวกับความดีที่มีกระจายอยู่ทั่วแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเล็กหรือใหญ่ หรือแม้แต่กลุ่มคนหรือคนตัวเล็กๆ ล้วนมีความตั้งใจที่ดีและอยากเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ประเทศและสังคม
“ปรากฏการณ์หนึ่งที่ได้เห็นชัดจากโครงการนี้เลยคือในแต่ละเดือนหรือแต่ละวัน เราพบว่ามีเรื่องราวของคนมากมายที่ออกมาทำความดีทั่วประเทศไทย เพียงแต่ว่า ที่ผ่านมามันไม่มีพื้นที่ให้เขาปรากฏตัว”
ย้อนวันแรกของ “จิตอาสา”
ย้อนไปปี 2546 ช่วงที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์สึนามิ เป็นช่วงที่ ดร.สรยุทธและดร.ธีระพล เตรียมอุดมเริ่มแนวคิดก่อตั้งเครือข่ายจิตอาสาครั้งแรก
“ตอนนั้นเราเริ่มคิดคำว่า “จิตอาสา” เพราะอยากจะทำให้งานอาสาสมัครเป็นเรื่องทันสมัยและเป็นเรื่องที่คนสนใจมากขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ งานอาสาสมัครบ้านเราเป็นช่วงที่เรียกว่าซบเซาไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสังคมมากนัก เพราะทุกคนมองว่าทำไปทำไม“
ภายหลังการจัดตั้งเครือข่าย ดร.สรยุทธยังพบว่ามีหลายฟังค์ชันที่สังคมไทยต้องการ โดยเฉพาะการจัดทำ “ระบบแมทชิ่ง” หรือจับคู่ให้คนที่อยากเป็นจิตอาสามาเจอกับคนที่ต้องการความช่วยเหลือซึ่งในช่วงปีที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมปี2554-2555นั้นเอง การพัฒนาระบบแมทชิ่งจึงกลายเป็นรูปธรรมมากขึ้นในรูปแบบงระบบฝากเวลาของธนาคารจิตอาสา
แต่เนื่องจากคนเป็นอาสาเป็นคนที่มาจากหลากหลายที่มา การจะทำให้ทุกคนเข้าใจแนวทางการทำงานจิตอาสาที่สร้างสรรค์ อีกด้านหนึ่งจึงต้องมีการจัดกระบวนการ ด้วยการอบรม เพื่อให้ความรู้แก่กลุ่มคนหรือองค์กรที่สนใจถึงเป้าหมายที่แท้จริงของการทำงานจิตอาสาว่าไม่ใช่แค่การทำงานเสร็จสำเร็จ แต่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในการลดละอัตตาของตัวเอง เป็นคนที่ดีขึ้นด้วยและพัฒนาสู่การเป็นคนที่ตัวเล็กลงสามารถที่จะทำงานใหญ่ได้ขึ้นเรื่อยๆ
“สุข” ด้วยจิตอาสา
“สิ่งหนึ่งที่เรารู้ดีว่า มนุษย์ทุกคนต้องการความสุข ดังนั้นทุกสิ่งที่คนเรากระทำในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงาน หาเงินหาทอง เรื่องดีหรือเลวร้าย ก็เพราะเขาต้องการที่จะมีความสุข”
ดร.สรยุทธอธิบายต่อว่าการที่โครงการผลักดัน ชักชวนเรื่องจิตอาสาเพราะต้องการบอกทุกคนว่า เพราะอยากให้ทุกคนมีความสุข ซึ่งเป็นความสุขที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยที่ไม่ต้องรอวันข้างหน้า ไม่ต้องใช้เงินทอง ไม่รอเรียนจบ หรือได้เลื่อนตำแหน่งเงินเดือนสูงๆ หากแต่สามารถทำได้เลยจากวินาทีนี้
“หากมองถึงบุคคลที่เป็นต้นแบบจิตอาสาแท้จริง ในหลวงรัชกาลที่ 9ของคนไทย ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีของบุคคลที่มี “จิตอาสา” เพราะจิตอาสาคือคนที่มีใจอยากจะช่วยเหลือผู้อื่น เป็นใจที่ไม่นิ่งดูดายกับความทุกข์ของผู้อื่น และก็ออกมา “ลงมือทำ” สร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ท่านเป็นตัวอย่างที่สะท้อนชัดว่าไม่ใช่แค่พูด แต่พระองค์ทรงลงมือกระทำมาตลอด 70 ปี
คือทุกวันนี้เรารับสื่อ เจอแต่ข่าวแย่ๆ หรือเหตุการณ์ไม่ดีในสังคมที่อาจบั่นทอนจิตใจเรา การมีพื้นที่แสดงให้เห็นกิจกรรมดีๆ จะเป็นการสร้างการรับรู้ให้คนในสังคม และเป็นกระจกสะท้อนให้เราซึมซับเรื่องราวดีๆ ที่จะทำให้มีกำลังใจในการสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นต่อไป”
สู่สังคมที่ดีร่วมกัน
เพราะเชื่อว่า “ความดีเหมือนโรคติดต่อ” หลังร่วมเป็นหนึ่งในองค์กรที่ร่วมกิจกรรม "365 วัน ทำดี จิตอาสาพลังแผ่นดิน" บริษัท เบอร์แทรมเคมิคอล(1982) จำกัด เจ้าของแบรนด์ "เซียงเพียว" และ"เป๊ปเปอร์มิ้นท์ฟิลด์" จึงประกาศเจตนารมณ์จัดทำโครงการ "Bertram Bottle กระบอกเดิมเติมความรักษ์โลก"
โดยรณรงค์ให้พนักงานในองค์กรร่วม 400 คน ซื้อกระบอกน้ำแทนขวดพลาสติกในราคาทุน เพื่อเป็นการช่วยลดปริมาณขยะที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และนำรายได้จากการจำหน่ายกระบอกน้ำดังกล่าวไปบริจาคให้กับบ้านเด็กพระพรและบ้านชัยพฤกษ์
“จริงๆ เราทำหลายโครงการ แต่เราเลือกโครงการนี้เพราะมองว่าอยากให้เป็นสัญลักษณ์ของการทำกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมง่ายๆ ให้องค์กรอื่นหรือแม้แต่คนทั่วไปได้เห็นว่าการทำความดีเป็นเรื่องไม่ยาก ที่สำคัญเราจะไม่บังคับพนักงาน แต่ใช้ความสมัครใจ ก็โชคดีที่ทุกคนเต็มใจให้ความร่วมมือเพราะรู้ว่าเป็นกิจกรรมที่ดีต่อสังคม”
สุวรรณา เอี่ยมพิกุลประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เบอร์แทรมเคมิคอล(1982) จำกัด เล่าต่อถึงที่มาแนวคิดเกิดจากการเป็นคนชอบออกกำลังกาย โดยมักกิจกรรมขี่จักรยานท่องเที่ยวชมธรรมชาติ ซึ่งปกติเวลาออกไปเที่ยวหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งแต่ละครั้งต้องดื่มน้ำค่อนข้างเยอะ
“ดิฉันมาลองคิดดูว่า หากเราซื้อน้ำขวดพลาสติกกิน เฉลี่ยคนหนึ่งต้องใช้ประมาณ 3-5 ขวดต่อวัน ถ้าคิดเป็นเดือนก็ 900 ขวดแล้ว จึงเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นนำกระบอกน้ำพกไปเองทุกครั้ง แล้วยังชักชวนเพื่อนในกลุ่มให้ทำตาม ซึ่งภูมิใจว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยลดขวดพลาสติกไปได้มาก”
นอกจากนี้สุวรรณายังต่อยอดเจตนารมย์ดังกล่าวของตนเองในธุรกิจร้านอาหารของบริษัทฯอีกด้วย เธอเอ่ยว่า ปกติร้านอาหารคือธุรกิจที่ใช้ขวดน้ำพลาสติกจำนวนเยอะมาก จึงเปลี่ยนแนวคิดมาใช้ขวดน้ำที่เป็นขวดแก้วแทน
“ดิฉันคิดว่ามันมีกิจกรรมหลายอย่างที่พวกเราสามารถทำได้ แต่เชื่อว่ากิจกรรมที่เรามีแพชชั่นมันจะทำให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนกว่าอย่างเราชอบเรื่องเด็ก การศึกษา และการออกกำลังกาย เราก็ทำทีมเบอร์แทรมทีม เป็นการออกกำลังกาย ทำกิจกรรมอาสาสมัครเราสนับสนุนให้พนักงานทุกคนออกกำลังกายเพราะการมีสุขภาพที่แข็งแรง เพราะเชื่อว่าจะทำให้เขามีความสุขและออกไปช่วยเหลือคนอื่นได้”สุวรรณากล่าว
ดีทั้งผู้ให้ ได้ทั้งผู้รับด้านสถาบันอาศรมศิลป์อีกหนึ่งองค์กรที่มีการลงจองวันทำดีเอาไว้ โดยเลือกวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา เพราะเป็นก่อตั้งสถาปนาสถาบันอาศรมศิลป์ในการจัดกิจกรรม BIG CLEANING & ZERO WASTE ขึ้น “พอทราบข่าวประกาศโครงการ เรายินดีที่จะให้ความร่วมมือทันที เพราะเราอยากทำให้โครงการนี้เป็นหมุดหมายหนึ่งทางออนไลน์หรือโลกโซเชียลมีเดีย ให้เห็นว่าทุกวันสามารถเป็นวันที่มีความหมายได้ และทำความดีที่เป็นประโยชน์เพื่อคนอื่น องค์กรเองก็มีโอกาสเปิดพื้นที่ให้กับพนักงานได้ทำงานด้านนี้” ธรากร กมลเปรมปิยะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร สถาบันอาศรมศิลป์ เล่าถึงการร่วมส่วนหนึ่งขององค์กร ที่เข้าร่วมโครงการจิตอาสาพลังแผ่นดิน“กิจกรรมที่เราลุกขึ้นมาทำ มีสองเรื่อง คืองาน big cleaning day เรามีสถานีแยกขยะคัดกรอง ส่วนช่วงบ่ายเรามีการแชร์แลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้ โดยเชิญคุณนิ้วกลม มาแชร์แนวคิดแรงบันดาลใจให้คนทำงานและแชร์ในเฟสบุ๊ค ไลฟ์ เพื่อส่งเสริมแนวคิดการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ”
ในฐานะตัวแทนอาศรมศิลป์เอ่ยว่างานจิตอาสา เป็นงานที่มีประโยชน์สองฝ่าย ทั้งในแง่ผู้ที่ได้รับคุณค่า ได้ประโยชน์และได้ การช่วยเหลือ แต่มองว่าสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือในฐานะของผู้ให้เองคือการได้ประสบการณ์ที่ดี
“โครงการนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นว่า ไม่เพียงเราได้เรียนรู้และรับแรงบันดาลใจจากในหลวงรัชกาลที่ 9ในฐานะที่ทรงเป็นแบบอย่างของผู้ให้ แต่เป็นโอกาสที่เราได้ลงมือทำเอง ไม่เพียงความสุข ยังได้การเรียนรู้และคุณค่าไม่น้อยกว่าผู้รับ ผมว่าตรงนี้ทุกองค์กรควรมีและค่อยๆ เพิ่มอัตราส่วนในโอกาสการเป็นผู้ให้ เพราะเราจะได้เรื่องขวัญกำลังใจของผู้ให้ที่เป้นประโยชน์ต่อสังคม”
ส่งต่อแรงบันดาลใจ
ด้านจีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด เป็นอีกองค์กรที่ปักธงเลือกวันก่อตั้งบริษัทเป็นสำคัญของการทำดี ด้วยการยกระดับความสุขมวลรวมให้กับชุมชนเล็กๆในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
“โรงเรียนที่เราจะลงไป ชื่อโรงเรียนคอกช้างพัฒนา จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นโรงเรียนระดับประถมขนาดเล็ก ซึ่งตอนนี้ยังขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน และอีกหลายสิ่งเช่น ห้องน้ำ เป็นต้น รวมถึงวันเดียวกันเราอยากนำหนังของเราไปให้คนในชุมชนได้ดู ซึ่งเขาอยู่ห่างไกลไม่ค่อยมีโอกาส เลยชวนเขามาดูหนังด้วยกัน โดยที่เราจะไปเปิดวิกหนังกลางแปลงให้เขาดูฟรี 2 เรื่อง” จินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.จีดีเอช ห้าห้าเก้าจำกัด บอกเล่า
พร้อมเล่าต่อถึงเป้าหมายของการร่วมโครงการ เกิดจากเดิมจีดีเอชเป็นบริษัทที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมความสุขมวลรวมให้คนในสังคมอยู่แล้ว จีดีเอชจึงตอบรับเป็นหนึ่งใน19 องค์กรตั้งต้น จากการชักชวนจาก สสส. ให้มาร่วมโครงการ
“นอกจะเป็นโอกาสที่องค์กรได้ทำอะไรเพื่อสังคมที่เป็นรูปธรรมแล้ว เรามองว่ามันยังเป็นงการส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับองค์กรอื่นลุกขึ้นมาทำบ้าง เหมือนว่าเราเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ โดยเรายังเลือกทำในสิ่งที่เราทำได้ ไม่เหลือบ่ากว่าแรง
นอกจากนี้เรายังส่งต่อการทำความดี โดยชักชวนคู่ค้าให้มาร่วมกันบริจาคหรือทำสิ่งที่เขาสามารถทำได้รวมถึงพนักงานจีดีเอชเช่นกัน หากใครที่อยากทำงานจิตอาสาเราก็ส่งเสริมให้พนักงานแต่ละคนก็สามารถเข้าไปร่วมได้ และแน่นอนว่าเราตั้งใจที่จะทำโครงการนี้ต่อไปทุกปี”