TOT เผยรายได้ปี61 รวม 4.5 หมื่นล้านบาท ลุยปรับทัพสู่ดิจิทัล

TOT เผยรายได้ปี61 รวม 4.5 หมื่นล้านบาท ลุยปรับทัพสู่ดิจิทัล

ทีโอที ผงาดผลประกอบการปี 2561 รายได้รวม 4.55 หมื่นล้านบาทโต 28.9% รุกเดินหน้าต่อเนื่อง ปี 2562 ปรับโครงสร้างองค์กร โฟกัสธุรกิจดิจิทัล

บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และบริการดิจิทัลชั้นนำของประเทศไทย แถลงผลประกอบการปี 2561 ประสบความสำเร็จ รายได้รวมแตะ  45,500 ล้านบาท พร้อมรุกแผนธุรกิจปี 2562 ปรับโครงสร้างบริษัทฯ เพื่อก้าวขึ้นเป็นองค์กรยุคดิจิทัล (Digital Transformation)

ดร.มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ทีโอที เปิดเผยว่า ปี 2561 เป็นปีที่ ทีโอที มีรายได้และกำไรเติบโตในระดับที่น่าพึงพอใจ โดยมีแหล่งรายได้หลักมาจากธุรกิจบรอดแบนด์ และเครือข่ายพันธมิตรมือถือ ช่วยผลักดันรายได้ของทีโอทีปี 2561 มีรายได้รวมประมาณ 45,500 ล้านบาท เติบโตถึง 28.9% จากปีก่อนหน้าที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 34,300 ล้านบาท นอกจากนี้ปี 2561 ยังมีกำไรจากการดำเนินงาน EBITDA ประมาณ 12,400 ล้านบาท ทำให้มีกำไรสุทธิมูลค่าประมาณ 2,170 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีผลขาดทุน 4,300 ล้านบาท

สัดส่วนรายได้ของ ทีโอที สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) รายได้จากการดำเนินงานของ ทีโอที จำนวนประมาณ 25,300 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้จากธุรกิจหน่วยธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 2,920 ล้านบาท รายได้จากหน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย จำนวน 450 ล้านบาท รายได้จากหน่วยธุรกิจ IDC & Cloud จำนวน 980 ล้านบาท รายได้จากหน่วยธุรกิจโทรศัพท์ประจำที่และบรอดแบนด์ จำนวน 19,170 ล้านบาท และรายได้จาก หน่วยธุรกิจขายและบริการลูกค้าองค์กรจำนวน 1,570 ล้านบาท และ 2) รายได้จากพันธมิตร จำนวนประมาณ 20,200 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้จากเสาและอุปกรณ์โทรคมนาคม จำนวน 5,600 ล้านบาทรายได้จากคลื่น 2100 และ 2300 MHz จำนวน 14,600 ล้านบาท

ในปี 2561 ทีโอที มียอดรวมผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ประมาณ 1,378,000 พอร์ต คิดเป็นร้อยละ 17 ของส่วนแบ่งการตลาด มีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์ประจำที่จำนวนกว่า 2,812,000 เลขหมาย และมียอดผู้ใช้บริการมือถือ TOT Mobile อยู่ที่ประมาณ 140,000 เลขหมาย

ดร.มนต์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2561 ทีโอที ได้ดำเนินโครงการสำคัญที่สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่ง ทีโอที ได้มีบทบาทในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในพื้นที่ที่ยังมิได้รับการพัฒนา ตลอดจนดำเนินงานโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบัน

ทั้งนี้ โครงการสำคัญระดับประเทศในปี 2561 ที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการเน็ตประชารัฐ ,โครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (Big Rock)

สำหรับทิศทางการดำเนินงานปี 2562ดร.มนต์ชัย กล่าวว่า ในปี 2562 ทีโอที ตั้งเป้ารายได้จากการดำเนินงานประมาณ 56,500 ล้านบาท โดยมีกำไรจากการดำเนินงานโดยทีโอทีจำนวนประมาณ 25,300 ล้านบาท และมาจากรายได้การดำเนินงานของพันธมิตรจำนวนประมาณ 31,200 บาท และกำไรจากการดำเนินงาน (EBITDA) ประมาณ 11,070 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมธุรกิจให้สามารถดำเนินไปได้อย่างประสบผลสำเร็จ ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption)ทีโอที ได้วางแผนทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2562 ดังนี้

ปรับโครงสร้างต้นทุน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและลูกค้ายุคดิจิทัลด้วยต้นทุนที่ต่ำ โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้ครอบคลุมกระบวนการทำงานทั้งก่อนและหลังการขาย พัฒนาระบบรองรับการใช้งานผ่านมือถือ และการให้บริการในเชิง Preventive รองรับความต้องการของลูกค้าที่มากขึ้นและ เสริมสร้างเสถียรภาพความมั่นคงของเส้นทางโครงข่ายใยแก้วนำแสงในเส้นทางหลัก รวมถึงปรับเปลี่ยนชุมสาย โทรศัพท์ประจำที่เป็นระบบ IP Base เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพชุมสายเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานระยะยาวและรองรับการปรับเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่จาก 9 หลักเป็น 10 หลัก ตอบสนองนโยบายภาครัฐตามแผนเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาวของประเทศไทย

ปรับโครงสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรดิจิทัล ทิศทางการดำเนินงานในปี 2562ทีโอที มุ่งมั่นปฏิรูปองค์กรจากภายในสู่ภายนอก เพื่อทำให้ ทีโอที เป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Transformation)ที่สมบูรณ์แบบ โดยการปรับวัฒนธรรมองค์กร ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร จัดโครงการอบรมบุคลากรที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นผู้มีความชำนาญในด้านโทรคมนาคม ต่อยอดใช้ความสามารถในการปฏิบัติงานโดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมทั้งเปิดรับสมัครบุคลากรใหม่ที่มีคุณสมบัติพร้อมปฏิบัติงานในสภาพธุรกิจดิจิทัลในปัจจุบัน

 

ยกระดับต่อยอดธุรกิจเดิม มีการปรับตัวให้ธุรกิจเข้ากับสภาพสถานการณ์ในปัจจุบันโดยยกระดับบริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure) เพื่อสนับสนุนภาครัฐและภาคธุรกิจ และพัฒนาการบริการดิจิทัล (Digital Service)อันประกอบด้วย บริการ Cloud Services, Cyber Security และ Data Analyticรวมถึงการให้บริการ Digital Solution Platform ทั้งนี้ การยกระดับดังกล่าวช่วยให้ ทีโอที สามารถขยายธุรกิจรองรับการเติบโตของกลุ่มผู้ให้บริการในตลาดการแข่งขันได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้ากลุ่มธุรกิจ ส่วนธุรกิจ TOT mobile  จะมีการติดตั้งระบบ Wifi Calling เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่ต่อเนื่องและลดค่าใช้จ่ายในการโรมมิ่ง รวมถึงมีแผนการพัฒนาโครงข่าย 5G Infrastructure Sharing โดยการติดตั้ง ทดสอบ และเปิดให้บริการในพื้นที่เฉพาะ

 

นอกจากนี้ ทีโอที ยังได้เร่งพัฒนาทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เป็นแหล่งรายได้ใหม่ขององค์กร  รวมถึงความพร้อมในลงทุนเพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ด้วยโครงการในการให้บริการโทรคมนาคมในพื้นที่ห่างไกล อาทิ โครงการเน็ตประชารัฐ และโครงการ USOเป็นต้น รวมถึงโครงการภาครัฐอื่น ๆ อาทิ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)โครงการพัฒนาพื้นที่และเมืองเศรษฐกิจเป็นSmart City เป็นต้น