“ปิดเทอมสร้างสรรค์” โอกาสทองของการตามหาความฝันและตัวตน

“ปิดเทอมสร้างสรรค์”  โอกาสทองของการตามหาความฝันและตัวตน

 

เพราะเวลาเป็นสิ่งมีค่าที่ทุกคนสามารถที่จะ “เลือก” ใช้เวลาของตัวเองเพื่ออะไร

ในเวลาว่างช่วงปิดเทอมใหญ่ ที่กำลังใกล้เข้ามาอีกไม่กี่วันที่จะถึงนี้ น้องๆ เด็กๆ และเยาวชนหลายคนอาจมีเป้าหมายในใจแล้วว่าอยากทำอะไร แต่บางคนก็อาจจะปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไม่ได้นึกถึงอะไร 

มีนาคมปีที่แล้ว มีการสำรวจข้อมูลว่าด้วยเรื่อง “ปิดเทอมนี้เด็กเยาวชนอยากทำอะไร”  โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน ในจำนวน 1,760 ตัวอย่าง พบว่า กิจกรรมที่เด็กเยาวชนตั้งใจจะทำในช่วงปิดเทอมอันดับแรก คือ เล่นมือถือ อินเทอร์เน็ต 71%

หลังพบตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจดังกล่าวได้นำมาสู่แนวคิดของแคมเปญ “ปิดเทอมสร้างสรรค์” ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายอยากให้เป็นพื้นที่ด้านข่าวสารข้อมูลส่วนกางสำหรับเด็กๆ และเยาวชนไทยให้หันมาสนใจกิจกรรมหลากหลายรอบตัวและใช้เวลาอยู่ห่างจาก “หน้าจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์” มากขึ้น

ความสำเร็จในระดับที่พึงพอใจของปีที่ผ่านมา ทำให้ ในปี 2562 โครงการปิดเทอมสร้างสรรค์เตรียมนำเสนอกิจกรรมและพื้นที่สร้างสรรค์ให้น้องๆ เข้ามาเลือกช็อปปิ้งตามความชอบใจ ที่กระจายทุกภูมิภาคถึง 1,248  กิจกรรม รวมถึงการเปิดรับตำแหน่งงานพิเศษ 10,000 ตำแหน่ง

“ปีนี้พอใกล้ช่วงปิดเทอมตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ยอดคนเข้ามาดูเว็บไซต์ ปิดเทอมสร้างสรรค์ จะสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลย” ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เอ่ย ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวอาจสะท้อนว่าแบรนด์ปิดเทอมสร้างสรรค์นั้นติดตลาด เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชน  หรือผู้ปกครองที่สนใจให้ลูกหลานมีกิจกรรมในช่วงปิดเทอม

“เราคิดว่าถ้าเราอยากได้พลเมืองที่มีคุณภาพ เราต้องให้ความสำคัญกับวันว่างของเขา” ณัฐยาย้ำ

เผยโพล “วันว่าง” เด็กอยากทำอะไร

ณัฐยายังเผยต่อถึงผลการสำรวจเกี่ยวกับกิจกรรมที่เด็กและเยาวชนมีความต้องการว่า คำตอบของด็กๆ ทำให้รู้ความต้องการเลยว่า  หากเป็นวัยประถมไม่ได้ต้องการสาระอะไรมาก เขาต้องการแค่กิจกรรมใหม่ๆ ที่เปิดประสบการณ์เขา ได้ทำกับเพื่อนสนุกๆ

ส่วนหากเป็นวัยที่โตมาหน่อยแล้วในระดับมัธยมเด็กๆ จะอยากได้เคล็ดลับในการใช้ชีวิต การมีกิจกรรมที่แทรกวิชาความรู้ เช่น เขาอยากทำอาชีพนี้ เขาจะเริ่มอย่างไร ส่วนเด็กมหาวิทยาลัยเขาจะเตรียมตัวเพื่อออกสู่โลกกว้าง เขาอยากได้ทักษะการเตรียมตัว ชีวิตที่ไปประยุกต์ใช้ หรือสังคมการทำงาน

“ที่สำคัญเราไม่ได้สำรวจแค่ความเห็นเด็กๆ เราสำรวจผู้ปกครองด้วย สิ่งที่พ่อแม่กังวลใจว่าคือกลัวลูกติดเกม ซึ่งเราเข้าใจพ่อแม่นะ เพราะเขาต้องทำงานคงไม่มีเวลาให้ แต่สิ่งที่ผู้ปกครองอยากให้เด็กสนใจเป็นพิเศษในช่วงปิดเทอม คือการเรียนพิเศษ ขณะที่เด็กๆ กลับไม่ตอบข้อนี้เลย เรียนพิเศษของเด็กเป็น 0%

 นอกจากนี้ เด็กไม่ชอบกิจกรรมที่เอามานั่งอบรมหรือยัดความรู้ใส่ แต่อยากได้กิจกรรมที่ฝึกทักษะให้เขาได้คิด ได้มีทักษะใหม่ๆ มีโจทย์ที่เ ให้เขาลงได้มือทำ นำไปประยุกต์ได้ สะท้อนว่ากิจกรรมสร้างสรรค์มันจะสร้างภาวะผู้นำ ความมั่นใจในตัวเอง ให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามีความสำเร็จ เพราะที่จริงแล้ว เด็กเขาไม่ได้อยากรู้สึกว่าตัวเองต้องรอรับการให้จากผู้ใหญ่ แต่เขาอยากเป็นคนทำเอง”

ข้อมูลจากการสำรวจดังกล่าวจึงเป็นเหตุผลที่ สสส. จึงเปิดโอกาสในการให้ทุน 400 ทุนแก่คนทั่วประเทศ สำหรับผู้ที่สนใจจะเสนอกิจกรรมในช่วงปิดเทอม รวมถึงเด็กและเยาวชนที่อยากคิดและลงมือจัดเอง เพียงแต่ขอให้มีผู้ใหญ่ช่วยเป็นพี่เลี้ยงช่วยหนุนเสริมเท่านั้น

 

เปิดตัวนักจัดการปิดเทอมสร้างสรรค์

อีกความเปลี่ยนแปลงสำคัญของกิจกรรมปิดเทอมปีนี้ คือเรายังมี “นักจัดการปิดเทอมสร้างสรรค์” เกิดขึ้น โดยจากการสำหรับยังพบว่า มีเด็กกว่า 43% เข้าไม่ถึงกิจกรรมอะไรเลยเพราะบ้านอยู่ไกล เพื่อจะช่วยอุดช่องโหว่ที่สำรวจพบทำให้  สสส. ได้จัดอบรมนักจัดการปิดเทอมสร้างสรรค์ เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงกิจกรรมที่น่าสนใจ  โดยนำร่องเพิ่มในพื้นที่ 15 จังหวัด ที่ระดมเครือข่ายการเรียนรู้ในท้องถิ่น สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมช่วงปิดเทอมและวันหยุดสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนในพื้นที่นำร่อง  ดังนี้ 1. ลำพูน 2. พะเยา 3. ลำปาง 4. น่าน 5. เลย 6. ขอนแก่น7. กาฬสินธ์ 8. มหาสารคาม 9. อุบลราชธานี 10. สุรินทร์ 11. สระบุรี 12. สงขลา 13. พัทลุง 14. ตรัง 15. สตูล

ณัฐยา เสริมว่า ที่มาของการขยายเครือข่ายผ่านแนวคิดนักจัดการปิดเทอมสร้างสรรค์นั้น เกิดจากการมองว่าทุกจังหวัดเองมีหน่วยงานที่ทำกิจกรรมอยู่แล้ว เพียงแต่ยังขาดคนที่เป็น “ตัวกลาง” ทำหน้าที่เชื่อมโยง กระตุ้น และสื่อสารเพื่อให้กิจกรรมสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย นั่นคือเด็กและเยาวชน ตลอดจนเกิดความร่วมมือที่เป็นบูรณาการมากขึ้น การมีนักจัดการจัดกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์มากระตุ้นเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน ไม่งั้นหน่วยงานเหล่านี้จะทำแล้วไมได้เผยแพร่

“เรามองว่าเขามีงบประมาณกันอยู่แล้ว เพียงแต่มาต่อจิ๊กซอว์  ดังนั้น พอเราเพียงแค่ถามไปว่าภาคีจังหวัดไหนสนใจงานแบบนี้  ใครอยากจะลุกขึ้นมาเป็นคนจัดการเพื่อให้เด็กมีทางเลือก ก็ปรากฎว่ามีตอบรับกลับมาถึง 15 จังหวัดที่อาสาอยากทำ ซึ่ง สสส. เองทำแค่เป็นผู้แนะแนว ไม่ใช่ว่า สสส.เอาทุนไปให้จังหวัดจัดกิจกรรม แต่คนที่ยกมือพร้อมจะเป็น ต้องเป็นคนพร้อมไปเชิญชวนคนอื่นมานั่งคุยกัน  ซึ่งมีหลากหลายคละกันมาก มีทั้งประธานชุมชน เอ็นจีโอ คณะทำงานในท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาครอบครัว เอกชน หน่วยงานราชการ รวมถึงสภาเด็กและเยาวชน”

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เอ่ยว่า สสส.ได้ประมวลผลและถอดบทเรียนรูปแบบกิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่มวัย พบว่า กิจกรรม 3 อันดับแรกที่เด็กสนใจ อันดับ 1 เข้าค่าย 45% อันดับ 2 ท่องเที่ยว ทัศนศึกษา 22.4% อันดับ 3 กิจกรรมกีฬา 21.9% โดยกิจกรรมทั้งหมดจะรวบรวมอยู่ใน www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com ซึ่งเด็กเยาวชนสามารถค้นหากิจกรรมที่มีความหลากหลายใน 4 หมวดหมู่ คือ ตามความฝัน ค้นหาตัวตน แบ่งปันสังคม และสนุกฝึกฝนเปิดโลกเรียนรู้ เพื่อเป็นช่องทางให้เด็ก เยาวชน และผู้ปกครอง เข้าถึงกิจกรรมและพื้นที่สร้างสรรค์ที่สนใจได้ง่ายขึ้น

“ซึ่งในเวบไซต์ปิดเทอมสร้างสรรค์นี้มีหลากหลายกิจกรรมที่ตอบโจทย์ความชอบและความสนใจของเด็กๆ มากมาย อีกทั้งการที่เรายังมีเครือข่ายของนักจัดการปิดเทอมสร้างสรรค์ในจังหวัดทั่วประเทศ 15 แห่ง ทำให้เราหวังว่าจะเกิดแรงบันดาลใจ และกระจายแนวคิดไปสู่ทั่วประเทศ เพื่อเชื่อมต่อและเชื่อมโยงเครือข่ายที่ขยายเพิ่มมากขึ้นในอนาคต”    

ให้ความสำคัญทุกวันว่าง

ด้านณัฐยาเอ่ยต่อว่า “เราต้องเปลี่ยนวันว่างของเยาวชน มันไม่ใช่แค่ปิดเทอม แต่หลังเลิกเรียนหรือเสาร์อาทิตย์เขาทำอะไร เราต้องให้ความสนใจด้วย”

โดยเธอยังยกตัวอย่างเทศบาลเมืองท่าโขลง จ.ปทุมธานี ชุมชนที่พยายามผลักดันการจัดกิจรรมใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ให้เป็นประโยชน์ โดยได้เปิดพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้และสวนสาธารณะเทศบาลท่าโขลงให้เด็กๆ และเยาวชนมาทำกิจกรรมสร้างสรค์

ซึ่งเริ่มจากการที่เทศบาลท่าโขลงกว่า 36 ชุมชน นั้นมีประชากรหนาแน่น ยังไม่รวมประชากรแฝง เพราะอยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรม โดยในกลุ่มประชากรเด็กและเยาวขน ที่อายุแรกเกิดถึง 25 ปี ประมาณสามสี่หมื่นคน ซึ่งมีปัญหายาเสพติด ไม่เรียนหนังสือ ใช้เวลาว่างติดเกมส์ การมีโครงการนี้จึงได้สร้างพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเยาวชนในพื้นที่

ภายใต้แนวคิดเด็กคิด เด็กทำ ผู้ใหญ่หนุน ทางโครงการจึงเปิดโอกาสให้เด็กๆ เป็นผู้จัดการกิจกรรมด้วยตัวเองทั้งสิ้น โครงการมีเยาวชนที่เป็นคณะทำงาน 21 คนล้วน ที่ทำหน้าที่ประสานเครือข่ายทั้งด้านศาสนา การศึกษา กีฬา และยังมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นพี่เลี้ยงให้กับเยาวชนคณะทำงาน

 ซึ่งปีที่ผ่านมามีกิจกรรมเกิดขึ้นถึงกว่า 40 กิจกรรม

สุพิณญา คล้ายเชียงราก เยาวชนชั้น ม.6 โรงเรียนธรรมศาสตร์คลองสองวิทยาคม หนึ่งในคณะทำงานโครงการและคณะทำงานของสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลท่าโขลงเล่าว่า ทำกิจกรรมดังกล่าวมาประมาณสองปีแล้ว

“หนูได้ยินข่าวมีสภาเด็กและเยาวชน  เราไม่อยากปล่อยให้เวลาเปล่าประโยชน์ หนูเลยเข้าไปร่วม อยากได้เพื่อน อยากรู้จักระบบการทำงานของราชการต่างๆ

กิจกรรมที่คิดส่วนใหญ่เราจะสอบถามความต้องการของน้องๆ เป็นหลัก ว่าเขาอยากทำอะไรและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของเรา ไปๆ ซึ่งประโยชน์การทำกิจกรรมพวกนี้เราได้หลายอย่างค่ะ ทั้งประสบการณ์เปิดโลกทัศน์”

แม้จะเป็นนักกิจกรรมตัวยง แต่ล่าสุดสุพินญายังสอบติดคณะวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ที่จริงเด็กส่วนใหญ่จะรู้ว่าเขาอยากใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์นะคะ อย่างเพื่อนๆ หนู หลายคนก็เน้นหางานพิเศษทำ เพราะเขาอยากหาค่าใช้จ่ายในการเข้ามหาวิทยาลัย หรือไม่ก็ไปทำงานจิตอาสา ส่วนใหญ่ในห้องทุกคนทำงานมีกิจกรรม   

หนูมองว่าบางทีผู้ใหญ่ยังไม่ทราบว่าเด็กหรือลูกของเขาชอบอะไร เห็นไปเล่นดนตรีบางคนก็ระแวงสงสัยว่าไปทำอะไรหรือเปล่า หนูอยากให้ผู้ใหญ่มองอย่างเข้าใจ อย่างของหนูโชคดีพ่อแม่สนับสนุน ซึ่งเรายิ่งภูมิใจมากเพราะการทำกิจกรรมของเราประสบความสำเร็จจนได้รับเกียรติไปออกรายการเดินหน้าประเทศไทยด้วยค่ะ”

สำหรับภาคีความร่วมมือกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ ประกอบด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ กรมศิลปากร มิวเซียมสยาม ทีเคพาร์ค  สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ องค์กรภาคเอกชน โดยการเชื่อมโยงความร่วมมือของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เทสโก้โลกัส คิสซาเนีย อะเดย์ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นต้น  และเครือข่ายภาคประชาสังคม อาทิ ธนาคารจิตอาสา เครือข่ายนับเราด้วยคน มิวสิคแชร์ลิ่ง เป็นต้น

ค้นหารายละเอียดกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ได้ที่ www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com Facebook: Happyschoolbreak และ Twitter: pidterm

  “ปิดเทอมสร้างสรรค์”  โอกาสทองของการตามหาความฝันและตัวตน

“ปิดเทอมสร้างสรรค์”  โอกาสทองของการตามหาความฝันและตัวตน

“ปิดเทอมสร้างสรรค์”  โอกาสทองของการตามหาความฝันและตัวตน

“ปิดเทอมสร้างสรรค์”  โอกาสทองของการตามหาความฝันและตัวตน

“ปิดเทอมสร้างสรรค์”  โอกาสทองของการตามหาความฝันและตัวตน