โลกดิจิทัลต้องการ “จูเนียร์” ความสามารถเท่า “ซีเนียร์”
‘พีไอเอ็ม’ ชี้โลกดิจิทัลต้องการ “จูเนียร์” ความสามารถเท่า “ซีเนียร์”เน้นบทบาทภาคการศึกษา สร้างบัณฑิตด้วยแนวทาง PIM The Original
“พีไอเอ็ม” เผยเส้นทางอาชีพยุคดิจิทัลเปลี่ยน องค์กรต้องการ “จูเนียร์” ความสามารถเท่า “ซีเนียร์” พร้อมทักษะแบบ Multi-skills ย้ำภาคการศึกษาต้องเป็นแกนหลักส่งเสริมเด็กเรียนรู้ตลอดชีวิต และศึกษาความต้องการของผู้ประกอบการอย่างสม่ำเสมอ ชูจุดแข็ง “PIM The Original” เดินหน้าสร้างบัณฑิตที่มีทั้งทักษะอาชีพ-ทักษะสังคม-ทักษะชีวิต ตอบโจทย์ภาคธุรกิจด้วยการเรียนรู้คู่การปฏิบัติจริงและพลังแห่งเครือข่าย
นายพรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) เปิดเผยว่า เส้นทางการเติบโตในสายอาชีพ (Career Path) ของโลกยุคดิจิทัล ค่อนข้างเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เนื่องจากองค์กรจำนวนมากกำลังอยู่ระหว่างปรับตัวให้กลายเป็น “Lean Organization” หรือองค์กรที่มีความกระฉับกระเฉง ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรับตัวได้อย่างคล่องแคล่ว ลักษณะองค์กรจะมีขนาดเล็กลง ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้น บุคลากรทุกระดับจะต้องมีทักษะรอบด้าน
“จากเดิมพนักงานใหม่ หรือ จูเนียร์ อาจไม่ได้จำเป็นต้องมีทักษะรอบด้านมากนัก อาจมีเพียงวุฒิความรู้ จากนั้นก็อาศัยการศึกษาเพิ่มเติม แล้วเติบโตไปตามความรู้หรืออายุงานที่เพิ่มขึ้น แต่ตอนนี้ด้วยลักษณะองค์กรธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป จูเนียร์ – บัณฑิตจบใหม่ จะถูกคาดหวังให้มีทักษะเทียบเท่ากับ พนักงานที่มีประสบการณ์ พนักงานอาวุโส หรือที่นิยมเรียกว่า “ซีเนียร์” ตั้งแต่เริ่มต้นเข้าทำงาน ในบางธุรกิจบางตำแหน่งอาจถูกคาดหวังให้มีทักษะระดับเดียวกับผู้จัดการ สิ่งที่จะช่วยให้เติบโตในสายงานอาจกลายเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรม เพราะความรู้ของทุกคนเท่ากันและต้องรู้จักเรียนรู้ใหม่ตลอดเวลา ตามแนวทาง Learn-Unlearn-Relearn” นายพรวิทย์ กล่าว
ขณะเดียวกัน จูเนียร์ยุคใหม่ ยังถูกคาดหวังให้มีทักษะหลากหลาย (Multi-skills) มากขึ้น เพราะโครงสร้างองค์กรจะเป็นโครงสร้างแบบราบ (Flat Structure Organization) มากขึ้น ตำแหน่งงานบางตำแหน่งจะถูกรวบให้มาจบในตำแหน่งเดียว ทักษะเฉพาะทางในสายอาชีพ ทักษะด้านเทคโนโลยี ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น และทักษะที่เกิดจากการปฏิบัติจริง จะเป็นกลุ่มทักษะที่ถูกคาดหวังให้มีในพนักงานทุกคน
นายพรวิทย์ กล่าวอีกว่า ภาคการศึกษายังคงเป็นแกนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กพร้อมจะเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่เรียนรู้จากตำราในห้องเรียน หน้าที่สำคัญคือการเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ประสบการณ์จริง รวมถึงได้เข้าไปเรียนรู้งานจากผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เข้าใจความต้องการของธุรกิจ อาจารย์และคณะผู้บริหารเองก็ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ ทำงานใกล้ชิดกับสถานประกอบการพันธมิตร เพื่อให้เข้าใจบริบทของภาคธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
“พีไอเอ็มของเรามีจุดแข็งคือ PIM The Original เราเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกๆ ในเอเชียที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนรู้ควบคู่การทำงาน หรือ Work-based Education มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เราตระหนักเรื่องพลังของเครือข่าย หรือ Power of Networking จึงได้พยายามสร้างความร่วมมือกับองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำนวนมาก เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสไปฝึกงานและเรียนรู้จริงในองค์กรเหล่านั้น และมีโอกาสได้เข้าไปทำงานทันทีเมื่อเป็นบัณฑิต ที่สำคัญคือเมื่อเด็กทุกคนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง พวกเขาจะได้มีทักษะพร้อมสำหรับการทำงาน หรือ Ready to work ทำงานเก่ง สามารถก้าวข้ามจากสถานะนักศึกษาสู่การเป็นจูเนียร์ที่มีทักษะในระดับที่องค์กรคาดหวังทันที” นายพรวิทย์ กล่าว
ทั้งนี้ PIM The Original ได้สร้างเด็กๆ ให้กลายเป็นบัณฑิตที่มีทักษะหลัก 3 อย่าง ได้แก่ 1.ทักษะอาชีพ 2.ทักษะสังคม (Social Skills) เช่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น 3.ทักษะชีวิต (Life Skills) เช่น การบริหารรายรับ-รายจ่าย โดยส่วนสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มให้เด็กได้ทักษะครบทั้ง 3 อย่าง คือการไปฝึกงานอย่างเข้มข้น ทำให้เด็กพบเจอกับปัญหาต่างๆ ในการทำงานด้วยตัวเอง จนสามารถกลับมาปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มเติมในห้องเรียน รวมถึงฝึกฝนด้วยตัวเองได้
ปัจจุบัน หลักสูตรปริญญาตรีของพีไอเอ็มทุกหลักสูตร ประกอบไปด้วย การเรียนในสถาบันฯ ประมาณ 50-60% และการเรียนรู้จากสถานที่ทำงานอีก 40-50% ของเวลาเรียนในหลักสูตร ซึ่งแต่ละหลักสูตรได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายพันธมิตรจากทั่วโลก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา มีเครือข่ายพันธมิตรที่ให้ความร่วมมือทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกมากกว่า 150 แห่ง ผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ร่วมกันระหว่างสถาบันกับองค์กรต่างๆ ทั้งองค์กรธุรกิจ สถานศึกษา เช่น Japan’s City of Kitakyushu,SIASUN Automation (Singapore) Pte.Ltd., National Cheng Kung University ไต้หวัน, บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน), บริษัท ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด, และยังไม่รวมพันธมิตรกว่าหลายพันแห่งที่ทำความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ บัณฑิตที่จบมาจะมีทักษะหลากหลาย ตรงความต้องการของภาคธุรกิจ เช่น บัณฑิตสาขาการจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยว, สาขาการจัดการธุรกิจการบิน จะมีทักษะด้านภาษาถึง 3 ภาษา
นายพรวิทย์ กล่าวอีกว่า พีไอเอ็มยังเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการภาคธุรกิจทั้งปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งมุ่งมั่นหาองค์กรพันธมิตรเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง คาดว่าพีไอเอ็มจะยังคงเป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาที่มีเครือข่ายพันธมิตรมากที่สุด และใช้แนวทาง PIM The Original เพื่อช่วยให้ผู้เรียนกลายเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของทั้งองค์กร สังคม และประเทศชาติต่อไป
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ได้รับการรับรองวิทยฐานะจากกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 2550 ปัจจุบัน เปิดสอนในระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก ปริญญาตรี 26 หลักสูตร อาทิ การจัดการธุรกิจการค้าสมัยใหม่, ธุรกิจอาหารและภัตตาคาร, ภาษาต่างประเทศทางธุรกิจ, การจัดการโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง, ศึกษาศาสตร์, นิเทศศาสตร์, การบริการและการท่องเที่ยว, ธุรกิจการบิน, การบริหารคนและองค์การ, อสังหาริมทรัพย์และทรัพยากรอาคาร, วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านหุ่นยนต์ ยานยนต์, ไอทีและคอมพิวเตอร์, อุตสาหกรรมเกษตร และนวัตกรรมการจัดการเกษตร ปริญญาโท 4 สาขาวิชา ปริญญาเอก 1 สาขาวิชา และ 2 วิทยาลัยนานาชาติ มีวิสัยทัศน์ในการเป็น Corporate University ชั้นนำของอาเซียน ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้ผลิตผู้สำเร็จการศึกษามืออาชีพรวม 8,220 คน