สมาคมผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง

สมาคมผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง

สังคมไทยนั้นได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ

เป็นที่ทราบกันดีว่าสังคมไทยนั้นได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบเป็นที่เรียบร้อยแล้วเป็นเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยของเราได้เริ่มมีประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบในทุกๆมิติไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงด้านการแพทย์และสาธารณสุข

เมื่อมนุษย์ทุกคนได้ก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุ โดยองค์กรอนามัยโลกได้กำหนดตัวเลขของอายุอยู่ที่มากกว่า 60 ปีขึ้นไปซึ่งเป็นตัวเลขกลาง ที่ดูแต่มิติเดียวเท่านั้นคือตัวเลขของอายุ หากจริงๆแล้วการได้ชื่อว่าเป็นผู้สูงวัยนั้นอาจจะดูได้จากหลายมิติไม่ว่าจะเป็น ศักยภาพของการใช้ชีวิต การทำงาน รวมไปถึงสภาพความพร้อมต่างๆในการเข้าสังคม ซึ่งอาจจะทำให้ตัวเลขนั้นขยับไปมากกว่า 60 ปีก็ยังเป็นไปได้สำหรับบางคน บางสังคม ซึ่งแนวโน้มตัวเลขนี้ที่จะตัดแสดงความเป็นผู้สูงวัยน่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆในอนาคต

ต้องยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมายที่เกิดขึ้นกับผู้สูงวัยไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านร่างกายที่อาจจะมีโรคประจำตัวที่มากขึ้น ซับซ้อนขึ้น มีการใช้ยาและการดูแลต่างๆที่เฉพาะทางมากขึ้น รวมไปถึงทางด้านจิตใจและสภาพสังคมแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในยุคปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีต่างๆเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันรวมไปถึงการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากขึ้น ทำให้การดำเนินชีวิตของผู้สูงวัยในสังคมไทยในยุคดิจิตอลนี้มี 3 สิ่งที่สำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อน

1.ความรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และสามารถเข้าถึงข้อมูลที่มากมายมหาศาลอย่างไม่มีขีดจำกัด

2.พฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่แนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ทางวิธีการรับประทานอาหารการ ดูแลสภาพร่างกาย การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อตอบโจทย์ในชีวิตประจำวันมากขึ้น

3.ความสัมพันธ์ในครอบครัวมีความแตกต่างจากสมัยก่อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเทคโนโลยีมีส่วนทั้งช่วยทำให้ความห่างเหินอาจจะมากขึ้น แต่ก็มีอีกแง่มุมหนึ่งที่มันช่วยทำให้ความสัมพันธ์กระชับแน่นแฟ้นขึ้นเช่นกัน

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าผู้สูงวัยมีการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ ทั้งที่เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติและตามสภาพสังคมและเทคโนรีทีมเข้ามาเกี่ยวข้อง ถึงอย่างไรการดูแลผู้สูงวัยในยุคนี้ก็ยังคงสามารถใช้หลักการทางด้านสาธารณสุขที่จะมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ เพื่อที่จะคงไว้ซึ่งสุขภาพทางกายที่ดีมีจิตใจที่สมบูรณ์แข็งแรงและยังสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวไว้ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งนี่จะเป็นบทบาทหน้าที่ของผู้ดูแลผู้สูงอายุที่สำคัญ ซึ่งอาจจะเป็นคนที่ใกล้ชิดมากๆเช่นคนในครอบครัว หรืออาจจะเป็นคนที่ทำอาชีพเพื่อผู้สูงอายุโดยตรงก็จะสามารถนำเอาหลักการนี้ไปใช้ได้เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแล3 บทบาทหลักนี้ได้แก่

1.บทบาทที่จะสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันสุขภาพในระดับปฐมภูมิ(Health Promotion & primary prevention)

การตระหนักในบทบาทนี้และนำเอามาประยุกต์ใช้มีความสำคัญอย่างมาก เน้นในการที่จะเสริมสร้างสุขภาพผู้สูงวัยที่ได้ดูแลให้มีความแข็งแรง สุขภาพดีในทุกๆมิติทางด้านร่างกายจิตใจและสังคม เน้นในการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีจากภายในสู่ภายนอก เช่น การดูแลรับประทานอาหารที่ดี การดูแลในการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม การทำกิจกรรมที่สร้างเสริมสุขภาวะโดยรวม ดูแลคนหนึ่งคนในภาพรวมภาพใหญ่ เป็นคนทั้งคน การค้นหาคัดกรองความเสี่ยงที่ผู้สูงวัยอาจจะมีเน้นพบให้เร็วแก้ไขให้ได้เพื่อที่จะป้องกันการเกิดโรคความเจ็บป่วยและเน้นที่จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเจ็บป่วย ไม่สบายต่างๆให้ได้อย่างรวดเร็วเพื่อการคงไว้ซึ่งศักยภาพที่ดีของสุขภาพโดยรวมในทุกมิติ

2.บทบาทในการป้องกันสุขภาพในระดับทุติยภูมิ (Secondary prevention)

บทบาทนี้เป็นบทบาทหน้าที่หนึ่งที่สำคัญของผู้ดูแลเช่นกันเนื่องจากผู้สูงวัยบางคนเริ่มมีโรค ภัยไข้เจ็บที่เริ่มก่อตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านทางกาย ทางใจหรือความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก อาจกระทบโดยตรงถึงสุขภาพโดยรวม หากผู้สูงวัยได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยผู้ดูแลไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือคนที่ทำงานอยู่ในอาชีพนี้ที่ได้ตระหนักและมีความรู้ ความเข้าใจถึงความสำคัญและมีทักษะมากเพียงพอ ที่จะพบและทราบปัญหา อันจะนำมาซึ่งการดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงทีในช่วงที่ยังไม่มีอาการมากนัก ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อนสามารถที่จะลดความสูญเสียหรือภาวะที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆที่อาจจะตามมาในอนาคตได้ทำให้สุขภาพวะที่ดียังเกิดขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงวัยเป็นอย่างมาก

3.บทบาทในการป้องกันสุขภาพในระดับตติยภูมิ (Tertiary Prevention)

บทบาทนี้มีความสำคัญอีกเช่นเดียวกันสำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง หากผู้ดูแลกลุ่มนี้ มีความรู้ความเข้าใจและตระหนักในบทบาทที่สำคัญดังกล่าว ในการที่จะลดภาวะแทรกซ้อนอันเนื่องมาจากการเกิดความเจ็บป่วยขึ้นแล้วของผู้สูงวัยการลดความสูญเสียความพิการความไม่สบายกายสบายใจอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่องและมีผลลัพธ์จะทำให้สุขภาพวะโดยรวมของผู้สูงวัยเหล่านั้นดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญแม้ว่าจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้วก็ตาม

จะเห็นได้ว่าบทบาทการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงของประเทศไทยในปัจจุบันที่อยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมากมายและรวดเร็วนี้ มีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง

การเปลี่ยนแปลงองค์ความรู้ใหม่ๆ ศาสตร์ใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ มีการเชื่อมโยงและถ่ายเทข้อมูล การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนในทุกระดับของสังคมอย่างมากมาย รวดเร็วและทั่วถึง รวมทั้งการที่ผู้ดูแลจะต้องมีทักษะในการที่จะส่งเสริมสุขภาพและป้องกันภาวะต่างๆทั้ง 3 ระดับดังที่กล่าวไปซึ่งนับว่าเป็นงานใหญ่งานยากและเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนและทักษะเป็นอย่างยิ่ง

จึงนับได้ว่าบทบาทของการเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงในปัจจุบันเป็นบทบาทที่สูงส่งและสำคัญ เป็นจุดฟันเฟืองเล็กที่สุดในงานผู้สูงวัยหากแต่จะเป็นจุดที่มีความสำคัญที่สุดเช่นเดียวกัน ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยไทยดีขึ้น และเชื่อว่าหากท่านเหล่านี้มีทั้งคุณภาพอาชีพ ทั้งความรู้ ทักษะความชำนาญและคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว สังคมผู้สูงอายุไทยรวมไปถึงสังคมไทยโดยภาพรวมจะมีความสุขสวัสดีอย่างแน่นอน