สสว. จับมือ 8 ม.รัฐตั้ง Excellence Center
ใน 4 ภูมิภาค 8 แห่งทั่วประเทศ หวังเสริมสร้างเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รองรับการแข่งขันในยุค 4.0
สสว. จับมือ 8 มหาวิทยาลัย จัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศ หรือ Excellence Center ทั้งด้านเกษตร และด้านการพัฒนาชุมชน ครอบคลุม 4 ภูมิภาค 8 แห่งทั่วประเทศ มุ่งหวังให้เป็นกลไกสำคัญตามแผนปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ตั้งเป้ายกระดับองค์ความรู้ธุรกิจ 3,200 ราย อบรม Online และ Offline พร้อมพัฒนาและให้คำปรึกษาถึงสถานที่แบบเจาะลึก ขยายช่องทางการตลาดให้กับวิสาหกิจไม่น้อยกว่า 400 ราย เพิ่มศักยภาพเพื่อต่อยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือสร้างบริการใหม่ๆ ไม่น้อยกว่า 40 วิสาหกิจ รวมกว่า 40 ผลิตภัณฑ์/บริการ และผลักดันให้เกิดเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน 1 เครือข่ายต่อ 1 มหาวิทยาลัย ภายในปี 2562
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนเป็นหัวใจในการสร้างงาน สร้างรายได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนซึ่งมีความสำคัญและส่งผลโดยตรงกับระบบเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศเช่นเดียวกับกลุ่มผู้ประกอบการ SME และจากแผนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา สสว. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยท้องถิ่นทั่วประเทศ ส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนาที่ใช้ได้จริงตรงกับความต้องการของเกษตรกรในชุมชน รวมถึงพัฒนาธุรกิจชุมชนโดยการสนับสนุนทั้งด้านการรวมกลุ่มสร้างเครือข่าย และการสร้างกลไกพัฒนาร่วมกับภาคเอกชน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตของธุรกิจชุมชนสร้างการเติบโตทางรายได้ เพิ่มการเข้าถึงตลาดและทรัพยากร
“ในปีนี้ สสว. จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับ 8 มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลักดันให้เกิดศูนย์แห่งความเป็นเลิศ หรือ Excellence Center ขึ้น โดยดำเนินการภายใต้โครงการส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2562 ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมธุรกิจชุมชนด้วยการพัฒนาองค์ความรู้และการบริหารจัดการสมัยใหม่ พร้อมกับยกระดับด้วยการให้ชุมชนสามารถนำและใช้เครื่องจักร เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เหมาะสมกับธุรกิจ ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพและกระบวนการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการตลาด และนำวิสาหกิจที่มีศักยภาพไปทดสอบตลาดนอกพื้นที่ รวมถึงยังได้พัฒนาและยกระดับวิสาหกิจที่มีศักยภาพให้ได้มาตรฐานเพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้เพิ่มมากขึ้นได้แก่ สินค้า OTOP มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และ อย. เป็นต้น รวมถึงเรื่องการสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทั้งในระดับพื้นที่และระดับจังหวัดขึ้น”
สำหรับศูนย์แห่งความเป็นเลิศ หรือ Excellence Center สสว. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยของรัฐ จัดตั้งขึ้นภายในที่ตั้งของมหาวิทยาลัยทั้ง 8 แห่งครอบคลุม 4 ภูมิภาค รองรับวิสาหกิจชุมชนทั้ง 77 จังหวัด โดยจะดำเนินกิจกรรมการพัฒนาส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนพร้อมกันทั่วประเทศ ตามกรอบการส่งเสริมพัฒนา 2 ด้านได้แก่ ด้านภาคเกษตร และด้านสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยแบ่งพื้นที่ตามความรับผิดชอบดังนี้
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ 26 จังหวัด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยนเรศวร รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือ ครอบคลุม 17 จังหวัด มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รับผิดชอบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ ครอบคลุม 14 จังหวัด
“สสว. คาดหวังว่าการดำเนินงานของ ศูนย์ Excellence Center ครั้งนี้จะสามารถส่งเสริมพัฒนาเพื่อยกระดับให้วิสาหกิจชุมชนไทยเติบโตอย่างเข้มแข็งและมั่นคง พร้อมสำหรับการแข่งขันในยุค 4.0 พร้อมกันนี้ยังสามารถสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพิ่มมากขึ้นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป ตลอดจนสร้างรายได้ให้กับ 400วิสาหกิจชุมชนที่ผ่านการพัฒนาจากโครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ภายในปี 2562 นี้ได้สำเร็จ” ผอ.สสว.กล่าว
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อสอบถามได้ที่มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมทั้ง 8 มหาวิทยาลัย หรือติดตามรายละเอียดการเข้าร่วมโครงการได้ที่ www.sme.go.th และสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ Application SME Connext
สอบถามข้อมูลและข่าวประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมได้ที่ :
เหมือนฝัน นิลคูหา (กวาง) 094 224 4635 จิดาภา ประมวลทรัพย์ (ยุ้ย) 081 817 7153
ข้อมูลเพิ่มเติม
Øผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการช่วงสัมภาษณ์สด
1) คุณธนากร สุภาษา ผู้บริหาร บริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด : ผู้นำเครือข่ายธุรกิจประเภทเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายธุรกิจชุมชน ในการให้คำแนะนำการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ พร้อมช่วยเหลือในด้านช่องทางจำหน่ายในการนำผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิขชุมชนและชุมชน (กลุ่มชาวบ้าน) จาก อำเภอสันป่าตอง และบ้านต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านในอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และอำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผลิตกระดาษสา และผลิตภัณฑ์อื่นๆ หลายประเภทจากกระดาษสา
2) คุณมะสุกรี อาแวกาจิ และคุณฟัตฮีย๊ะ ดอเลาะ ผู้นำวิสาหกิจชุมชนอามีนตาลโตนด (A-min ตาลโตนด) ตำบลจะรัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ผู้ผลิตน้ำตาลโตนดเหลว น้ำตาลโตนดผง น้ำตาลแว่นขนาดเล็ก/ใหญ่ ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start up) ของ สสว. ในปี 2561 ทำให้ธุรกิจได้รับการพัฒนาและประสบผลสำเร็จ
Øผู้บริหารของมหาวิทยาลัย 8 มหาวิทยาลัย ที่จะเข้าร่วมเสวนา
“จุดเด่น Excellence Center ของแต่ละมหาวิทยาลัย และแนวทางในการพัฒนาส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนโดยใช้ Excellence Center เป็นกลไกในการขับเคลื่อนโครงการ”
1) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดี
2) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ รศ.ดร.สมนึก วิสุทธิแพทย์ รองอธิการบดี ฝ่ายพัฒนางานบริการวิชาการและอุตสาหกรรมสัมพันธ์
3) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผศ.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ
4) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ศ.น.สพ.ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม
5) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินและวิสาหกิจ
6) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รักษาการแทน รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนา มหาวิทยาลัยดิจิทัล
7) มหาวิทยาลัยนเรศวร ผศ.นพ.ยุทธพงศ์ พุทธรักษา ผู้ช่วยอธิการบดี
8) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.อภิชาต โสภาแดง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน E-LSCM และ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ บัณฑิตวิทยาลัย
รายละเอียดมหาวิทยาลัย กับ Excellence Center
- Excellence ด้านธุรกิจชุมชน : พัฒนายกระดับพร้อมต่อยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน และสร้าง Product Champion
- Excellence ด้านการเกษตร : พัฒนานวัตกรรมทางการเกษตรที่นำไปใช้เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและชุมชนได้ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงสร้างกลไกในการถ่ายทอดงานวิจัยอย่างมีส่วนร่วมไปสู่ชุมชน
Øภาคเหนือ 17 จังหวัด
1) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : Excellence ด้านธุรกิจชุมชน
จุดเด่น/ศักยภาพ : มีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหาร จัดการเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพของสินค้าและบริการเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชน สามารถนำเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้าและเหมาะสม เทคโนโลยีด้านพลังงานทางเลือกและการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ที่พัฒนาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาประยุกต์ใช้ในวิสาหกิจชุมชน นำนวัตกรรม องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสุขภาพมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนและบริการรูปแบบใหม่ๆ โดยมีการทำงานร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (STeP) และศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (FIN) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแบรนด์และยกระดับสินค้าพร้อมทั้งมีเครือข่ายที่สามารถเชื่อมโยงวิสาหกิจชุมชนไปยังตลาดเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม
2) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ : Excellence ด้านการเกษตร
จุดเด่น/ศักยภาพ : มีความเชี่ยวชาญในการด้านการจัดการเชิงสากลประยุกต์ในรูปแบบการผสมผสานธุรกิจเกษตรเพื่อความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตามศาสตร์พระราชา นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือที่ผ่านมาตรฐาน ISO และมีระบบงานด้านการเกษตรเทียบเคียงมาตรฐานอเมริกาและยุโรป โดยเป็นผู้ดำเนินการจัดทำเอกสารเพื่อยืนรับรองมาตรฐานดังกล่าว (USDA EU หรือ IFOAM) รวมถึงมีความร่วมมือกับหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา แถบ EU ที่จะสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อวิสาหกิจชุมชนได้
3) มหาวิทยาลัยนเรศวร : Excellence ด้านการเกษตร / ด้านธุรกิจชุมชน
จุดเด่น/ศักยภาพ : การใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มหาวิทยาลัยมี และเครือข่าย (เช่น Pilot Plant ของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 เครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค สถาบันการศึกษาในเขตภาคเหนือตอนล่าง) ประกอบกับความหลากหลายขององค์ความรู้และสาขาความเชี่ยวชาญของนักวิจัยในมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ช่วยสนับสนุนการทำวิจัยพัฒนาด้านนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ สมุนไพร และเครื่องสำอาง ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมผลผลิตทางการเกษตร สมุนไพร เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ และเครื่องสำอางที่จะตอบรับต่อความต้องการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และธุรกิจอื่นๆ รวมถึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในการให้การบริการแปรูป ผลผลิตทางการเกษตร สมุนไพร เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ และเครื่องสำอาง
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานให้บริการแก่ชุมชนครอบคลุมหลายมิติเป็นเครือข่ายอยู่มหาวิทยาลัย เช่น พื้นที่ส่งเสริมการออกแบบและพัฒนานวัตกรรม (Co-Working Space) ห้องปฏิบัติการอุทยานวิทยาศาสตร์ หน่วยออกแบบนวัตกรรม หน่วยบริการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา โรงงานต้นแบบแปรรูปอาหาร สถานที่ปรึกษาอุตสาหกรรมอาหารภูมิภาคอาเซียน-อเมริกา สถานสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย สถานวิจัยเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และหน่วยข้อมูลสมุนไพร ฯลฯ
Øภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด
4) มหาวิทยาลัยขอนแก่น : Excellence ด้านการเกษตร / ด้านธุรกิจชุมชน
จุดเด่น/ศักยภาพ : มีความชำนาญในการพัฒนาเครื่องมือเครื่องจักร เพื่อนำไปใช้ในการแปรรูปสินค้าเกษตรหลายประเภท เช่นเครื่องสีข้าวชุมชน สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากงานวิจัย การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สอดรับกับวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น เป็นต้น เช่น ผลิตภัณฑ์จากข้าว เนื้อ กาแฟ สมุนไพร และมีสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร สำหรับภาคเกษตรหลายเรื่อง ทำให้สามารถนำไปใช้ ช่วยวิสาหกิจชุมชนได้ ในราคาต้นทุนต่ำ
5) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี : Excellence ด้านการเกษตร / ด้านธุรกิจชุมชน
จุดเด่น/ศักยภาพ : มีองค์ความรู้ เครื่องมือเครื่องใช้ ความชำนาญ และ ประสบการณ์ ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และงานวิจัย มาใช้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่หลากหลาย ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์ชุมชนของกลุ่มวิสาหกิจต่างๆ
Øกรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคตะวันออก 26 จังหวัด
6) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนคร : Excellence ด้านการเกษตร / ด้านธุรกิจชุมชน
จุดเด่น/ศักยภาพ : มีการบูรณาการหน่วยงานภายในเพื่อให้บริการชุมชนอยู่แล้ว เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ในเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ด้านการจัดการอุตสาหกรรม ระบบอัตโนมัติ ระบบ IOT ห้องปฏิบัติการ ด้านการตรวจสอบในอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะการให้บริการแก่ธุรกิจชุมชนในรูปแบบการฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติ (Workshop) เพื่อให้เกิดผลสำเร็จที่จับต้องได้
Øภาคใต้ 14 จังหวัด
7) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ : Excellence ด้านการเกษตร / ด้านธุรกิจชุมชน
จุดเด่น/ศักยภาพ : มีสำนักวิชาครอบคลุมทุกศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนายกระดับและต่อยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปอาหาร สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่มีอาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และออกแบบบรรจุภัณฑ์ สำนักวิชาการจัดการที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และด้านการจัดการท่องเที่ยวซึ่งเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนและผลิตภัณฑ์สนับสนุนการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่าง ๆ กว่า 17 ศูนย์ ที่ผลิตผลงานวิจัยร่วมกับชุมชนและผู้ประกอบการเพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมด้านการเกษตรที่นำไปเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและชุมชนได้ เช่น ศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านวิทยาการพลาสม่าและแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งมุ่งสร้างนวัตกรรมด้านเครื่องอบไมโครเวฟเพื่อการเกษตร สามารถสร้างเครื่องอบผลิตภัณฑ์สมุนไพร ปาล์มน้ำมัน และรังนกเพื่อเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกรได้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์ที่เชี่ยวชาญและทำวิจัยด้านเกษตรแม่นยำได้นำเทคโนโลยี Smart Farm มาพัฒนาสวนผลไม้พื้นถิ่นให้ออกผลนอกฤดู มีประสบการณ์ในการให้บริการวิชาการแก่สังคมรายรอบ เช่น ชุมชนวังอ่างเกษตรทฤษฏีใหม่ 2 ไร่ รายได้หลายแสนต่อปี และชุมชนท่าซัก เจ้าของผลิตภัณฑ์ปลาดุกร้าต้นตำรับของประเทศไทย อนาคตมีแผนการที่จะสร้างรายได้และเป็นต้นแบบในการทำการเกษตรยุคใหม่ที่บูรณาการความรู้และผลงานวิจัยด้านต่างๆ เข้ามา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรที่ผลิตได้จากศูนย์ Smart Farm ซึ่งจะทำให้กลายเป็นเป็นศูนย์เรียนรู้ของกลุ่มวิสาหกิจทุกระดับในอนาคต
8) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ : Excellence ด้านการเกษตร / ด้านธุรกิจชุมชน
จุดเด่น/ศักยภาพ : มีประสบการณ์และมีความชำนาญในการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมแบบครบวงจรเพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการของวิสาหกิจชุมชน โดยเข้าใจถึงปัญหาของวิสาหกิจในพื้นที่ และสามารถ แก้ไขปัญหา ผ่านนักวิชาการและประสบการณ์ของนักธุรกิจ รวมถึงนวัตกรรมทางด้านเกษตรที่มี สามารถนำผลวิจัยมาช่วยในการเป็นข้อมูลให้เกษตรกร เพิ่มผลผลิต หรือ เพิ่มความแตกต่างทางผลิตภัณฑ์ ที่ทำให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ เข่น นวัตกรรมชะมวงโอน และทองพันชั่ง เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง
Øกิจกรรมที่สำคัญๆ ที่ Excellence Center แต่ละแห่งจะดำเนินการภายใต้โครงการ
ในส่วนกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนภายใต้โครงการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโครงการ ประกอบด้วยการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในเชิงลึกที่เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนที่กำลังต้องการพัฒนาความรู้ด้านธุรกิจ ไปจนถึงพัฒนาศักยภาพการผลิต ต่อยอดผลิตภัณฑ์/สินค้า รวมไปถึงสร้างช่องทางการขายใหม่ๆ ดังนี้
รอบที่ 1 จัดอบรมให้ความรู้ด้านอาชีพและธุรกิจกับผู้ที่ได้รับคัดเลือกโครงการจำนวน 400 ราย/มหาวิทยาลัย รวม 3,200 รายทั่วประเทศ โดยความรู้พื้นฐานด้านอาชีพและธุรกิจต่างๆ ความรู้ด้านบัญชีการเงิน การตั้งราคา รวมถึงความรู้ในการทำธุรกิจ ช่องทางการค้าและส่งเสริมการค้าออนไลน์ ไปจนถึงการสร้างแรงบันดาลใจหรือสร้างไอเดีย และการสร้างอาชีพใหม่ ๆ
รอบที่ 2 คัดเลือกวิสาหกิจที่มีศักยภาพ จำนวน 50 ราย/มหาวิทยาลัย รวม 400 ราย ทั่วประเทศ เข้าฝึกอบรมและพัฒนาเชิงลึกใน 5 ด้านได้แก่ 1.ด้านการบริหารจัดการองค์กรหรือธุรกิจ เช่นการทำหรือพัฒนาแผนธุรกิจ ฯลฯ 2. ตราสินค้า LOGO และบรรจุภัณฑ์ หรือภาพลักษณ์บริการ 3. ด้านการผลิต สำหรับภาคเกษตรและภาคการผลิต หรือด้านการบริการสำหรับภาคบริการ 4.ด้านการสร้างหรือพัฒนาสินค้า /ผลิตภัณฑ์ สำหรับภาคเกษตรและภาคการผลิต หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับภาคบริการ เป็นต้น 5. การสร้างช่องทางการประชาสัมพันธ์ และช่องทางตลาดออนไลน์ ด้วย Website 1 Website และSocial Media
รอบที่ 3 คัดเลือกวิสาหกิจที่มีศักยภาพ 20 ราย/มหาวิทยาลัย รวม 160 ราย ทั่วประเทศ เพื่ออบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และอบรมให้ความรู้เพื่อยกระดับเข้าสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อการค้า ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ โดยรอบนี้จะเป็นการผลักดันให้เกิดเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน 1 เครือข่ายต่อ 1 มหาวิทยาลัย พร้อมนำงานวิจัย นวัตกรรม และองค์ความรู้ต่างๆ มาใช้พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และสินค้าครบมิติ ทั้งการผลิต บรรจุภัณฑ์ รวมถึงการบริการและการบริหาร โดยมีเป้าหมายพัฒนาต่อยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์หรือบริการ /มหาวิทยาลัย รวมทั้งสิ้น 40 ผลิตภัณฑ์/บริการ
รอบสุดท้าย เป็นการนำวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพ 400 ราย เข้าร่วมกิจกรรม เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และจำหน่ายสินค้าภายในงานแสดงสินค้าที่จัดขึ้นเป็นการทดลองการทำตลาดจริง ก่อนที่วิสาหกิจชุมชนจะก้าวออกไปสู่การแข่งขันในตลาดต่อไป