GIZ ประสานความร่วมมือ มกอช. และกรมวิชาการเกษตร
GIZ ประสานความร่วมมือ มกอช. และกรมวิชาการเกษตร เสริมทักษะ ความรู้ พัฒนาบุคลากรด้านการจัดการระบบตรวจสอบและกักกันสินค้าพืช
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม “National Training Workshop on Development of Phytosanitary Standard Operating Procedures” ซึ่งจัดขึ้นโดย ความร่วมมือกันระหว่าง องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft fur Internationale Zusammenarbeit:GIZ) ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมวิชาการเกษตร ในการเป็นเจ้าภาพร่วมกันจัดอบรมให้กับเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง และจากด่านกักกันพืชของกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากกองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร และกองควบคุมมาตรฐาน มกอช. จำนวนทั้งสิ้น 25 คน เพื่อให้ความรู้และแนวทางในการพัฒนาคู่มือการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedures; SOP) ณ สถาบันเกษตรตราธิการ กรุงเทพฯ
ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวภายหลังจากพิธีมอบเกียรติบัตรว่า การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “National Training Workshop on Development of Phytosanitary Standard Operating Procedures” เป็นความร่วมมือกันระหว่าง องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft fur Internationale Zusammenarbeit:GIZ) ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมวิชาการเกษตร ในการเป็นเจ้าภาพร่วมกันจัดอบรมให้กับเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง และจากด่านกักกันพืชของกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากกองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร และกองควบคุมมาตรฐาน มกอช. จำนวนทั้งสิ้น 25 คน เพื่อให้ความรู้และแนวทางในการพัฒนาคู่มือการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedures; SOP) สำหรับการตรวจสอบและกักกันสินค้าพืชของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากกรมวิชาการเกษตรและ มกอช. โดยเชิญ Mr. Jos von Meggelen วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการระบบตรวจสอบและกักกันสินค้าพืช จากหน่วยงานความปลอดภัยอาหารของประเทศเนเธอร์แลนด์ (Netherlands Food and Consumer Product Safety Authority) มาให้ความรู้ความเข้าใจในด้านหลักการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน และให้ข้อคิดเห็นต่อร่างคู่มือการปฏิบัติงานของไทย
การฝึกอบรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการอำนวยความสะดวกด้านการค้าสินค้าเกษตรในภูมิภาคอาเซียน (Facilitating Trade for Agricultural Goods in ASEAN: FTAG) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือทางเทคนิคที่ดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความร่วมมือภายในประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกฎระเบียบการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตร การพัฒนาสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานของประเทศคู่ค้า การปรับปรุงพัฒนาข้อมูล และการหารือทางเทคนิคด้านการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตร ผ่านช่องทาง ASEAN Focal Point ให้ชัดเจนและเข้าใจง่าย โดยมีกรอบระยะเวลาการดำเนินการ 2 ปี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 – มิถุนายน 2562ในพื้นที่ประเทศเป้าหมาย 3 ประเทศได้แก่ ประเทศไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยสำหรับประเทศไทย มกอช. เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในโครงการดังกล่าว ในฐานะหน่วยงานผู้ร่วมมือ (Partner) ของ GIZ
เลขาธการ กล่างต่อไปว่า ทั้งนี้ มกอช. มอบหมายนายวิชา ธิติประเสริฐ ที่ปรึกษา มกอช. เป็นประธานของผู้แทนไทยในคณะกรรมการขับเคลื่อน โดยเจ้าหน้าที่ GIZ จะทำหน้าที่ประสานงานโครงการและกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการ และมีการจัดประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนทุก 1 ปี ครั้งล่าสุดเป็นครั้งที่ 3 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 ณ เมืองพัทยา ประเทศไทย ซึ่งในการประชุมดังกล่าว ที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกันให้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาคู่มือการปฏิบัติงาน (SOP) โดยมีเป้าหมายให้ไทยสามารถพัฒนา SOP และสามารถนำไปใช้จริง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศต่อไป
คู่มือการปฏิบัติงาน (SOP) เป็นแนวทางสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ใช้ในการตรวจสอบและกักกันสินค้าพืชในการนำเข้าและส่งออก ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการตรวจสอบและกักกันพืชอย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และเป็นไปตามมาตรฐานสากล อันเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเลกทรอนิคส์ (e-Phyto) ของไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มทดลองใช้ภายในประเทศได้ในเดือนกรกฎาคม 2562 นี้ และจะสามารถทดลองเชื่อมต่อกับระบบของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ได้ภายในสิ้นปี 2562 เลขาธิการกล่าว...