รางวัล "ค่าของแผ่นดิน" เกียรติยศแห่งแผ่นดิน
รางวัลทรงเกียรติระดับชาติรางวัลหนึ่งคือรางวัล “ค่าของแผ่นดิน” นั้น เป็นรางวัลที่รัฐบาลได้จัดทำขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติให้แก่บุคคล องค์กรหรือชุมชนที่ทำคุณประโยชน์ต่อสังคมอย่างมุ่งมั่น เสียสละ อุทิศใจกายด้วยความสมัครใจอย่างไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ในปีนี้มีบุคคล องค์กร ชุมชนจำนวน 16 คน/แห่ง ได้รับคัดเลือกจากคณะอนุกรรมการพิจารณาสรรหาให้เป็นผู้มีความเหมาะสม โดยการมอบรางวัลอันสูงด้วยคุณค่า ได้รับเกียรติจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เป็นประธานในพิธีที่หอประชุมอาคารนวมภูมินทร์ วชิราวุธวิทยาลัย
เจตนารมณ์ของรางวัล “ค่าของแผ่นดิน” นี้ มุ่งหมายจะเป็นเครื่องหมายแห่งการยกย่อง สรรเสริญ ชื่นชม เป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ได้รางวัล ตลอดจนขยายผลการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับบุคคล องค์กรหรือชุมชนอื่นที่จะสร้างสรรค์ความดีและความมีน้ำใจงามของคนไทยให้คงอยู่สืบต่อไป โดยแบ่งรางวัลออกเป็น 6 ด้านคือ 1.ด้านการเกษตรของชุมชน 2.ด้านการศึกษาของชุมชน 3.ด้านสาธารณสุขของชุมชน 4.ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชน 5.ด้านส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต 6.ด้านการส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่น ซึ่งมีผู้ได้รับรางวัลจากหลากหลายภูมิภาคทั่วประเทศ
รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสัมโมทนียกถาแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลและเน้นให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับรางวัลนี้มากเพราะถือว่าเป็นรางวัลที่ให้แก่บุคคลผู้ซึ่งทำคุณประโยชน์และมีคุณค่ายิ่งใหญ่ต่อแผ่นดิน โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ มีวิสัยทัศน์ มีความเที่ยงธรรม มีประสบการณ์มาเป็นประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาสรรหาผู้ที่มีความเหมาะสมควรแก่รางวัล อาทิ อดีตปลัดกระทรวง ครูอาจารย์ นักปราชญ์ราชบัณฑิต จึงมั่นใจว่าการคัดสรรเป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุมและสามารถสรรหาบุคคล องค์กรหรือชุมชนที่คู่ควรกับรางวัลอันทรงเกียรติรางวัลนี้
“ผมเองและรัฐบาลได้เห็นประวัติและผลงานของทุกท่านที่จะได้รับรางวัลในปีนี้แล้ว ท่านนายกรัฐนตรีก็ได้เห็นแล้วและก็มีความชื่นชมยินดีพอใจมาก ท่านบอกว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่เพชรในตมเพราะหลายคนมีชื่อชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว หากถือว่าเป็นเพชรที่อยู่นอกตมแต่เรานำมาแสดงให้ปรากฏอีกครั้งหนึ่ง” นายวิษณุกล่าว
รองนายกรัฐมนตรียังได้เอ่ยชื่นชมผู้ได้รับรางวัลว่า “ผมเคยได้ประจักษ์ในผลงานของผู้ได้รับรางวัลหลายท่านมาแล้วหลายปี เช่น ท่านสุมน อมรวิวัฒน์ ที่ราชบัณฑิตยสภาหรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกคนประจักษ์ในผลงานของท่านเป็นอย่างดีด้านการศึกษา หรืออย่างอาจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ก็เป็นที่ประจักษ์ผลงานของท่านทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และในวงสังคมที่เกี่ยวกับการสงเคราะห์ช่วยเหลือคนพิการ หรือแม้แต่นายหนังตะลุงที่นครศรีธรรมราชซึ่งพิการแต่มีไหวพริบปฏิภาณยอดเยี่ยม ทำให้หนังตะลุงเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ นั่นก็มีผลงานดีเด่นเป็นที่รู้จัก หรือการอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นภาษาล้านนา ล้านช้าง ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของวัดพระสิงห์ หรือบทบาทในด้านการสาธารณสุขของท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนผึ้ง สิ่งเหล่านี้เราเคยเห็นชื่อหรือผลงานท่านผ่านสื่อต่างๆ มาแล้วทั้งนั้น บางคนก็ได้รับรางวัลหลายประเภทมาแล้ว และผมเชื่อว่าท่านจะยังคงได้รับรางวัลหลายประเภทต่อไป”
นายวิษณุให้ความเห็นต่อรางวัลนี้ว่านอกจากจะต้องการยกย่องเชิดชูเกียรติให้ขวัญกำลังใจผู้เป็นเจ้าของผลงานแล้ว ก็ยังปรารถนาให้เกิดแรงบันดาลใจไปสู่ผู้อื่นให้เกิดความรู้สึกอยากเอาอย่าง เกิดความรู้สึกมานะ คนที่ทำอยู่แล้วก็อาจจะต้องทำความเพียรให้มากขึ้นเพราะรู้สึกว่าการได้รับคำยกย่องนั้นมันทำให้เกิดความปีติอิ่มเอิบและก็มีพลังในการทำงานว่าสังคมได้เห็นถึงผลงานของตน
นอกจากนี้ นายวิษณุยังกล่าวยกย่องผู้ได้รับรางวัลว่าทุกคนเป็น “ค่าของแผ่นดิน” โดยที่เป็นข้ารับใช้แผ่นดิน แผ่นดินในที่นี่คือประชาชน ทุกคนได้ดำเนินตามตามรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อย่างแท้จริงในเรื่องของศาสตร์พระราชา ในเรื่องของการพึ่งพาตนเอง ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ในเรื่องของการช่วยเหลือสังคม และก็ยิ่งกว่านั้นสิ่งที่ทำกันมาคนละหลายสิบปี ก็ตรงกับสิ่งที่เรารณรงค์อยู่ในเวลานี้คือเรื่องจิตสำนึกรับใช้สาธารณะซึ่งเป็นพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันในเรื่องจิตอาสา จึงเท่ากับว่าได้เดินตามรอยพระยุคลบาทพระเจ้าอยู่หัวถึงสองรัชกาล
“เราต้องทำให้คนไทยด้วยกันได้รู้จักว่าสังคมไทยเรายังมีคนดีคนเสียสละ คนที่มีจิตอาสา คนที่ใช้ศาสตร์พระราชาทำงานอยู่ด้วยความเพียรบริสุทธิ์และด้วยความสุจริตใจ คนเหล่านี้ยังมีอยู่ประเทศไทยจึงอยู่ได้” รองนายกรัฐมนตรีกล่าวในที่สุด
การทำงานของทั้ง 16 บุคคล องค์กร ชุมชนที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ เป็นการทำงานตามแบบอย่างพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานไว้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2506 ว่า “การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนักเพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้”