CAT ร่วมสนับสนุนงาน “Thailand Cybersecurity 2019”
บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ร่วมสนับสนุนงาน “Thailand Cybersecurity 2019” มหกรรมนิทรรศการและการประชุมระดับสากล ภายใต้แนวคิด Cyber Security Digital Transformation
บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ร่วมสนับสนุนงาน “Thailand Cybersecurity 2019” มหกรรมนิทรรศการและการประชุมระดับสากล ภายใต้แนวคิด Cyber Security Digital Transformation ที่ทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมมือกับ อาร์เอสเอ คอนเฟอเรนซ์ (RSA Conference) และไซเบอร์เทค โกลบอล อีเวนต์ (CYBERTECH Global Events) จัดขึ้นเพื่อให้คนไทยพร้อมรับ-ปรับตัวสู่ดิจิทัลอย่างมั่นคงปลอดภัยที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว เมื่อวันที่ 19-20 มิถุนายน 2562 โดยได้รับเกียรติจากท่าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดงาน
ปัจจุบัน กระทรวงดิจิทัลฯ มีภารกิจในการควบคุม กำกับดูแล ส่งเสริม และผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ในฐานะหน่วยงานที่ส่งเสริมธุรกรรมออนไลน์และอีคอมเมิร์ซ อีกทั้งยังมีบทบาทใหม่ในการเป็น Regulator ที่กำกับดูแลการทำธุรกิจบริการด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และในอนาคตจะมี 2 หน่วยงานใหม่ อย่าง สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาช่วยขับเคลื่อนไทยให้ก้าวสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ที่มั่นคงปลอดภัยเทียบเท่านานาชาติ
จากข้อมูลของ European Parliament พบสถิติภัยคุกคามไซเบอร์ของโลกที่น่าสนใจ ประจำปี 2018 คือ 92% ของการติดมัลแวร์มาจากช่องทางอีเมล์ และWeb-based attacks –มีแนวโน้มการโจมตีระบบ CMS เพิ่มขึ้น รวมทั้ง Web application/injection attacks – SQL injection is the most common ส่วน Phishing ถูกใช้เป็นช่องทางการกระจายมัลแวร์ถึง 90% และเป็นต้นเหตุของ data breaches ถึง 72% ขณะที่ DDoS หรือ การจู่โจมเว็บไซต์เป้าหมาย โดยอาศัยการรุมจู่โจมจากหลายๆ ที่ พร้อมๆ กัน สำหรับประเทศไทย จากสถิติการรับมือภัยคุกคามของไทยเซิร์ต ปี 2018 พบว่า ได้รับแจ้งเหตุและประสานงานรับมือภัยคุกคามทั้งสิ้น 2,520 ครั้ง รูปแบบภัยคุกคามพบมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ภัยจากการพยายามบุกรุกหรือเจาะเข้าระบบ (intrusion Attempts) รองลงมาคือการฉ้อฉล ฉ้อโกง หรือหลอกลวงเพื่อผลประโยชน์ (Fraud) และการบุกรุกหรือการเจาะระบบได้สำเร็จ (intrusions)
ดร.วงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ในฐานะผู้ร่วมสนับสนุนงาน “Thailand Cybersecurity 2019” กล่าวว่า “ปัจจุบันองค์กรต่างๆ พึ่งพาระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ในการทำงานเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามหลายหน่วยงานไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยด้าน ไซเบอร์มากนัก ทำให้ระบบด้านดิจิทัลเหล่านี้มีความเสี่ยงจากการถูกโจมตีในรูปแบบต่างๆ เช่น การถูกโจรกรรมข้อมูล การทำให้ระบบขัดข้องใช้งานไม่ได้ หรือการทำให้ระบบทำงานผิดปกติจากที่ควรจะเป็น ซึ่งเมื่อระบบถูกโจมตีแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจมีมูลค่าสูงและแก้ไขได้ยาก ทุกหน่วยงานจึงควรให้ความสำคัญกับการป้องกันภัยคุกคามด้านไซเบอร์”
ปัจจุบัน CAT มีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์โดยเฉพาะที่สามารถเข้าประเมินความเสี่ยงของระบบเครือข่าย วิเคราะห์ช่องโหว่ ตรวจสอบและทดสอบความปลอดภัยของระบบ (Vulnerability Assessmentand Penetration Test) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ และยังมีนักวิเคราะห์ระบบทำหน้าที่เฝ้าระวังความปลอดภัยระบบเครือข่ายและเทคโนโลยีสารสนเทศแบบ Real-time ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านศูนย์ปฏิบัติการ Security Operation Center (SOC) ของ CAT ซึ่งเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐาน ISO 27001 นอกจากนั้นภายใต้การดำเนินงานที่เต็มประสิทธิภาพ ทีม CAT CSIRT พร้อมเข้ายับยั้ง และแก้ไขปัญหา ภัยคุกคามที่เข้ามาในระบบเครือข่ายที่จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรและการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ดร. วงกต กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากประสบการณ์ที่ CAT ให้บริการด้าน Cyber Security มากว่า 12 ปี เราพบว่าภัยคุกคามด้านไซเบอร์มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในหลายประเทศได้เกิดกรณีที่เกิดความเสียหายร้ายแรงมาแล้ว เรื่องภัยคุกคามด้านไซเบอร์จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด การมีระบบการป้องกันและการเฝ้าระวังที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้”