ภัยหญิงใกล้ตัวปวดท้องให้ระวังนิ่วในถุงน้ำดี
ผศ.นพ.อุทัย เก้าเอี้ยน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
นิ่วในถุงน้ำดีหรือ (Gallstone) เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการใด ๆ เกิดขี้นอย่างเงียบ ๆ โดยไม่รู้ตัว ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จึงขอหยิบยกเรื่องโรคนิ่วในถุงน้ำดีมากล่าวถึงพร้อมแนะแนวทางปฏิบัติตนให้เหมาะสม
สำหรับโรคนิ่วในถุงน้ำดี พบอุบัติการณ์ผู้ป่วยในประเทศไทยร้อยละ 5-10 ของประชากร เป็นโรคที่ป้องกันได้ยาก เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดนิ่ว นิ่วจากคอเรสเตอรอลพบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2-3 เท่า พบมากในวัย 40 ปีขึ้นไปหรือวัยกลางคนที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ และพบมากในคนอ้วน การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงทำให้มีคอเลสเตอรอลสะสมในถุงน้ำดีมากเกินไป และพบมากในผู้ที่มีอาการจุกแน่นบ่อย ๆ หลังรับประทานอาหารไขมันสูง และมีอาการปวดท้องบ่อย ๆ หลังรับประทานอาหาร นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ก็สามารถเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้เช่นกัน
ถุงน้ำดีเป็นอวัยวะขนาดเล็กอยู่ในช่องท้อง ลักษณะรูปร่างคล้ายผลแพร์ ขนาดยาว 3 นิ้ว กว้าง 1 นิ้ว อยู่ใต้ตับบริเวณชายโครงขวา ทำหน้าที่เป็นแหล่งพักของน้ำดี ที่สร้างจากตับและดูดน้ำและเกลือแร่จากน้ำดี เพื่อให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิมถึง 7 เท่า ทำให้สามารถส่งออกเพื่อย่อยอาหารประเภทของทอด ของมัน ด้วยปริมาณน้อยอย่างมีประสิทธิภาพในลำไส้เล็กได้ น้ำดีที่สร้างจากตับ มีส่วนผสมของคอเลสเตอรอล บิลลิรูบินและเกลือน้ำดีในสัดส่วนพอเหมาะ ให้คงสภาพสารละลาย แต่เมื่อใดที่องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้ผิดไปจากปกติ เช่น มีการเพิ่มขึ้นมากเกินไปของคอเลสเตอรอล หรือบิลลิรูบิน หรือการลดลงของเกลือน้ำดี ร่วมกับการหดตัวน้อยลงของถุงน้ำดี จะทำให้เกิดการตกตะกอนของสารละลาย กลายเป็นเม็ดนิ่วเกิดขึ้นในถุงน้ำดี และนิ่วอาจหลุดไปอยู่ในที่อื่น ๆ เช่น ท่อน้ำดี หรือลำไส้เล็ก ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างกับร่างกาย
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี มี 13 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. ภาวะทางพันธุกรรม ทำให้มีการหลั่งคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นในน้ำดี พบมีส่วนในการก่อโรคประมาณร้อยละ 25 ของสายพันธุ์นั้น ๆ 2. ภาวะอ้วน ยิ่งอ้วนมาก ยิ่งทำให้ร่างกายหลั่งคอเลสเตอรอลมากขึ้น ทำให้มีโอกาสเกิดนิ่วในถุงน้ำดี 3 เท่า ของผู้ที่ไม่อ้วน 3. การสูญเสียน้ำหนักตัวลงมากอย่างเฉียบพลัน ซึ่งมักเกิดจากการลดอาหารให้เหลือพลังงานน้อยกว่า 500 แคลอรี่ต่อวัน นาน 12 – 16 สัปดาห์ หรือจากการทำให้กระเพาะหดเล็กลงด้วยวิธีการผ่าตัดกระเพาะทิ้งบางส่วน หรือโดยการรัดกระเพาะ จะเกิดปัญหาขึ้นภายใน 2 – 3 เดือน เพราะตับหลั่งคอเรสเตอรอลเพิ่มมากขึ้น 4. การอดอาหารโดยเฉพาะอาหารเช้า จะทำให้มีการเพิ่มขึ้นของคอเลสเตอรอล และลดเกลือน้ำดีร่วมกับการหดตัวน้อยลงของถุงน้ำดี 5. การรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก ทั้งคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ และอาหารประเภทกากใยต่ำเป็นประจำ 6. การไม่ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ จะทำให้ถุงน้ำดีหดตัวน้อยลง 7. โรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน ตับแข็ง โรคตับอื่น ๆ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคเลือด ภาวะซีด และการติดเชื้อในท่อน้ำดี การแตกตัวของเม็ดเลือดแดง จนเพิ่มบิลลิรูบินขึ้นมาก โรคของลำไส้เล็กส่วนปลาย หรือการผ่าตัดลำไส้เล็กส่วนนี้ 8. ยาต่าง ๆ เช่น ยาลดไขมัน ยาคุมกำเนิด ฮอร์โมน 9. ช่วงที่ตั้งครรภ์ทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น 10. ภาวะที่ร่างกายมีไขมันดี เอชดีแอล ต่ำ 11. ผู้หญิงและผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เพศหญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชาย 2 – 3 เท่า และโอกาสเป็นเพิ่มสูงขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ในนิ่วที่เป็นคอลเลสเตอรอล 12. ผู้ที่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่อย่างมาก และ13. การให้สารอาหารทางเส้นเลือดเป็นเวลานาน หรือการผ่าตัดหน้าท้อง
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีนิ่วในถุงน้ำดี มักจะไม่แสดงอาการใด ๆ ในรายที่มีอาการ อาจจะเป็นเพียงอาการอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย เรอบ่อย มีเพียงบางรายที่จะมีอาการปวดท้องบริเวรดังกล่าวอย่างรุนแรง (บริเวณชายโครงขวา หรือลิ้นปี่) หลังรับประทานอาหารที่เป็นของทอด ของมัน อาจปวดตื้อๆ หรือท้องเกร็ง ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ และค้างไว้ระยะหนึ่งแล้ว ปวดน้อยลง เป็นๆหายๆ ช่วงละ 15 – 30 นาที อาจปวดร้าวไปหลัง หรือบริเวณสะบักหลังหรือหัวไหล่ขวา (อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย) ในรายที่นิ่วอุดตันท่อน้ำดี อาจทำให้ผู้ป่วยมีไข้สูง หนาวสั่น และตาเหลืองได้ การตรวจร่างกายที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง มักจะตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่หากมีอาการปวดท้องรุนแรง เวลากดหน้าท้องใต้ชายโครงขวา ผู้ป่วยจะกลั้นหายใจ เนื่องจากปวดท้องมาก อาจตรวจได้ไข้สูงและตาเหลือง นิ่วในถุงน้ำดีหากไม่รีบรักษา จะทำให้นิ่วที่อยู่ในถุงน้ำดี ตกไปในท่อน้ำดี กลายเป็นนิ่วในท่อน้ำดี มีความยุ่งยากในการรักษา และเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี ก็คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ใส่ใจไปตรวจ เพราะยังมีความเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของโรคกระเพาะอาหาร ก็ไปซื้อยาลดกรดหรือยารักษาโรคกระเพาะมารับประทานเอง เมื่อมาพบแพทย์ก็อักเสบและมีอาการรุนแรงมากแล้ว จนก้อนนิ่วตกไปในท่อน้ำดีแล้ว ซึ่งจะทำให้การรักษายุ่งยากมากขึ้น การรักษานิ่วในถุงน้ำดีแม้จะมีหลายวิธี แต่การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกเป็นวิธีการที่แก้ปัญหาได้อย่างถาวร
สอบถามเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
คุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์ (โป้ง)
บริษัท ไอเวิร์คพีอาร์ จำกัด
โทรศัพท์ 081-421-5249 อีเมล์ : [email protected]