มาตรการเยียวยาด้านการท่องเที่ยวและกีฬา
เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเดินหน้านโยบายและมาตรการด้านการท่องเที่ยว/ด้านการกีฬา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 พร้อมเร่งสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวให้กลับมา สร้างเม็ดเงินกระจายรายได้สู่ชุมชน ประชาชนเที่ยวได้พร้อมสุขอนามัยที่ดีด้วยมาตรการ “สะอาด ปลอดภัย มั่นใจในสุขอนามัย เป็นธรรม และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ผ่านคลิปประชาสัมพันธ์ “เพราะเรา...จะก้าวข้ามเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน”
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า “จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในประเทศไทยเป็นอย่างมาก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเล็งเห็นความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยให้คงอยู่ และมีความพร้อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยต่อไป นับตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนจนถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินมาตรการด้านการควบคุมโรคที่ใช้หลายมาตรการควบคู่กัน และที่สำคัญเกิดจากความร่วมมือของประชาชนทุกคน และทุกภาคส่วนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค ด้วยนโยบายและมาตรการด้านการท่องเที่ยวและกีฬา ในการเสริมสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง นอกจากนี้ กระทรวงฯ มีมาตรการการเยียวยาแก่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมกีฬา ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID ด้วย 5 นโยบายสำคัญ ได้แก่
- Thailand Tourism Brand ผลักดันและส่งเสริม เพื่อ “สร้างแบรนด์ เที่ยวไทย ให้จดจำ”ควบคู่กับการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- Smart Tourism Village สนับสนุนพัฒนาการท่องเที่ยวในแบบ “เที่ยวชุมชน สุขใจ ที่ปลายทาง” พร้อมระบบการจัดการสมัยใหม่
- Tourism Safety and Health Standard ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและสุขภาพของนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางด้วยนิยาม “มั่นใจไทยเที่ยวได้ สุขภาพดี”
- Skilling, Upskilling and Reskilling Tourism worker ยกระดับทักษะของบุคลากรด้านการท่องเที่ยวทั้งระบบ เพื่อความเป็น “มืออาชีพ”
- Tourism Database Development พัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการท่องเที่ยวของประเทศและยกระดับความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) พร้อมเสริม Cleanness พัฒนาระบบการบริหารจัดการท่องเที่ยวให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นอกจากนี้ยังเดินหน้าแผนฟื้นฟูและเยียวยานักกีฬา และบุคลากรทางการกีฬาที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด - 19 ผ่านเงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติและวางกรอบแนวทางการคลายล็อคการแข่งขันกีฬาบางชนิด พร้อมให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเรื่องข้อควรปฏิบัติในการเล่นกีฬาในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ โควิด-19