BEDO ชูเทคโนโลยี การเพาะขยายเห็ดป่าไมคอร์ไรซาแบบจำลองธรรมชาติ

ตั้งเป้าให้คนไทยหันปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน รวมทั้งเห็ดป่าจะช่วยสร้างคุณค่า มูลค่า และรายได้ ให้กับชุมชนในอนาคต
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO เตรียมส่งเสริมชุมชน หันมาปลูกต้นไม้ที่ใส่เชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา เพิ่มพื้นที่สีเขียว หลังงานวิจัย “การเพาะขยายเห็ดป่าไมคอร์ไรซาแบบจำลองธรรมชาติ” ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ - แพร่ เฉลิมพระเกียรติ พบว่า ต้นกล้าที่ใส่เชื้อเห็ดเจริญเติบโตได้รวดเร็ว และต้นไม้เจริญเติบโตได้ดีกว่า 2 – 3 เท่า ช่วยสร้างคุณค่า มูลค่า และรายได้ ให้กับชุมชน ไม่เพียงช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ยังสร้างรายได้จากเห็ด ให้กับชุมชนอีกด้วย
ในอดีต ภาพจำของจังหวัดแพร่ คือแหล่งไม้สักที่มีคุณภาพดี จากความสมบูรณ์ของป่าผืนใหญ่ ที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพรรณไม้ พืช สมุนไพรต่างๆ จากรายงานของกรมป่าไม้ปี พ.ศ.2543 จังหวัดแพร่ มีพื้นที่ป่า เนื้อที่รวม 2,810,975 ไร่ ร้อยละ 69.37 แต่ในปี 2562 จังหวัดแพร่ มีพื้นที่ป่าคงเหลือ 2,627,401.47 ไร่ ร้อยละ 64.84 จะเห็นว่าระยะ 10 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ป่าลดลงร้อยละ 4.53
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานกรรมการฯ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO กล่าวถึงความสำคัญของพื้นที่ป่าไม้ ว่า เป็นแหล่งพึ่งพาอาศัยของชาวบ้าน ในการหาอยู่ หากิน อาทิ การหาผักหวาน ไข่มดแดง และหาเห็ดป่า ทั้งเห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดตะไคล เห็ดน้ำหมาก เห็ดน้ำแป้ง เห็ดถ่านเป็นวิถีชุมชนพึ่งพิงพึ่งป่าเพื่ออุปโภคและสร้างรายได้มาสู่ครัวเรือนมาช้านาน ซึ่งเห็ดป่าเหล่านี้เป็นเห็ดไมคอร์ไรซา ที่เจริญเติบโต อย่างพึ่งพาอาศัย และเกื้อกูลกับรากไม้ป่าบางชนิดอย่างเหมาะสม ด้วยเหตุนี้ BEDO จึงร่วมมือสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ - แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จัดทำโครงการนำร่อง วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ซาแบบจำลองธรรมชาติ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน โดยทำการศึกษาวิจัย ส่งเสริมให้ชุมชนเพาะเห็ดป่าร่วมกับการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ
อาทิ การเพาะเห็ดตับเต่าร่วมกับการปลูกไม้ผลและไม้ดอกเศรษฐกิจ เช่นลำไย หว้า มะม่วง ขนุน อะโวกาโด หางนกยูง น้อยหน่า และแคบ้าน และการเพาะเห็ดเผาะร่วมกับการปลูกไม้ป่าเศรษฐกิจ (ไม้วงศ์ยาง Dipterocarpaceae) ทั้งต้นยางนา ยางเหียง ยางพลวง เต็ง รัง และต้นพะยอม ทั้งนี้กล้าไม้ที่ใส่เชื้อเห็ดป่าไมคอร์ไรซาจะเจริญเติบโตได้ดีกว่ากล้าไม้ที่ไม่ได้ใส่เชื้อเห็ดฯ 2 – 3 เท่า และเห็ดจะเริ่มออกดอกและให้ผลผลิต ประมาณปีที่ หลังจากปลูกต้นไม้ที่ใส่เชื้อเห็ด
ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า วว.มีหน้าที่วิจัยพัฒนานวัตกรรม เทคนิคและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อพัฒนาประเทศ สำหรับการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ซาแบบจำลองธรรมชาติ การวิจัยและพัฒนาเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซาให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และต้นไม้ที่จะใส่เห็ดไมคอร์ไรซา โดยเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซากับสาหร่ายสีน้ำเงิน ซึ่งวว.ได้มีการศึกษาปุ๋ยชีวภาพจากสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวสาหร่ายสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่สังเคราะห์ด้วยแสงและดึงคาร์บอนไดออกไซด์จากอกาศและ มีคุณสมบัติดึงไนโตเจนจากอากาศ มาเปลี่ยนเป็นปุ๋ยไนเตรทให้กับพืช ดังนั้น การใส่เชื้อเห็ดที่ผสมสาหร่ายที่พัฒนาขึ้น ต้นไม้จะได้ทั้งไนโตรเจน และฟอสฟอรัส เสมือนนำโรงงานผลิตปุ๋ยเล็กๆ ใส่เข้าไปในต้นกล้าไม้ ต้นกล้าที่ใส่เชื้อเห็ดจะเจริญเติบโตได้รวดร็วกว่าต้นกล้าที่ไม่ได้ใส่ 2-3 เท่า การเพาะขยายเห็ดป่าไมคอร์ไรซาแบบจำลองธรรมชาติจึงเป็นการช่วยสร้างคุณค่า มูลค่า และรายได้ ให้กับชุมชน เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนบนฐานทรัพยากรชีวภาพอย่างแท้จริง
เห็ดป่า จากอาหารราคาแพงนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
บ้านบุญแจ่ม เป็น 1 ใน 4 ชุมชนต้นแบบการเพาะขยายเห็ดป่าไมคอร์ไรซาแบบจำลองธรรมชาติ ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซาแบบจำลองธรรมชาติเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน โดยนักวิจัย ได้นำเชื้อเห็ดป่าไมคอร์ไรซาเห็ดตับเต่ามาฉีดลงบนกล้าไม้ผลและไม้ดอกเศรษฐกิจ อาทิ มะม่วง และแคบ้าน และนำเชื้อเห็ดป่าไมคอร์ไรซาเห็ดเผาะมาฉีดกล้าไม้ป่าเศรษฐกิจ เช่นต้นยางนา หลังดำเนินการได้ 1 ปี พบว่า กล้าไม้ที่ปลูกและใส่เชื้อเห็ดป่าไมคอร์ไรซาจะเจริญเติบโตได้ดีกว่ากล้าไม้ที่ไม่ได้ใส่ 2 – 3 เท่า ส่วนเห็ดตับเต่าและเห็ดเผ่าะนั้นจะเริ่มออกดอกและให้ผลผลิต ประมาณปีที่ 2-3
นายนพพร มิ่งสุวรรณ เป็นเจ้าของแปลงต้นแบบการเพาะขยายเห็ดป่าแบบจำลองธรรมชาติ บ้านบุญแจ่ม ต.น้ำเลา อ.ร้องกวาง จ.แพร่ เนื้อที่ 2 งาน เล่าว่า เดิมทีชุมชนมีการเก็บเห็ดในป่ามาบริโภคเป็นประจำทุกปีตามฤดูกาล และช่วงแรกที่ทำงานร่วมกับโครงการก็ยังไม่มั่นใจว่าต้นไม้จะอยู่กับเห็ดอย่างไร ต้นไม้จะโตเร็วขึ้นอย่างไร แต่พอทำงานร่วมกับการวิจัยก็พบว่า การเติมเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซาในต้นไม้ แม้เห็ดยังไม่ออกแต่ต้นไม้โตเร็วอย่างเห็นได้ชัด ไม่ค่อยเป็นโรค ทำให้ค่าใช้จ่ายดูแลลดลง อย่างเช่น ต้นแคที่ปลูกในแปลงเจริญเติบโตเร็วมากเมื่อเทียบกับ ไม่เติมเชื้อ และยังสามารถ เก็บดอกแคบ้านได้มากถึงเดือนละ 10 กิโล และสามารถเก็บยอดผักกูด ทุก 2 ครั้ง/อาทิตย์ ราว 1.3 กิโลกรัม ซึ่งผักกูดที่ปลูก จะออกยอดอวบใหญ่ และมีน้ำหนักมากขึ้นกว่าเดิม ร้านอาหารต่างๆ แย่งกันซ้อผักกูดของตนเอง จึงเตรียมขยายแปลงปลูกผักกูดเพิ่มขึ้น ขณะที่เพื่อนบ้านและคนในชุมชนต่างก็เข้ามาชมและสอบถามและจะกลับไปทดลองด้วยตัวเองหลังเห็นประโยชน์ของการเพาะขยายเห็ดป่าแบบจำลองธรรมชาติ
ด้านนางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ในฐานะ CEO ของ BEDO กล่าวว่า จะมีการขยายผลการจัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซาแบบจำลองธรรมชาติทั่วประเทศ หลังจากที่ในปีงบประมาณที่ผ่านมา ได้ดำเนินการใน 5 จังหวัด (แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง และเพชรบูรณ์) มีประชาชนสนใจและปลูกต้นไม้ป่าเศรษฐกิจและไม้ผล ที่ใส่เชื้อเห็ดไมคอร์ไรซารวม 40 ชนิด จำนวนรวม 17,163 ต้น ในการนี้ นางจุฬารัตน์ ฯ กล่าวในตอนท้ายว่า BEDO มีนโยบายการใช้เศรษฐกิจเป็นเป็นเครื่องมือหรือกลไกการอนุรักษ์ โดยมุ่งเน้นจุดหมายปลายทางคือความมั่งคงของทรัพยากรท้องถิ่น ทั้งนี้ BEDO เชื่อมั่นว่า ทิศทางการอนุรักษ์ ในระดับชุมชนให้เกิดความยั่งยืน จำเป็นต้องควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมกับเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของท้องถิ่น การทำงานของ BEDO จึงประกอบด้วย 3 แผนงานหลัก คือ การค้นหาความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นเอกลักษณ์ ในเชิงลึก ถึงคุณค่าที่แท้จริง และนำมาสร้างมูลค่า พัฒนาเป็นอาชีพที่แตกต่างไปในแต่พื้นที่ ด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมบนฐานภูมิปัญญาเดิม นำไปสู่การสร้างโอกาสและขยายผลทางการตลาด
สุดท้ายคือการปันรายได้กลับดูแลฐานความหลากหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นสมบัติของชุมชน ให้ตกทอดไปยังคนรุ่นต่อไป และชุมชนเห็นความสำคัญที่จะต้องรักษาฐานหรือทุนชีวิตของตนเองเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป การดำเนินงานของ BEDO จึงอาจเริ่มจากการสร้างรายได้ นำไปสู่การอนุรักษ์ หรือเริ่มจากงานอนุรักษ์ ที่นำไปสู่การสร้างรายได้ ดังเช่นกรณี งานวิจัย “การเพาะขยายเห็ดป่าไมคอร์ไรซาแบบจำลองธรรมชาติ” ที่บ้านบุญแจ่ม ไม่เพียงเป็นการนำงานวิจัยมาทอดถ่ายให้ชุมชนมีรายได้จากเห็ดป่า โดยไม่ต้องเข้าไปเก็บหาในป่าธรรมชาติ แต่พร้อมกัน BEDO ยังตั้งเป้าหมายว่า จะขยายผล “โครงการขยายเห็ดป่าไมคอร์ไรซาแบบจำลองธรรมชาติ” เป็นหนึ่งในกิจกรรมการเติม “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ในพื้นที่ป่าครอบครัว ซึ่งหมายถึง ป่าในที่ดิน ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของประชาชน ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อน “โครงการชุมชนไม้มีค่า -ป่าครอบครัว” ซึ่งมีเป้าหมายในการให้ประชาชนมีส่วนเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศด้วย