จิตแพทย์แนะวิธีสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ยังไม่ติดโควิดแต่สุขภาพจิตใกล้โคม่า
พญ.เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ จากคลินิกสุขภาพใจโรงพยาบาลวิมุต ว่าการมาถึงของโรค COVID-19 กระทบต่อปริมาณผู้ป่วยจิตเวชมากน้อยเพียงใด
แต่ไหนแต่ไรมาปัญหาสุขภาพจิตก็ถือเป็นภัยที่คุกคามชีวิตของคนทั่วโลกอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนเกิดความเครียดเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ในญี่ปุ่นมียอดการฆ่าตัวตายสูงถึง 17,000 ราย หลังจากเผชิญกับโรคไปได้แค่ 4 เดือน ในขณะที่ประเทศไทยก็มีอัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นถึง 22% และการระบาดระลอกใหม่นี้เอง จะเห็นได้ว่าผู้คนยิ่งมีความวิตกกังวลเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังไม่มีท่าทีที่จะลดลง แต่ในขณะเดียวกันเราก็ยังต้องใช้ชีวิตประจำวัน ต้องออกจากบ้านไปทำงาน มีการพบเจอผู้คน ท่ามกลางความหวาดระแวงว่าจะติดเชื้อหรือไม่
เมื่อเราถาม พญ.เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ จากคลินิกสุขภาพใจโรงพยาบาลวิมุต ว่าการมาถึงของโรค COVID-19 กระทบต่อปริมาณผู้ป่วยจิตเวชมากน้อยเพียงใด "จากสถานการณ์จากโรคCOVID-19 ที่กำลังแพร่ระบาด เป็นเหมือนคลื่นกระทบที่คนไข้เขายังไม่ได้ตั้งตัว ในแต่ละวันโรงพยาบาลของรัฐบาลจะมีคนไข้วันละครึ่งร้อยเข้ามาขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์จากหลายๆ สาเหตุ โดยที่ศูนย์สุขภาพใจ โรงพยาบาลวิมุต ก็จะมีเคสที่ขอเข้ารับคำปรึกษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเราเน้นการให้เวลากับคนไข้ต่อท่านเป็นหลัก แต่ละเคสจะกำหนดเวลาให้ประมาณ 40 - 60 นาทีต่อเคส เพื่อให้มั่นใจว่าเราได้ให้เวลากับคนไข้เต็มที่ เพื่อทำความเข้าใจ พูดคุย วิเคราะห์ และให้คำแนะนำต่างๆ"
'อาการจิตเวช' พบได้ทุกวัย ด้วยปัจจัยที่ต่างกัน
หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นวัยทำงานน่าจะพบจิตแพทย์มากที่สุดแต่ พญ.เพ็ญชาญา เผยว่าเธอมีคนไข้แทบทุกวัย เพียงแต่เหตุผลต่างกันไปเท่านั้น
"ต้องเรียนตามตรงว่าพบได้ทุกช่วงวัย แต่จะมีปัญหาที่พบบ่อยต่างกันค่ะ ปกติกลุ่มโรคจิตเวชจะมี 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่ม Psychotic อาการอยู่นอกโลกของความจริง เช่น กลุ่มที่หวาดระแวงว่าคนจะมาทำร้ายเรา และ Non-psychotic เช่น กลุ่มโรคทางอารมณ์ ซึมเศร้า ไบโพลาร์ แล้วกลุ่มที่หมอจะพบบ่อย เป็น Non-psychotic ค่ะ พบได้ตั้งแต่กลุ่มน้องๆ วัยรุ่นที่พอเจอ COVID-19 แล้วต้องเรียนออนไลน์ ก็มีความกดดันในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย กลุ่มวัยทำงานก็มักจะมาด้วยกลุ่มโรคทางอารมณ์ ความเครียด หรือภาวะซึมเศร้า เป็นต้น"
ความเครียด-นอนไม่หลับ รั้งอันดับ 1 ดึงคนมาพบแพทย์
"กลุ่มที่เจอบ่อยจะเป็นความเครียด นอนไม่หลับ ร้องไห้บ่อย หงุดหงิดง่าย อาจจะไม่ได้ใช้คำว่าเศร้าตรงๆ แต่จะใช้คำว่าไม่ค่อยมีความสุขแทน จริงๆอารมณ์พวกนี้มันมาแล้วมันต้องหายไป เพราะมนุษย์ปกติมีอารมณ์ขึ้นลงแต่จะอยู่ในระดับที่คุมได้ วิธีการสังเกตทางแพทย์จะมี 3 Dis ค่ะ Distress คือมันเศร้าตลอดเวลา Disturb ความเศร้านี้มันรบกวนชีวิตไหม Disfunction ตัวเราไม่ Function ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ ซึ่งถ้าพบว่าตัวเองเริ่มมีอาการเหล่านี้ อยากแนะนำให้ลองมาปรึกษาแพทย์ หรืออาจจะลองทำแบบทดสอบออนไลน์เพื่อทดสอบตัวเราเองเบื้องต้นได้ทาง https://www.vimut.com/article/เช็คภาวะซึมเศร้า"
ขั้นตอนการรักษา ไม่ได้น่ากังวลอย่างที่คิด
"ก็จะคล้ายกับแพทย์ทางกายค่ะ มีการซักประวัติเพื่อประเมินว่าอาการที่เกิดขึ้นมาจากโรคจิตเวชใช่ไหม มีการถามลึกไปถึงอารมณ์ การรับรู้ การแปลความ รวมถึงการถามหาสาเหตุทางกาย เช่น ถ้าต่อมไทรอยด์ต่ำ คนไข้จะมีอาการเฉื่อยชาได้ หรือคนไข้ใช้สารเสพติดหรือเปล่า เป็นต้น จากนั้นการรักษาก็จะย้อนกลับไปที่สาเหตุ เช่น ถ้ามาจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองก็จะรักษาด้วยยา รวมถึงแนะนำการปฏิบัติตัวกับคนไข้และประสานกับญาติด้วยว่าจะดูแลเขายังไง สำหรับคนที่กังวลเรื่องยา ต้องแจ้งว่าแล้วแต่กรณีไปค่ะ ถ้ามาครั้งแรกด้วยอาการร้องไห้ทั้งวัน อยากฆ่าตัวตาย มันก็ต้องใช้ยาช่วย แต่ถ้าไม่รุนแรงหรือยังรู้ตัว อาจจะยังไม่ต้องจ่ายยาก็ได้"
ในภาวะที่วิกฤตรุมเร้า จิตแพทย์แนะนำให้เราจัดการ 'จิตใจ' อย่างไร
"เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วมันเหมือนฝนตก เราเลือกให้ฝนหยุดไม่ได้ ทำได้แค่อยู่บ้านหรือจะออกไปโดยใช้วิธีกางร่มหรือใส่เสื้อกันฝนไม่ให้ตัวเปียก เหมือนช่วง Covid 19 เราจะสั่งให้มันหยุดระบาดคงทำไม่ได้ ต้องยอมรับให้ได้ก่อน จากนั้นถอยออกมาสักก้าวหนึ่ง ตั้งสติให้เห็นปัญหารอบด้านและเห็นทางออกได้ ฝรั่งเขาจะพูดกันว่า มนุษย์เราต้องมี 3 เสาหลัก คือ Love ความรักที่มีให้ตัวเองและคนรอบข้าง Work การทำงาน การเรียน และ Play การผ่อนคลายต่างๆ เราต้องทำทั้ง 3 เสาให้สมดุล แล้วถ้าเกิดมีปัญหาเข้ามาชนให้เสา Work ของเรามันสั่นคลอน แต่เราจะยังมีเสาอื่นช่วยค้ำใจเอาไว้ได้และกลับมาได้เร็วขึ้น "
ถ้าเริ่มไม่โอเค อย่าลังเลที่จะพบจิตแพทย์
สำหรับใครที่ยังคิดไม่ตกว่าควรจะมาพบจิตแพทย์ไหม พญ.เพ็ญชาญา ฝากให้มองว่าการมาพบจิตแพทย์ไม่ใช่การรักษาอย่างเดียว หากแต่เป็นการขอคำปรึกษาเพื่อป้องกันได้ด้วย
"มองว่าคนที่เข้ามาพบจิตแพทย์ไม่ได้อ่อนแอ แต่คุณกล้าหาญด้วยซ้ำ ในกรณีที่ยังไม่มีปัญหาก็เหมือนการดูแลร่างกายค่ะ เราออกกำลังกาย เพราะเราต้องการจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง จิตใจก็เหมือนกัน ยังไม่ต้องรอให้ซึมเศร้าหรือเครียดจนเกินไปก่อน แค่รู้สึกว่าชีวิตไม่สมดุลแล้วก็สามารถมาปรึกษาได้ทันที ทำภูมิคุ้มกันทางใจให้ดีก่อนได้ ยิ่งในช่วงที่มีวิกฤตแบบนี้ ความเครียดที่คุณและทุกคนต้องเผชิญ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ คุณไม่ได้อ่อนแอ คุณรู้สึกได้ และแพทย์ก็พร้อมที่จะดูแลคุณค่ะ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 นี้ ทางศูนย์สุขภาพใจโรงพยาบาลวิมุต ขอมอบสิทธิพิเศษสำหรับผู้อ่านบทความนี้ เพียงแจ้งโค้ด "สุขภาพจิตที่ดีมีได้ง่ายๆ ที่วิมุต" ฟรีค่าแพทย์ รับสิทธิพิเศษและนัดหมายพบแพทย์ได้ที่ศูนย์สุขภาพใจ ชั้น 18 ทุกวันอังคาร - อาทิตย์ เวลา 09.00 – 17.00 น. โทร 02 079 0078 หรือ Line OA Vimut Hospital
ด้วยความปรารถนาดีจาก โรงพยาบาลวิมุต อีกระดับของการรักษาด้วยความใส่ใจ
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.vimut.com