"ภูมิสรรค์" เผย คุณหญิงกัลยาเป็นห่วงเด็กพิเศษ สั่งช่วยเหลือทั้งการเรียนและคุณภาพชีวิต

"ภูมิสรรค์" เผย คุณหญิงกัลยาเป็นห่วงเด็กพิเศษ สั่งช่วยเหลือทั้งการเรียนและคุณภาพชีวิต

ความปลอดภัยเด็กสำคัญ พร้อมเดินหน้านโยบายเร่งด่วน (Quick Win) ทุกคนต้องได้รับการศึกษาเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด

ภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เเละนโยบาย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) เผยคุณหญิงกัลยาเป็นห่วงเด็กพิเศษ เร่งสั่งการให้ความช่วยเหลือทั้งการเรียนและคุณภาพชีวิต ย้ำความปลอดภัยของเด็กเป็นสิ่งสำคัญที่สุด พร้อมเดินหน้านโยบายการจัดการศึกษาเร่งด่วน (Quick Win) ทุกคนต้องได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด

นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา กล่าวว่า คุณหญิงกัลยา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะที่กำกับดูแลการศกษาพิเศษมีความเป็นห่วงเด็กพิเศษในเรื่องการเรียนและความเป็นอยู่อย่างมากท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่รุนแรงและขยายวงกว้างขึ้น โดยได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและให้การช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด เพื่อให้เด็กพิเศษทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบต่อการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวันกับกลุ่มเด็กพิเศษ ได้แก่ กลุ่มเด็กที่มีความพิการ 9 ประเภท กลุ่มเด็กด้อยโอกาส 10 ประเภท และกลุ่มเด็กที่มีความสามารถพิเศษ จึงได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เร่งให้การช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบทั้งเรื่องการเรียนและความเป็นอยู่ ซึ่งการศึกษาพิเศษเรามีหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ มีครูหรือทีมหน่วยบริการออกเยี่ยมบ้านเด็กในพื้นที่ที่สามารถไปได้ เพื่อไปสื่อสารพูดคุยและให้กำลังใจ สิ่งที่ให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ  เมื่อโรงเรียนเปิดแต่เด็กไม่สามารถมาเรียนได้ สิ่งที่จะส่งไปถึงตัวเด็กได้คือ นมโรงเรียน อาหารกลางวัน เพื่อช่วยบรรเทาความทุกข์ ความเดือดร้อนของผู้ปกครองไปได้บ้าง

"จากข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เวลานี้มีคนเด็กพิเศษ เด็กพิการที่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ประมาณ 54,000 คน ในกลุ่มนี้มีประมาณ 7,000 กว่าคน ที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี ซึ่งจะอยู่ภายใต้การดูแลของ สพฐ. ซึ่งเราได้คัดแยกข้อมูลและส่งไปให้ศูนย์การศึกษาพิเศษที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลทั้ง 77 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อไปค้นหาและคัดกรองนำมาเข้าสู่ระบบการศึกษาพิเศษตามความเหมาะสมทั้งด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิตซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องประสานงานและทำงานร่วมกัน โดยปัจจุบันมีโรงเรียนศึกษาพิเศษอยู่จำนวน 48 แห่งทั่วประเทศ โดยดูแลเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย สติปัญญา การได้ยิน และสายตา, โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ราชประชานุเคราะห์ 52 แห่งทั่วประเทศและเด็กที่ด้อยโอกาส และมีศูนย์การศึกษาพิเศษอีก 77 ศูนย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ช่วยเหลือเด็กในระยะแรกเริ่มในจังหวัดนั้นๆ รวมถึงโรงเรียนเรียนรวมอีกกว่า 24,000 แห่งทั่วประเทศ" นายภูมิสรรค์ กล่าว

นายภูมิสรรค์ กล่าวต่อว่า สำหรับการขับเคลื่อนการศึกษาพิเศษในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องประสานงานและทำงานร่วมกัน คุณหญิงกัลยาต้องการให้เด็กทุกคนได้เรียนเหมือนปกติมากที่สุด หรือต้องได้รับความรู้ให้เทียบเท่าเหมือนที่เรียนปกติมากที่สุด ทั้งด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิต ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายการจัดการศึกษาเร่งด่วน (Quick Win) ที่กำหนดให้การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความจำเป็นพิเศษเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยต้องพยายามค้นหาเด็กที่ด้อยโอกาสให้ได้มากที่สุด ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาด้วยสื่อและนวัตกรรมที่ทันสมัย รวมถึงเด็กที่เจ็บป่วยที่รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลก็ต้องได้รับการศึกษาด้วยสื่อการเรียนที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน

ส่วนเนื้อหาหลักสูตรในการเรียนของการศึกษาพิเศษนั้น การเรียนออนไลน์ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ปกครองเป็นส่วนใหญ่ เพราะไม่สามารถที่จะให้เด็กๆ เรียนโดยตรงกับครูได้ เพราะฉะนั้นสื่อการสอนของครูต้องเป็นสื่อการสอนที่ต้องไปสอนหรือสื่อสารกับทางผู้ปกครองก่อน แล้วผู้ปกครองจึงไปสอนบุตรหลานต่อไป ยกตัวอย่างเช่นเรื่องของการบำบัด เรื่องของการฟื้นฟู ต้องให้ผู้ปกครองเรียนแล้วไปฝึกกับลูก รวมถึงการปรับหลักสูตรให้สามารถปฏิบัติหรือทำที่บ้านได้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งอาจจะแตกต่างกับเด็กที่เรียนออนไลน์ปกติทั่วไป แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือกำลังใจที่จะต้องสื่อสารไปให้ทั้งผู้ปกครองและตัวเด็ก

นอกจากเด็กที่ต้องมีการปรับตัวแล้วที่ผ่านมาทางครูก็มีการปรับตัวเช่นกันจนเกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจนเกิดการทำคลังสื่อสำหรับเด็กพิเศษเพื่อให้ครูแต่ละที่สามารถนำสื่อที่ทำขึ้นไปใช้ร่วมกันได้ รวมถึงการปรับเพิ่มเติมรูปแบบการเรียนให้มีประสิทธิภาพ และทันสมัยมากขึ้นจากสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว เช่น การเพิ่มภาษามือในการเรียนทางไกล เพื่อให้เด็กที่บกพร่องทางการได้ยินก็สามารถเรียนร่วมกันได้ ตรงนี้ก็จะเป็นประโยชน์และเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวหากสถานการณ์โควิด-19 ยังยืดเยื้อต่อไป ทั้งนี้สำหรับมาตรการในการป้องกันโรค และการแพร่กระจายเชื้อนั้น คุณหญิงกัลยา ย้ำว่าความปลอดภัยของเด็กเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและโรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากเชื้อที่สุด โดยได้ให้โรงเรียนมีการคัดกรองและปฏิบัติตามมาตรการร่วมกับสาธารณสุขในพื้นที่อย่างเข้มงวด