โฉมใหม่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมเปิดให้บริการกันยายนปี 65
ตอกย้ำการเป็นศูนย์ประชุมใจกลางเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มุ่งเป้าสู่การเป็น The Ultimate Inspiring World Class Event Platform for All
บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ประกาศรุกตลาดธุรกิจไมซ์ (MICE) ประเทศไทยครั้งใหม่หลังความสำเร็จในอดีตตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ของการเปิดให้บริการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมทุ่มงบกว่า 15,000 ล้านบาท เดินหน้าพัฒนาสุดยอดศูนย์ประชุมใจกลางเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เพิ่มศักยภาพของโครงการด้วยการขยายพื้นที่มากขึ้นถึง 5 เท่า พร้อมเพิ่มพื้นที่รีเทลเพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการ โดยรักษาชื่อ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับในธุรกิจไมซ์ระดับนานาชาติ มั่นใจการพัฒนาปรับปรุงศูนย์ฯ สิริกิติ์ ครั้งนี้ จะสามารถรองรับการจัดงานประชุมหรืออิเวนต์ระดับเวิลด์คลาสได้ทุกรูปแบบอย่างไร้ขีดจำกัด
นายปณต สิริวัฒนภักดี กรรมการ บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่บริษัทฯ ยังเล็งเห็นความสำคัญในการเดินหน้าพัฒนาโครงการ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” (Queen Sirikit National Convention Center หรือ QSNCC) ให้เสร็จสมบูรณ์ตามแผนที่วางไว้ สอดคล้องกับแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงการศูนย์ประชุมระดับเวิลด์คลาสแห่งใหม่ของเอเชีย บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของประเทศไทย ที่มีจุดแข็งหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าของภูมิภาค การมีสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคที่ครบครัน พร้อมด้วยกลุ่มคู่ค้าทางธุรกิจและซัพพลายเออร์ที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังมีศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ และมีการสืบสาน รักษา ต่อยอดให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน จึงทำให้บริษัทฯ มั่นใจว่า ศูนย์ฯ สิริกิติ์ จะเป็น The Ultimate Inspiring World Class Event Platform for All ที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้านานาชาติ และจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาในประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นได้อย่างแน่นอน”
นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถือเป็นหัวใจของการเริ่มต้นอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศไทย โดยตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ฯ สิริกิติ์ เป็นสถานที่ที่บันทึกเรื่องราวความทรงจำของงานประชุมและอิเวนต์สำคัญๆ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติกว่า 20,000 งาน ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ทศวรรษ กอปรกับบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญ และมีความเป็นมืออาชีพ เราเชื่อมั่นว่าศูนย์ฯ สิริกิติ์ โฉมใหม่ จะสามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า และรองรับการจัดงานได้ในทุกรูปแบบได้อย่างแน่นอน”
ศูนย์ฯ สิริกิติ์ โฉมใหม่ มีพื้นที่รองรับการจัดการประชุมและนิทรรศการมากถึง 78,500 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยฮอลล์สำหรับการจัดนิทรรศการขนาดใหญ่ 2 ฮอลล์ พื้นที่รวมมากกว่า 45,000 ตารางเมตร ห้องสำหรับจัดประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ 2 ห้อง พื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางเมตร และห้องประชุมย่อยที่สามารถรองรับการประชุมได้กว่า 50 ห้อง นอกจากนี้ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ยังเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน และมีที่จอดรถภายในอาคารรองรับได้มากกว่า 2,700 คัน อำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงาน ขณะนี้ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ได้เริ่มเปิดจองพื้นที่และได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้จัดงานเป็นอย่างมาก
เตรียมพบกับศูนย์ฯ สิริกิติ์ โฉมใหม่ ที่จะมาสร้างความคึกคักและสีสันให้กับวงการไมซ์ กันยายน 2565นี้
#######
ข้อมูลโครงการ (Fact)
ชื่อโครงการ: ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (Queen Sirikit National Convention Center หรือ QSNCC)
มูลค่าโครงการ: 15,000 ล้านบาท
ขนาดที่ดิน: 53 ไร่
พื้นที่โครงการ: 280,000 ตารางเมตร
พื้นที่จัดงาน: 78,500 ตารางเมตร
ที่จอดรถ: 2,700 คัน
ที่ตั้งโครงการ: ถนนรัชดาภิเษก เชื่อมต่อแยกพระราม 4-รัชดา
การเดินทาง: เข้าออกได้จาก 4 ถนนสำคัญของกรุงเทพ ถนนพระราม 4 ถนนสุขุมวิท ถนนรัชดาภิเษก และถนนดวงพิทักษ์ และเชื่อมตรงรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ทำเลโดยรอบ: เชื่อมต่อสวนเบญจกิติ-สวนลุมพินี และโครงการศักยภาพของย่านพระราม 4 อาทิ
วัน แบงค็อก เอฟวายไอ เซ็นเตอร์ เดอะ ปาร์ค และโรงพยาบาลเมดพาร์ค
บริษัทผู้พัฒนาโครงการ
เจ้าของโครงการ : บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด
ผู้พัฒนาโครงการ: บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ผู้รับเหมางานหลัก: บริษัท นันทวัน จำกัด
ผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรม: บริษัท ดีไซน์ 103 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผู้ออกแบบงานวิศวกรรมโครงสร้าง: บริษัท เบคา (ไทยแลนด์) จำกัด
ผู้ออกแบบงานตกแต่งภายใน: บริษัท ออนเนี่ยน จำกัด
ผู้ออกแบบงานภูมิสถาปัตยกรรม: บริษัท ฉมา จำกัด
ผู้ออกแบบงานแสงส่องสว่าง: บริษัท โบ สไตเบอร์ ไลท์ติ้ง ดีไซน์ (ประเทศไทย) จำกัด
ผู้ออกแบบงานป้ายและกราฟฟิก: บริษัท บีอาวเฟรนด์ จำกัด
ที่ปรึกษาด้านอาคารประหยัดพลังงาน: บริษัท แอฟริคัส จำกัด
ผู้บริหารโครงการ: บริษัท สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ จำกัด (มหาชน)
ผู้รับเหมางานเสาเข็มเจาะ: บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน)