“เอ็น อาร์ เอฟ” จับมือ “อีสท์วอเตอร์” ศึกษาการกักเก็บคาร์บอนจากสาหร่ายทะเลเป็นที่แรกในประเทศไทย

“เอ็น อาร์ เอฟ” จับมือ “อีสท์วอเตอร์” ศึกษาการกักเก็บคาร์บอนจากสาหร่ายทะเลเป็นที่แรกในประเทศไทย

เพื่อประเทศไทยก้าวสู่ Net Zero Emission ในปี พ.ศ. 2593 ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผ่านการนำสาหร่ายกลับมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้เกษตรกรต้นน้ำ

เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่น่าจับตามอง เมื่อบริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็น อาร์ เอฟ ผู้นำด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหาร อาหารสำเร็จรูป ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้รับมาตรฐานสากล ร่วมกับ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ผู้นำด้านการบริหารจัดการน้ำครบวงจร ได้ร่วมมือกันพัฒนารูปแบบการปลูกสาหร่าย เพื่อกักเก็บคาร์บอนเป็นที่แรกในประเทศไทย ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดห่วงโซ่อุปทาน มุ่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืนทั้งเชิงอนุรักษ์ และเชิงพาณิชย์ ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในละแวกใกล้เคียง

“เอ็น อาร์ เอฟ” จับมือ “อีสท์วอเตอร์” ศึกษาการกักเก็บคาร์บอนจากสาหร่ายทะเลเป็นที่แรกในประเทศไทย

นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็น อาร์ เอฟ (NRF) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้มุ่งมั่นดำเนินตามนโยบายที่เคยได้กล่าวไว้คือ การเป็นหนึ่งในบริษัทจดทะเบียนไทยที่ขับเคลื่อนองค์กรเพื่อก้าวไปสู่ความยั่งยืน วางรูปแบบธุรกิจที่มุ่งสู่การลดคาร์บอนซึ่งถือเป็นพันธกิจหลักในการดำเนินงาน เนื่องจากการปล่อยคาร์บอนจากภาคธุรกิจอาหารมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก รวมทั้งการที่ให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคโปรตีนจากพืช (Plant-based Food) มากขึ้น เพื่อก้าวเป็นบริษัทอาหารระดับโลกสำหรับศตวรรษที่ 22 จากสิ่งที่ได้ดำเนินนโยบายมา ถือเป็นสิ่งสะท้อนศักยภาพของภาคธุรกิจไทยที่พร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนระดับโลก และการเป็นตัวอย่างขององค์กรธุรกิจที่นำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

การที่ได้เข้าร่วมกับอีสท์วอเตอร์ ถือเป็นการเดินหน้าการพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลรูปแบบใหม่ โดยจะร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการปลูกสาหร่ายทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเคลป์ (Kelp) สาหร่ายสีน้ำตาลขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสามารถในการดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศผ่านระบบนิเวศทางทะเล หรือ Blue Carbon เป็นที่แรกในประเทศไทย ระบบนิเวศทางทะเลถือเป็นแหล่งกักเก็บและดูดซับคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผลผลิตสาหร่ายที่ได้สามารถต่อยอดนำไปผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้เกษตรกรซึ่งถือเป็นต้นน้ำผู้ผลิตวัตถุดิบให้กับโรงงานของNRF ผลักดันให้เข้าสู่ระบบ Regenerative Farming ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทานของเรา เราจึงส่งเสริมเกษตรกรเพาะปลูกแบบอินทรีย์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในอาหารให้กับผลิตภัณฑ์ของNRF เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้บริโภค ถือเป็นการลงทุนสีเขียวอีกช่องทางหนึ่งของบริษัท

“เอ็น อาร์ เอฟ” จับมือ “อีสท์วอเตอร์” ศึกษาการกักเก็บคาร์บอนจากสาหร่ายทะเลเป็นที่แรกในประเทศไทย

นายชรินทร์ โซนี่ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “วันนี้ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง เอ็น อาร์ เอฟ กับ อีสท์วอเตอร์ เพื่อเดินหน้าการพัฒนาโครงการนำร่องของการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ด้วยศักยภาพและความเชี่ยวชาญด้านการผลิตอาหารสำเร็จรูป ผนวกกับความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการน้ำของ อีสท์วอเตอร์ จะช่วยผลักดันโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ให้แก่ ทั้ง 2 บริษัท พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ชุมชนในพื้นที่ และประเทศชาติในระยะเวลาอันใกล้”

ทั้งนี้ ด้วยการดำเนินงานที่ผ่านมาของอีสท์วอเตอร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการบริหารจัดการน้ำครบวงจร ทั้งการให้บริการน้ำดิบ โดยมีโครงข่ายท่อน้ำดิบที่ยาวกว่า 500 กิโลเมตร ครอบคลุม 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา การผลิตน้ำอุตสาหกรรม ด้วยระบบผลิตน้ำอุตสาหกรรมแบบศูนย์รวม (Centralized Plant) ที่ใช้เทคโนโลยี Sludge Return ที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก ซึ่งสามารถผลิตน้ำอุตสาหกรรมได้สูงสุด 200,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน สำหรับผลิตและส่งจ่ายให้แก่นิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ในจังหวัดระยอง นอกจากนี้ อีสวอเตอร์ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดความยั่งยืนมาโดยตลอด จึงมุ่งเน้นการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศชาติ

       

ความร่วมมือกันระหว่าง 2 ฝ่ายในครั้งนี้ ถือเป็นการผนึกกำลังของ 2 ผู้นำ จากทางด้านการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน และ การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว คาดว่าตลาดปุ๋ยอินทรย์ทั่วโลกจะเติบโตมากกว่า 13.56% มีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.97 แสนล้านบาท ในปี พ.ศ. 2573 สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลและชุมชนโดยรอบมากมาย โดยการดำเนินงานในครั้งนี้มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจสีเขียว ควบคู่กับการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทั้ง 2 บริษัท