Dow เผยคู่มือเที่ยวป่าชายเลนด้วยตนเอง ฉบับรู้จริงฟินจัง

Dow เผยคู่มือเที่ยวป่าชายเลนด้วยตนเอง ฉบับรู้จริงฟินจัง

กับ 10 เรื่องที่ต้องเช็คก่อนแชะ แนะนำโดย ดร.สนใจ หะวานนท์ ที่ปรึกษากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในนามของโครงการ Dow & Thailand Mangrove Alliance

ไหน ๆ จะไปเที่ยวให้ได้อรรถรส ก็ต้องเก็บทุกช็อตความสวยงามไปพร้อม ๆ กับเรียนรู้เสน่ห์ของป่าชายเลน กับ 10 เรื่องที่ต้องเช็คก่อนแชะ แนะนำโดย ดร.สนใจ หะวานนท์ ที่ปรึกษากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในนามของโครงการ Dow & Thailand Mangrove Alliance ความร่วมมือเพื่ออนุรักษ์ป่าชายเลนอย่างครบวงจรและมีส่วนร่วมของกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)

  1. มาเที่ยวป่าชายเลนได้สูดโฮโซนมากกว่าเที่ยวป่าบกหรือชายทะเลถึง 5 เท่า

            ความลับเรื่องหนึ่งของป่าชายเลนที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงคือเรื่องการเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ใหญ่ที่สุดแหล่งหนึ่ง มีงานวิจัยในต่างประเทศพบว่าป่าชายเลนสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุของปรากฎการณ์ก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าป่าไม้เขตหนาวหรือป่าฝนเขตร้อนชื้นถึง 5 เท่าเมื่อเทียบต่อหน่วยในพื้นที่เท่า ๆ กัน โดยคาร์บอนส่วนใหญ่จะถูกกักเก็บไว้ใต้ดินในรากและเนื้อไม้ของลำต้นของต้นไม้

            ขณะเดียวกันต้นไม้ในป่าชายเลนประเภทโกงกางต้องใช้ออกซิเจนจำนวนมากในการสังเคราะห์แสง จึงทำให้อากาศบริเวณป่าชายเลนมีแต่โอโซนบริสุทธิ์ไว้ฟอกปอดนักท่องเที่ยว  ครั้งต่อไปถ้าไปเที่ยวป่าชายเลน ขอแนะนำให้สูดอากาศเข้าปอดได้เต็มที่เลย

  1. ป่าชายเลนต้นกำเนิดห่วงโซ่อาหาร

            ใบไม้จากต้นโกงกางที่ร่วงหลนลงสู่พื้นผิวน้ำเค็มของป่าชายเลน แม้จะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติแต่กลับสร้างสิ่งมหัศจรรย์อย่างคาดไม่ถึง เพราะเป็นต้นกำเนิดของห่วงโซ่อาหารที่มีปลายทางคือสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ให้กับโลกใบนี้ 

3.ความลับของรากต้นไม้ในป่าชายเลน

            เมื่อเดินเล่นในป่าชายเลนนอกจากจะเพลิดเพลินกับอากาศที่สดชื่นเย็นสบายแล้ว สองฟากทางของสะพานไม้ที่ทอดยาว ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นรากต้นไม้ที่ขึ้นในป่าชายเลนมีรูปร่างสวยงามแปลกตาเหมือนหลงไปเดินอยู่ในเทพนิยาย wonderland กลายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของป่าชายเลนที่นักท่องเที่ยวชอบแชะภาพ แต่นักท่องเที่ยวส่วนมากกลับไม่รู้ความลับต้นไม้ของป่าชายเลน

รากต้นไม้โดยทั่วไปจะอยู่ใต้ดินเพื่อทำหน้าที่ยึดลำต้นและดูดอาหารเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ แต่รากของต้นไม้ตามป่าชายเลนมีความแปลกและทำหน้าที่แตกต่างจากธรรมชาติ  เนื่องจากพื้นดินส่วนมากเป็นโคลนและมีน้ำเค็มท่วมตลอดปี  เพื่อความอยู่รอดต้นไม้ที่ขึ้นในป่าชายเลนจึงมีวิวัฒนาการไม่ว่าจะเป็น ต้นโกงกาง แสม ลำพู ฯลฯ

หนึ่งของความมหัศจรรย์คือรากของต้นโกงกางแทนที่จะอยู่ใต้ดินแต่กลับงอกขึ้นมาตามลำต้นอยู่เหนือน้ำเค็ม ส่วนที่เราเห็นคล้ายคนกางแขนออกนั่นคือรากของต้นโกงกางนั่นเอง  เพื่อทำหน้าที่ค้ำยันลำต้นให้สามารถยึดเกาะในดินเลนได้แบบ walking roots  และถ้าช่างสังเกตหน่อยจะเห็นตอไม้แหลม ๆ ผุดขึ้นมาจากดินเลน  นั่นไม่ใช่ซากต้นไม้แต่เป็นรากพิเศษของต้นโกงกางโผล่ขึ้นมาหายใจและดูดซับออกซิเจนเพื่อนำไปสังเคราะห์แสง จึงทำให้ป่าชายเลนมีอากาศที่สดชื่น  

4.เที่ยวได้ทั้งปี มีให้สนุกทุกฤดู

ป่าบกส่วนมากเที่ยวได้เฉพาะหน้าหนาวเพื่อขึ้นภูดูหมอกสูดอากาศที่เย็นสบาย แต่ป่าชายเลนยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี เพราะมีความหลากหลายทางธรรมชาติทุกฤดูกาล  เหมือนห้องเรียนธรรมชาติ ที่สามารถสัมผัสและเรียนรู้ธรรมชาติที่ลึกลับของป่าชายเลนอย่างไม่รู้จบ

Dow เผยคู่มือเที่ยวป่าชายเลนด้วยตนเอง ฉบับรู้จริงฟินจัง

5.ความลับของทุ่งโปรงทอง...ดินแดนมหัศจรรย์ของเมืองไทย

            หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่อง “ทุ่งโปรงทอง” หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของเมืองไทยที่หาดูได้ยากมาก แต่รู้หรือไม่ว่า ภาพทุ่งโปรงสีเหลืองทองทอดยาวสุดลุกหูลูกตาราวกับทุ่งดอกไม้นี้ เกิดขึ้นมาจากอะไร

ปกติต้นโปรงเป็นไม้ขึ้นตามป่าชายเลนบริเวณเลนแข็ง เป็นไม้โตเร็วมีความสูงเกิน 10 เมตร มีใบเป็นสีเขียวตลอดทั้งปี แต่ไม้โปรงทองที่ขึ้นบริเวณทุ่งแห่งนี้เรียกว่าขึ้นผิดที่ผิดทาง เพราะอยู่ในบริเวณที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง จึงมีธาตุอาหารน้อย ความชื้นน้อย เลยทำให้ลำต้นแคระแกรนใบออกสีเหลืองตลอดทั้งปี  จึงกลายเป็นภาพของต้นโปรงที่อวดใบเหลืองสีทองเต็มทุ่งอย่างสวยงามตลอดทั้งปี

6.มารู้จักปลาร้อยแปดพันเก้าที่อยู่กับป่าชายเลนกันเถอะ

            ช่วงเวลาเดินอยู่ในป่าชายเลนจะมีแต่ความเงียบสงบจนสามารถได้ยินเสียงป่าหายใจและถ้ามองลงไปในน้ำใส ๆ จะเห็นฝูงปลาโผล่ขึ้นมาตอดเหยื่อเป็นระยะ ๆ

ป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์จึงเสมือนห้องครัวขนาดใหญ่ที่สัตว์ใหญ่น้อยมาอาศัยอยู่  โดยเฉพาะฝูงปลาเกือบ 100 สายพันธุ์มาอาศัยอยู่เพื่อกินแพลงตอน  อาทิ ปลากระบอก ปลากะพง ปลากด ปลาดุก ปลาเก๋า ฯลฯ ชาวประมงพื้นบ้านเล่าว่าเมื่อสมัยที่ผืนป่าชายเลนยังอุดมสมบูรณ์มีปลาโลมาปากขวดเผือก รวมถึงฝูงปลาทูที่ว่ายจากทะเลใหญ่เข้ามาหากินในป่าชายเลนด้วย

7.ปูก้ามดาบ นักเลงเจ้าถิ่น

            ฤดูน้ำลดพื้นป่าชายเลนจะแห้งจนเห็นพื้นดินเลน เป็นเวลาของบรรดาปูที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนออกมาเริงร่าทำกิจกรรมตามธรรมชาติกัน เช่น ปูแสมเป็นจิตอาสาที่มาเก็บกวาดเศษใบไม้และซากสัตว์กินเป็นอาหารถือเป็นการBig Cleaning ชายหาดปีละครั้ง ขณะเดียวกันชาวบ้านก็จะใช้เวลาช่วงกลางคืนมาจับปูแสมที่ออกจากรู นำกลับบ้านมาต้มจิ้มกินกับพริกเกลือเป็นมื้ออร่อย

            แต่ไฮไลต์ของฤดูปูเริงร่าคือการยกพวกออกมาอวดโฉมของ “ปูก้ามดาบ” ซึ่งเป็นปูประจำป่าชายเลน ลำตัวมีสีสันสดใสทั้ง แดง ฟ้า เหลือง จุดเด่นคือก้ามด้านขวาจะใหญ่มาก เหมือนนักเลงที่ยกปืนขู่เวลาที่มีภัยมา  สำหรับป่าชายเลนปากน้ำประแสช่วงเวลานำลดเป็นเวลาของเหล่าปูก้ามดาบที่จะยกพวกมายึดพื้นที่ป่าชายเลนทำให้บริเวณที่ดูปูก้ามดาบสีแดงพรึบไปหมด  แต่ขอแนะนำว่าขณะดูปูอย่าส่งเสียงดัง เพราะปูพวกนี้ขี้ตกใจ ถ้ามีเสียงนิดหน่อยจะวิ่งหนีกลับเข้ารูทันที

8.นักดูนก ต้องมาส่องช่วงไหนดี

            คนรักนกต้องมาเที่ยวป่าชายเลน รับรองไม่ผิดหวัง เพราะมีฝูงนกธรรมชาติหลากหลายสายพันธุ์ให้ดูได้ไม่มีเบื่อ นักดูนกควรมาส่องหาสายพันธุ์นกเจ้าถิ่นในช่วงเดือน ต.ค.-มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงหน้าน้ำที่นกจะบินมาหาอาหารและเกาะตามกิ่งไม้ ขอนไม้ที่ผุดขึ้นจากผิวน้ำ นักดูนกควรเช่าเรือมาส่องนกซึ่งคนขับเรือจะรู้ว่าบริเวณไหนมีนกมาเกาะบ้าง หรือหากอยากชมนกอพยพจากต่างประเทศให้มาชมได้ในหน้าหนาวช่วงเดือน พ.ย. – ธ.ค.

9.ทำไมถึงเรียกป่าชายเลนว่า “ป่ามีชีวิต” ค้นหาคำตอบกันดีกว่า

            ป่าชายเลนก็เหมือนคน เมื่อเดินเข้าไปในป่าจะเห็นผืนป่าของต้นโกงกางจำนวนมากที่แผ่รากคล้ายลักษณะคนกางแขนเพื่อค้ำยันลำต้นให้เกาะบนดินเลนได้  มองไปแล้วเหมือนป่ามีชีวิตซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นต้นกำเนิดห่วงโซ่อาหาร

นอกจากนี้การแพร่พันธุ์ของต้นไม้ในป่าชายเลนก็ไม่เหมือนป่าบก โดยอาศัยลูกไม้ที่หล่นจากต้นตกลงในน้ำ  ลูกไม้ส่วนหนึ่งจะกลายเป็นอาหารของสัตว์ แต่ส่วนที่รอดจะลอยไปตามน้ำขึ้นน้ำลง ไปสุดทางที่ไหนก็จะปักลงเป็นต้นอ่อนเพื่อรอการเจริญเติบโตต่อไป เราจึงเห็นชายขอบของป่าชายเลนขยายอาณาเขตออกไปเรื่อย ๆ เหมือนคนมีชีวิตที่เติบโตขึ้นในแต่ละปี

10.ถ้าอยากอนุรักษ์ป่าชายเลนต้องทำอย่างไร

            ตั้งแต่มีการให้ข้อมูลถึงประโยชน์ของป่าชายเลนทำให้มนุษย์ตระหนักถึงความสำคัญของป่าชายเลนมากยิ่งขึ้น  จึงทำให้เกิดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศเดินป่าเพื่อศึกษาธรรมชาติและให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ป่าชายเลนไปด้วย  มีกิจกรรมการปลูกป่าชายเลนเพื่อสร้างป่าผืนใหม่ทดแทนป่าผืนเดิมที่ถูกทำลาย ซึ่งมีบริษัทเอกชนหลายแห่งที่หันมาทำกิจกรรม CSR ปลูกป่าเพื่อสนับสนุนให้คนหันมารักษ์สิ่งแวดล้อม หรือถ้าอยากมาปลูกป่าด้วยตัวเองสามารถติดต่อกับเทศบาลในท้องถิ่นได้ 

นอกจากนี้ปัญหาขยะจากเมืองและขยะจากชุมชนจำนวนมากที่ไหลมาทับถมกันที่ป่าชายเลน ซึ่งเป็นปราการด่านสุดท้ายในการเก็บกักขยะบกไม่ให้ไหลลงสู่ทะเลไปทำร้ายสัตว์ทะเล แต่ขยะเหล่านี้กลับสร้างความเสียหายให้กับป่าชายเลน  เพราะขยะที่ลอยมาติดตามรากต้นโกงกาง ต้นแสม ซึ่งเป็นรากค้ำยันลำต้นและช่วยการหายใจ เมื่อขยะมาปิดทางเดินหายใจก็ทำให้ต้นไม้ตามป่าชายเลนหายใจไม่ออกและล้มตาย  ด้วยเหตุนี้จึงเกิดกิจกรรมเก็บขยะตามป่าชายเลน ซึ่งมักจะทำในฤดูกาลน้ำลด นอกจากช่วยกำจัดขยะแล้วยังได้ช่วยต่อลมหายใจของป่าชายเลนอีกด้วย หากมีโอกาสมาเที่ยวชมป่าชายเลน เพียงไม่ทิ้งขยะที่นำมาจากภายนอกในป่า และช่วยเก็บขยะที่พบเห็นติดมือกลับออกไปสักหนึ่งชิ้นก็เรียกว่าได้ช่วยรักษาป่าชายเลน และบรรดาสัตว์น้ำในป่าแล้ว