ทีเส็บ ปั้น MICE สายมู นำร่องเส้นทางริมฝั่งโขง
ทีเส็บ ปั้น MICE สายมู นำร่องเส้นทางริมฝั่งโขง
ปัจจุบันการเดินทางสายมู ได้เข้ามามีบทบาทต่อการตัดสินใจเดินทางของคนไทยอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการเดินทางไปยังมีสถานที่สำคัญทางศาสนาหลายแห่งของประเทศไทย หรือสถานที่เต็มไปด้วยความเชื่อ และความศรัทธาส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น เช่น การเดินทางขอพรไอ้ไข่ วัดเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือการไปสักการะท้าวเวสสุวรรณ วัดจุฬามณี จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นต้น
ที่ผ่านมา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีการสำรวจข้อมูลการเดินทางสายมูของไทย พบว่า มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยคนไทยมีความถี่ในการเดินทางเฉลี่ยคนละ 3 ครั้งต่อปี และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 1,842.65 บาท ซึ่งความน่าสนใจของการเดินทางในลักษณะนี้ สามารถนำมาต่อยอดกับอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และกระจายรายได้ลงไปสู่ภูมิภาคได้เป็นอย่างดี
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ด้วยความน่าสนใจของการเดินทางสายมูที่กำลังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ทีเส็บ กำลังพิจารณาจัดทำเส้นทางไมซ์สายมู หรือ เส้นทางไมซ์เชิงศรัทธาขึ้น เพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางการกระตุ้นให้เกิดการจัดงานไมซ์ในเส้นทางใหม่ที่มีความพิเศษ ตอบรับความนิยมของนักเดินทางไมซ์ที่ต้องการเดินทางเพื่อเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางศาสนา ธรรมชาติ หรือสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่มาจากความเชื่อ และแรงศรัทธา โดยเฉพาะเส้นทางความเชื่อเรื่องพญานาคเลียบชายฝั่งแม่น้ำโขง
ทั้งนี้เพื่อให้เส้นทางดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน หาทางส่งเสริมเส้นทางไมซ์ดังกล่าวให้เกิดขึ้นภายในปี 2565 โดยให้ไปพิจารณาแนวเส้นทางที่เหมาะสมเชื่อมโยงจังหวัดต่าง ๆ ริมแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเมืองที่มีศักยภาพทางด้านไมซ์ พร้อมทั้งหากิจกรรมพิเศษที่เป็นไฮไลท์ในเส้นทางดังกล่าว ควบคู่ไปกับการให้ความรู้กับทุกภาคส่วน และพัฒนาทักษะการเล่าเรื่องราว (Storytelling) เพื่อดึงดูดใจนักเดินทางกลุ่มไมซ์ด้วย
“สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการในปีนี้ คือ การเรียบเรียงเรื่องราวของเส้นทางนี้ โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องพญานาค ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ทางทีเส็บต้องเร่งดำเนินการ พร้อมกับการสำรวจเส้นทาง และค้นหาผลิตภัณฑ์ออกมาเพื่อดึงดูดใจว่า เส้นทางนี้มีความน่าสนใจและตอบสนองความต้องการของนักเดินทางไมซ์ให้เข้าไปจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ซึ่งหากทำสำเร็จ เชื่อว่า จะทำให้อุตสาหกรรมไมซ์เข้าไปช่วยส่งเสริมการกระจายรายได้ลงไปยังท้องถิ่นมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงแล้ว”
#MICEinThailand #TCEB