กระทรวงอุตฯ เร่งปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี ปรับตัวยุค ‘เน็กซ์ นอร์มอล’ 2 พันล้าน
กระทรวงอุตฯ เร่งปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี ปรับตัวยุค ‘เน็กซ์ นอร์มอล’ 2 พันล้าน
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยที่กินเวลายาวนานกว่า 2 ปี ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ผลักดันให้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพ เสริมสภาพคล่อง และการฟื้นฟูธุรกิจ
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กอป.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายระลอก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีผู้ประกอบการจำนวนกว่า 3 ล้านราย ประสบปัญหาไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ ขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ
กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มอบหมายให้ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ออกมาตรการเสริมสภาพคล่องด้วยสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนวงเงิน 2,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ประกอบด้วย 3 โครงการสินเชื่อ ที่เปิดให้เอสเอ็มอีที่สนใจยื่นขอรับบริการ ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา
นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กล่าวว่า สำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ออกมาตรการเสริมสภาพคล่องด้วยสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนวงเงิน 2,000 ล้านบาท จำนวน 3 โครงการ คือ
โครงการสินเชื่อเพิ่มศักยภาพ SME วงเงิน 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้นานสูงสุด 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 18 เดือน สำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีที่ดำเนินธุรกิจ BCG อาทิ เกษตรอุตสาหกรรมหรืออาหารแปรรูปที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมเครื่องมือหรือบริการทางการแพทย์ กลุ่มผู้ผลิต/ผู้ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า
โครงการสินเชื่อสร้างโอกาสเสริมสภาพคล่อง SME วงเงิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้นานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 8 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ (1) กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (2) กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป (3) กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น (4) กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน (5) กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (6) กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก (7) กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง และ (8) กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
โครงการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟู SME วงเงิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้นานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ภายใต้โครงการดังนี้
1.สินเชื่อพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 2.โครงการฟื้นฟูฯ สำหรับ SME คนตัวเล็ก และ 3.โครงการสินเชื่อ SME โตไว ไทยยั่งยืน
ซึ่งภายหลังจากเปิดให้เอสเอ็มอีที่สนใจยื่นขอรับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา มีเอสเอ็มอีให้ความสนใจและยื่นคำขอเป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าทั้ง 3 โครงการที่กล่าวมานั้นจะสามารถสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้เข้าถึงแหล่งทุนและช่วยฟื้นฟูธุรกิจได้มากกว่า 1,000 ราย ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 10,000 ล้านบาท และสามารถรักษาการจ้างงานได้กว่า 30,000 ราย นอกจากมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินแล้ว กองทุน ฯ ยังมีชุดโครงการส่งเสริมพัฒนาต่าง ๆ ไว้ให้บริการแก่ SME อีกด้วย อาทิ การให้คำแนะนำด้านบริหารการเงิน การบัญชี การตลาด การฟื้นฟูกิจการ และการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ โดยหวังว่าผู้ใช้บริการกองทุนทั้งหมดจะสามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง และมีความก้าวหน้าต่อไปได้
ผู้สนใจสามารถยื่นขอรับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ได้จนถึง 31 พ.ค. 2565 หรือจนกว่าวงเงินสินเชื่อจะหมด หรือ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.thaismefund.com หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ โทร. 02-354-3310 หรือ E-mail : [email protected]