“โอกาสสถาน” ชีวิตใหม่ผู้ก้าวพลาด กลับคืนสู่สังคมอย่างยั่งยืน
“โอกาสสถาน” ชีวิตใหม่ผู้ก้าวพลาด กลับคืนสู่สังคมอย่างยั่งยืน
“เรือนจำ ทำให้คนขาดความเชื่อมโยงกับสังคม ตัวอย่างจาก ศิลปินดาราชื่อดังที่ถูกคุมขังในคดียาเสพติด นอกจากจะสูญเสียกระแสความนิยมหลังห่างหายไปจากแฟนคลับ เมื่อพ้นโทษแล้วความสามารถของเขาก็อาจไม่ตอบโจทย์ชีวิต หรือสังคมไม่เปิดรับให้พวกเขาหวนคืนอาชีพเดิม”
การเลือกใช้โทษจำคุกกับผู้กระทำผิดในกลุ่มที่ “ก้าวพลาด” หลายๆ กรณีกลายเป็นการทำลาย “โอกาส” ในชีวิตชั่วนิรันดร์
เพราะ “เรือนจำ” ในความเข้าใจของคนทั่วไป มักถูกมองในแง่ของการลงโทษให้ได้รับความลำบากและทุกข์ทน ทั้งที่โทษจำคุกมีวัตถุประสงค์เป็นเพียงการลงโทษจำกัดอิสรภาพ เพื่อใช้เวลานั้นฟื้นฟูเตรียมความพร้อมให้ผู้ที่ “ก้าวพลาด” กลับคืนสู่สังคมได้ในที่สุด
นี่คือความสำคัญของ “โอกาส” ในมุมมองของ ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หนึ่งในผู้เข้าร่วมหลักสูตรอบรมสำหรับผู้บริหารด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD) ที่ริเริ่มโครงการ “โอกาสสถาน” ขึ้น เพื่อนำแนวคิดการออกแบบเรือนจำที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขฟื้นฟูผู้ก้าวพลาดมาสู่การปฏิบัติจริง โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
อาจารย์ฤทธิรงค์เป็นหนึ่งในศิลปินและนักออกแบบที่เข้าร่วมนิทรรศการศิลปะ “ความงามของโอกาส” ที่จัดโดย TIJ เนื่องในโอกาสครบรอบ 11 ปี ของการรับรองข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” เพื่อบอกเล่าและแลกเปลี่ยนมุมคิดว่าด้วยการให้โอกาสแก่ “ผู้ก้าวพลาด” ในการกลับคืนสู่สังคม
นิทรรศการนี้จัดขึ้นที่อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วงปักษ์หลังของเดือนธันวาคม 2564 แต่วันนี้เราได้พูดคุยแบบเจาะลึกอีกครั้งกับอาจารย์ฤทธิรงค์ เพื่อให้เข้าถึงรายละเอียดของแนวคิด “โอกาสสถาน”
“ผมได้มีโอกาสร่วมงานกับ TIJ และได้เรียนรู้ถึงบทบาทของเรือนจำที่มากกว่าการจองจำผู้กระทำผิด ซึ่งในสายงานสถาปัตยกรรมเป็นเรื่องไม่คุ้นเคย แต่เมื่อได้ร่วมงานกันแล้ว ยิ่งทำให้เราค่อยๆ มองเห็นบางประเด็น โดยเฉพาะการจองจำนักโทษผู้ก่อคดีที่สังคมเห็นว่ารุนแรง เช่น คดีฆาตกรรม หรือคดียาเสพติด”
“คนที่รับโทษในคดีกลุ่มนี้ เรามองพวกเขาเหมือนเป็นอาชญากร เป็นคนที่มีพฤติกรรมน่าหวาดกลัว สร้างความเสียหายให้กับสังคม แต่เมื่อมองลึกลงไปในรายละเอียด เราได้เห็นว่าบางคนก็ไม่ใช่ตัวอันตรายหรือน่ากลัวอะไร แต่การถูกจับอาจเป็นความผิดพลาดครั้งหนึ่งในชีวิตเท่านั้น”
“ยกตัวอย่าง การฆ่าคนตาย บางคดีพบว่าเป็นการตายของสามีจากน้ำมือของภรรยา หลังเธอถูกซ้อมมายาวนานนับสิบๆ ปีจนทนไม่ไหว พลั้งมือทำให้เกิดความสูญเสีย หรือตัวอย่างคดีค้ายาเสพติด ตำรวจเข้าตรวจค้นครอบครัวหนึ่ง แล้วคุณยายออกรับแทนหลาน ยอมติดคุกแทน เพื่อปกป้องหลานให้สามารถทำหน้าที่เสาหลักสร้างรายได้ให้กับครอบครัวต่อไป นี่คือความซับซ้อน ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม”
อาจารย์ฤทธิรงค์ บอกว่า ในทางสถาปัตย์ สภาพแวดล้อมมีผลต่อภาวะจิตใจของคน กรณีของเรือนจำก็เช่นกัน
“ทั้งคุณยายหรือภรรยาตามที่ยกตัวอย่างมาล้วนไม่ใช่คนชั่วร้าย แต่เมื่อต้องไปอยู่ปะปนในเรือนจำ กลายเป็นว่าพวกเขาถูกหล่อหลอมอยู่กับอาชญากรตัวจริง กลายเป็นการผลักไสพวกเขาให้ออกจากสังคม ซึ่งทัณฑสถานก็มีความพยายามแก้ไขประเด็นนี้ด้วยการฟื้นฟูชีวิตด้วยการฝึกอาชีพ แต่ส่วนใหญ่การกักขังในเรือนจำ ทำให้พวกเขาขาดความเชื่อมโยงกับสังคม และจะยิ่งเลวร้ายมากขึ้นหากสังคมไม่เปิดรับให้พวกเขากลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติได้หลังพ้นโทษ”
จากจุดนี้เองที่ อาจารย์ฤทธิรงค์ นำมาเป็นแนวคิด หรือ คอนเซปท์ในการสร้าง "โอกาสสถาน" เพื่อให้ผู้กระทำผิดได้ตระหนักรู้ในพฤติกรรมตัวเอง ผสานไอเดียการฟื้นฟู คือการให้โอกาสแก่ผู้ต้องขังกับคนภายนอกได้ปฏิสัมพันธ์กัน เกิดความเชื่อมโยงกัน คือ ประชาชนนอกเรือนจำได้เห็นศักยภาพในการประกอบอาชีพของผู้ต้องขังมองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังมากกว่าเดิม และผู้ต้องขังก็ได้ทำงานที่สร้างความภาคภูมิใจในตนเอง
“เราเลือก ‘เรือนพธำมรงค์’ อาคารโบราณ ซึ่งตั้งอยู่นอกรั้วทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ปัจจุบันยังให้บริการนวดแผนไทยและสปาอยู่ แต่เมื่อเปิดโครงการ ‘โอกาสสถาน’ อย่างเป็นทางการแล้ว จะเกิดความแตกต่างในแง่โอกาสการเข้าสู่สังคม จากเดิมที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่จะต้องควบคุมนักโทษจากเรือนพธำมรงค์กลับเรือนจำหลัง 16.30 น. แต่เราสร้างเรือนนอน และปรับปรุงบางฟังก์ชันให้แตกต่างไปจากสถานฝึกอาชีพเดิม เปลี่ยนบรรยากาศของงานบริการ ซึ่งจะเกื้อหนุนการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างนักโทษให้ยังคงอยู่กับสังคมต่อไป” อาจารย์ฤทธิรงค์ อธิบาย
โครงการ “โอกาสสถาน” ณ “เรือนพธำมรงค์” ถูกเลื่อนการเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด แต่คาดว่าจะเปิดตัวได้ภายในต้นปีนี้ ปัจจุบันจึงมีเพียงส่วนนิทรรศการ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นให้สังคมได้เรียนรู้ เข้าใจความสามารถและ ทักษะของผู้ต้องขัง และยังเปิดจำหน่ายอาหาร เสื้อผ้า และให้บริการกาแฟ ตลอดจนนวดแผนโบราณ ตามโครงการเดิม คือโครงการฝึกอาชีพของทัณฑสถาน โดยกรมราชทัณฑ์
ผู้สนใจสามารถไปเยี่ยมชมได้ที่ด้านหลังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ห่างออกไปประมาณ 200 เมตร บนถนนราชวิถี ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่ บนเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่
คาดว่าในช่วงกลางปี เมื่อผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 โครงการ “โอกาสสถาน” จะเริ่มเดินหน้าต่อไปโดยก่อสร้างเรือนนอนให้ผู้ต้องขังหญิงใกล้พ้นโทษประมาณ 50 คน รวมผู้คุม 2-3 คน พร้อมปรับปรุงส่วนครัวของร้านอาหารที่เคยอยู่ด้านหลัง ยกมาตั้งด้านหน้า แล้วเปิดการอบรมหลักสูตรอาหารเหนือแก่บุคคลที่สนใจ
“โครงการนี้นอกจากจะเป็นเผยแพร่วัฒนธรรมด้านอาหารของชาวเหนือแล้ว ยังเป็นโชว์ความสามารถและทักษะในการประกอบอาชีพ อันเป็นการสร้างโอกาสให้นักโทษมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมอย่างแท้จริง” คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าว
นี่คือหนึ่งในหลายๆ แนวคิด หลายๆ ไอเดียที่ให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิด ก้าวพลาด และผู้พ้นโทษได้กลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง โดยเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการอนุวัติ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” (The Bangkok Rules) ในวาระครบรอบ 11 ปีที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553
ข้อกำหนดนี้ ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มและผลักดันภายใต้การนำของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา กระทั่งเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศที่ทั่วโลกยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นการให้ “โอกาส” แก่ผู้ต้องขังในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้เหมาะสมกับเพศสภาวะ และสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
TIJ และหน่วยงานภายใต้กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ล้วนเชื่อมั่นใน “ความงามของโอกาส” ก็ได้ช่วยกันผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้าง “โอกาส” ให้กับผู้ก้าวพลาด โดยเฉพาะ ในการสร้างอาชีพให้อดีตผู้ต้องขังสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อย่างสง่างาม ตัดวงจรการกลับไปกระทำผิดซ้ำ และให้ผู้พ้นโทษสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างยั่งยืน.