กมธ.ควบรวม "ทรู-ดีแทค" จวก กสทช. อย่าดึงคนนอกเข้ามาแทรกแซง
"ศิริกัญญา ตันสกุล" กมธ.ศึกษาผลกระทบดีลควบรวม "ทรู-ดีแทค" วอน กสทช. มั่นใจในอำนาจตัวเองตามที่ได้รับจากรัฐธรรมนูญในฐานะองค์กรอิสระ ขอให้กล้าหาญ ใช้อำนาจที่ติดตัวมา พิจารณาการควบรวม อย่าดึงเอาคนนอกมาแทรกแซง แนะการทำงานต้องทำหน้าที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชน-รัฐ
วงเสวนาของสภาองค์กรของผู้บริโภคเมื่อวานนี้ (7 ก.ย. 2565) ได้มีการระดมความเห็นในกรณีที่ "กสทช. มีอำนาจจัดการควบรวม ทรู-ดีแทค หรือไม่" เพื่อระดมแนวคิด และหาทางออกในการคุ้มครองผู้บริโภค จากสถานการณ์การควบรวมกิจการในธุรกิจ จนถึงวันนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะพิจารณาการขอรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู-ดีแทค โดย กสทช. นั้น มีอำนาจในการพิจารณาว่าจะ "อนุญาต" หรือ "ไม่อนุญาต" หรือไม่ และยังส่งเรื่องอำนาจของตัวเองไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาอำนาจของตนเป็นรอบสอง ทั้งที่เป็นเรื่องไม่ควรทำดึงฝ่ายบริหารมาเกี่ยวในหน้าที่กำกับดูแลของตัวเอง
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ที่ผ่านมา กมธ. ได้เคยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการควบรวมระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC มาชี้แจงรายละเอียดให้รับทราบ โดยมีตัวแทนจากสำนักงานกสทช. มาเป็นผู้ให้ข้อมูล และมักสรุปในประเด็นอำนาจของ กสทช. ในการพิจารณาว่าไม่มีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต กสทช. ทำได้เพียงแค่รับทราบรายงานการดำเนินการจากเอกชน แต่ในท้ายที่สุดแล้ว กมธ.ไม่ได้ยืนความเห็นตามสำนักงานกสทช. จึงได้สรุปไปเลยว่า กสทช. มีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวมตามกฎหมายที่มี
ส่วนกรณีที่ สำนักงาน กสทช. ยังดื้อดึงส่งหนังสือไปยังรักษาการนายกรัฐมนตรี หลังจากถูกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปฏิเสธในรอบแรก ด้วยเหตุผลว่า สำนักงาน กสทช. มีอำนาจตีความได้เองอยู่แล้ว และเรื่องนี้เป็นคดีอยู่ในศาลปกครอง ตามกฎหมายแล้วคณะกรรมการกฤษฎีกาจะไม่พิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายในเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล เว้นแต่จะเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี ได้มีมติหรือคำสั่งเป็นการภายในให้พิจารณา
แต่ในท้ายที่สุด กสทช. จึงสบช่องตรงวรรคท้าย "เว้นแต่จะเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี ได้มีมติหรือคำสั่งเป็นการภายในให้พิจารณา" จึงเป็นที่มาในการยื่นหนังสือถึงรักษาการนายกรัฐมนตรีให้ออกคำสั่งเพื่อขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความรักษาการนายกฯ ก็เซ็นคำสั่งให้ทันที โดยเป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการฯ ที่ปรึกษากฎหมายขึ้นมาอีก 1 ชุด ในกรณีการควบรวม โดยมีประธานคณะอนุฯ คือ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กรรมการประกอบด้วย นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ นายสุรพล นิติไกรพจน์ และนายจรัญ ภักดีธนากุล ที่เป็นผู้แนะนำให้ยื่นเรื่องต่อกฤษฎีกาผ่านนายกฯก็มาจากมติของอนุฯ ชุดนี้อีกด้วย
นางสาวศิริกัญญา ย้ำว่า ในประเด็นอำนาจของ กสทช. ทั้งที่จริงๆ แล้วมีการเขียนกฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดเจน ทั้งในรัฐธรรมนูญการตั้งองค์กรอิสระหรือในพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ พ.ศ. 2553 ของตัวเอง แต่ที่ต้องตีความกันใหม่ เพราะบอร์ดอยากจะเห็นต่างจากศาลปกครองหรือไม่ ตรงนี้คือสิ่งที่ยังเคลือบแคลง เพราะศาลปกครองก็ให้ความเห็นว่า ประกาศ กสทช. ว่าด้วยมาตรการควบรวมฯ ปี 2561 ประกอบประกาศ กสทช. ว่าด้วยมาตรการป้องกันการผูกขาดปี 2549 นั้น ได้ให้อำนาจ กสทช. ที่จะพิจารณา "อนุมัติ" หรือไม่อนุมัติการขอควบรวมธุรกิจได้อยู่แล้วสรุปคือ ศาลปกครองเห็นว่าบอร์ด กสทช.มีอำนาจอนุมัติ ไม่ใช่แค่รับทราบ ซึ่งตรงกับความเห็นตามรายงานอนุกรรมการด้านกฎหมายที่ออกมาก่อนหน้า