6 ธุรกรรมยอดฮิต ผ่านการใช้เทคโนโลยี FinTech
FinTech ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการโอนเงินด้วย Mobile Banking การจ่ายเงินออนไลน์ผ่าน E-wallet หรือ บัตรเครดิต, การขอสินเชื่อ, การซื้อประกัน รวมไปถึงการลงทุน แต่ในอีก 3-5 ปี จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพิ่มมากขึ้นไปอีก
FinTech คืออะไร
Financial Technology หรือ FinTech คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจการเงิน ธนาคาร และการลงทุน เพื่อพัฒนาสินค้า หรือบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การโอนเงินและชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ การระดมทุนสำหรับธุรกิจ Startup และการบริหารเงินลงทุน นอกจากนี้ FinTech ยังรวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ด้วยเช่น Crytocurrency
ความสำคัญของ FinTech
ปัจจุบันมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ FinTech มากมาย ไม่เพียงแต่ธุรกิจธนาคารเท่านั้น แต่รวมไปถึงธุรกิจการเงินอื่นๆ เนื่องจาก FinTech มาช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินแบบเดิมสะดวกสบายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ขณะที่ธุรกิจมีต้นทุนที่ลดลงจากการใช้พนักงานน้องลง เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยมาทำหน้าที่แทน
6 ตัวอย่างธุรกิจ FinTech ที่น่าจับตา
1. ธุรกิจให้บริการชำระเงิน (Payment)
ธุรกิจให้บริการการชำระเงิน อย่างกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Wallet เช่น ผู้ให้บริการที่รู้จักกันดีคือ Paypal, Alipay และ Apple Pay รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบัตรเครดิต อย่าง บริษัท VISA ที่ให้บริการแพลตฟอร์มการชำระเงิน หรือ เป็นอยู่เบื้องหลังการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตทั่วโลก ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น เนื่องจากใช้งานง่ายและสะดวกสบาย โดยเฉพาะกับการใช้จ่ายซื้อของออนไลน์ต่างๆ โดยข้อมูลจาก PWC ในปี 2020 มีรายการใช้จ่ายเงินโดยไม่ใช้เงินสดทั่วโลก ถึง 1,035,000 ล้านรายการ และ PWC คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าในปี 2030 ซึ่งในอนาคตธุรกิจบริการชำระเงินเหล่านี้จะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญที่จะเปลี่ยนโลกให้กลายเป็นสังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society อย่างเต็มตัว
2. ธนาคารดิจิตอล (Digital Banks)
ธนาคารดิจิตอล (Digital Banks) หรือ ธนาคารพาณิชย์ที่ไม่มีสาขา ให้บริการผ่านทางช่องทางออนไลน์ ทั้งรับฝากเงิน การให้สินเชื่อ การโอนและชำระเงิน และการลงทุน ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว นอกจากนี้จากที่ธนาคารดิจิตอลไม่มีต้นทุนการดำเนินงานของสาขา ทำให้ธนาคารดิจิตอลสามารถพัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆได้อย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค และยังให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปอีกด้วย โดยในอนาคตข้างหน้าธนาคารดิจิตอลมีโอกาสเข้ามาแทนที่ธนาคารรูปแบบเก่า จากที่สามารถทำธุรกรรมต่างๆ ออนไลน์ และไม่ต้องไปรอคิวที่ธนาคาร โดยปัจจุบันผู้คนเข้าใช้บริการธนาคารผ่านสาขาลดลงเรื่อยๆ และจาก Global Market Insights คาดว่าธนาคารดิจิตอลจะเติบโตเฉลี่ยกว่าปีละ 6% ในช่วงปี 2020-2026
3. ธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภค (Consumer Finance)
การให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลผ่านแพลตฟอร์มดิจิตอล ที่ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการกู้ยืมเงินได้ง่ายถึงขึ้น โดยธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภคนี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นธนาคารเสมอไป สินเชื่อผู้บริโภคเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นโดยไม่รู้ตัว อาทิ การให้บริการ Shopee Pay Later (SPayLater) ที่กำลังเป็นที่นิยมภายหลังจากที่ผู้ประกอบการเก็บข้อมูลลูกค้ามากเพียงพอที่จะสามารถประเมินความเสี่ยงได้ หรือ ในต่างประเทศผู้ให้บริการรายใหญ่ที่ครองสัดส่วนการตลาดเป็นอันดับหนึ่ง และ มีคู่แข่งน้อยรายอย่าง Kaspi จากประเทศคาซัคสถาน ที่มีการทำธุรกิจทั้งทางแพลตฟอร์มด้าน Market Place, ให้บริการชำระเงิน และการให้สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีจำนวน Active Users สูงถึง 10 ล้านรายต่อเดือน โดยหากเทียบกับจำนวนประชากร คิดเป็น 50% ของประชากรทั้งประเทศ
4. ธุรกิจด้านการลงทุน (Investment and Exchanges)
ธุรกิจด้านการลงทุน ก็ได้มาการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ในการลงทุนเช่น Settrade Streaming ที่ช่วยในการซื้อขายหุ้นออนไลน์ หรือ การใช้ AI ในการบริหารจัดพอร์ตการลงทุนในบริษัทต่างประเทศ เช่น Allfunds ผู้ให้บริการชื่อดัง ผ่านแพลตฟอร์มการลงทุนในกองทุนรวมดำเนินธุรกิจใน 59 ประเทศทั่วโลก สามารถเข้าลงทุนใน Mutual Fund กว่า 200,000 กองทุน
5. ธุรกิจประกัน (Insurance)
ธุรกิจประกันที่นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ หรือเรียกว่า InsurTech โดยเป็นใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจ ทั้งการขายประกันออนไลน์ การใช้ AI ในการคำนวณเบี้ยประกันสำหรับลูกค้าแต่ละราย และนำไปสู่การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตรงตามต้องการค้าลูกค้ามากยิ่งขึ้น เช่น บริษัท Startup ในสหรัฐฯ Lemonade ที่ขายประกันสำหรับอสังหาริมทรัพย์ออนไลน์ผ่าน App แบบไม่มีนายหน้าและไม่มีระบบพนักงานเคลมประกัน โดยบริษัทจะใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าสำหรับการกำหนดเบี้ยประกัน และการเคลมประกัน ซึ่งทำให้บริษัทสามารถบริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารต่ำ
6. ธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ และให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ (Software and Outsourcing Solutions)
ธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ และให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ FinTech เป็นอีกหนึ่งธุรกิจสำคัญ โดยเปรียบเป็นรากฐานของธุรกิจ FinTech จากที่ปัจจุบันธุรกิจ FinTech ได้รับความสนใจมากขึ้น โดยธนาคารต่างๆ ได้ทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการข้องผู้ใช้งาน ทำให้บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจ FinTech เป็นที่ต้องการมากขึ้น อาทิ บริษัท Temenos ที่เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ชั้นนำที่ใช้ในธุรกิจการเงินและธนาคาร โดยบริษัทมีลูกค้ากว่า 3,000 รายทั่วโลก และกว่า 41 ใน 50 ของธนาคารขนาดใหญ่ของโลกเลือกใช้ Temenos เป็นผู้พัฒนา Software ให้กับธนาคาร
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเราเริ่มคุ้นเคยกับธุรกรรม FinTech มากขึ้น หลัง FinTech ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการโอนเงินด้วย Mobile Banking การจ่ายเงินออนไลน์ผ่าน E-wallet หรือ บัตรเครดิต, การขอสินเชื่อ, การซื้อประกัน รวมไปถึงการลงทุน แต่ในอีก 3-5 ปี จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพิ่มมากขึ้นไปอีก จากการประยุกต์ใช้ Blockchain อย่างแพร่หลาย หรือธุรกรรมการเงินที่เปลี่ยนไป หลังธนาคารกลางเริ่มประกาศใช้เงินสกุลดิจิตอล ในหลายประเทศ ดังนั้นการลงทุนในธีม FinTech ถือเป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่เราเชื่อว่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
ที่มา: PWC Strategy & Global Payment Model 2021, World Economic Forum, Netguru.com
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และ www.tiscoasset.com หรือ แอปพลิเคชัน TISCO My Funds
ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว