อนาคตท่องเที่ยวไทย ขานรับนโยบายเปิดประเทศ เร่งเสริมจุดแข็ง ซ่อมจุดอ่อน (Build Back Better) : โอกาสของการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และสุขภาพ
อนาคตท่องเที่ยวไทย ขานรับนโยบายเปิดประเทศ เร่งเสริมจุดแข็ง ซ่อมจุดอ่อน (Build Back Better) : โอกาสของการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และสุขภาพ
ในช่วงระยะเวลาเกือบ 2 ปี นับตั้งแต่สถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยอย่างมาก และจนถึงปัจจุบัน เมื่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยได้มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้เป็นจำนวนมาก ประกอบกับความร่วมมือของประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพและการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564ว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะเริ่มเปิดรับการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยไม่ต้องกักตัวสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และจะเป็นการเดินทางเข้าประเทศไทยโดยทางอากาศโดยมาจากประเทศที่ถูกกำหนดว่าเป็นประเทศความเสี่ยงต่ำนั้น นับเป็นโอกาสอีกก้าวหนึ่งของประเทศไทยที่จะได้มีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ เช่น กลุ่มสุขภาพ ความงามและแพทย์แผนไทย เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี พ.ศ. 2565 หากประเทศต่าง ๆ ได้มีการเปิดพรมแดนการเดินทางระหว่างประเทศอย่างเสรีอีกครั้งหนึ่ง ผู้คนจะสามารถกลับมาสนุกสนานกับการเดินทางท่องเที่ยวอย่างสบายใจ เนื่องจากมีการใช้วัคซีนอย่างแพร่หลาย โดยแม้ว่าระยะเวลาของการฟื้นตัวนี้อาจจะยังมีความไม่แน่นอน แต่หากพัฒนาการในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 นี้ เป็นไปอย่างราบรื่น ประกอบกับประเทศส่วนใหญ่เริ่มมีความมั่นใจและทะยอยเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกประเทศได้มากขึ้น ช่วงระยะเวลาต่อจากนี้ไปจะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการก้าวเข้าสู่ช่วงแห่งการฟื้นฟูอย่างแท้จริง ดังนั้น ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมของไทยจึงควรต้องมีการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการเร่งเสริมจุดแข็งและซ่อมจุดอ่อน เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับอนาคตของการท่องเที่ยวซึ่งมีลักษณะอย่างน้อย 5 ประการ ได้แก่ 1) Demand pattern : ความต้องการของนักท่องเที่ยที่มีลักษณะที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัยและการท่องเที่ยวจะมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนมากขึ้น 2) Sustainability : การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน 3)Technology : การใช้เทคโนโลยีเพื่อดึงดูดความสนใจและรองรับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป 4) Borderless industries : เส้นแบ่งระหว่างอุตสาหกรรมจางหายไปและการท่องเที่ยวจะเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่น ๆ มากขึ้น Seamlessexperience หรือประสบการณ์แบบไร้รอยต่อทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวกับธุรกิจอาหาร (Gastronomy tourism) เป็นต้น
นอกจากนี้ จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 6,774.9314 ล้านบาท สำหรับการขับเคลื่อนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 21 หน่วยงาน 2 รัฐวิสาหกิจ พบว่า จากสถานการณ์ Covid-19 ทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น ความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานส่งผลให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือบริการเชิงสุขภาพในลักษณะผสมผสาน สามารถเพิ่มมูลค่าของการบริการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยได้เป็นอย่างดี โดยระบบสาธารณสุขของไทยได้รับการจัดอันดับให้มีความมั่นคงเป็นอันดับที่ 6 จาก 195ประเทศตามดัชนี Global Health Index 2019 และเป็นอันดับที่ 1 ของเอเขีย โดยหน่วยงานภาครัฐได้เร่งผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพตามนโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีคุณภาพให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น การท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลให้สถานประกอบการหลายแห่งมีความจำเป็นต้องปิดกิจการ ซึ่งอาจส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว ดังนั้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจึงได้มีนโยบายที่จะเร่งสนับสนุนผู้ประกอบการและหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวปรับตัวเพื่อรองรับการท่องเที่ยวยุคใหม่ เช่น การเชื่อมโยง Startup กับผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาแอพพลิเคชั่น การผลักดันการนำสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีมาสู่แถวหน้าด้วยเทคโนโลยีไร้สัมผัส การส่งเสริม SHA การส่งเสริมการสร้างเครือข่ายหรือคลัสเตอร์การท่องเที่ยวใหม่ๆ การส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวแบบระยะสั้น เพิ่มความเข้มข้นในด้านความปลอดภัย ยกระดับการให้ความสำคัญกับสุขภาพและอนามัย เดินหน้าพัฒนาปรับปรุงด้านความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืนขึ้นภายหลังสถานการณ์โควิด-19