Transformation ทางรอด SMEs ไทยในยุค Next Normal

Transformation ทางรอด SMEs ไทยในยุค Next Normal

Transformation ทางรอด SMEs ไทยในยุค Next Normal

ในโลกยุคปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญและเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างชัดเจน การระบาดของ COVID-19 ยิ่งเร่งให้ผู้คนปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำรงชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้นเพื่อความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นเหตุให้ภาคธุรกิจต้องปรับเปลี่ยน Mindset และกลยุทธ์ เพื่อ Transform กิจการเข้าสู่โลกดิจิทัล สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป 

ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในโอกาสเปิดงานสัมมนาออนไลน์ “Transformation ทางรอด SMEs” ซึ่ง EXIM BANK จับมือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมพันธมิตรและผู้ประกอบการต้นแบบ ร่วมนำเสนอแนวทางและแบ่งปันประสบการณ์จริงเพื่อสร้างทางรอดให้ธุรกิจ SMEs ว่า Business Transformation หรือการแปลงร่างให้กับธุรกิจ คือ การทำให้บริษัทหรือธุรกิจพลิกเปลี่ยนจากสิ่งเดิม ๆ ที่เป็นอยู่และดำเนินการจนเป็นปกติวิสัย สู่สิ่งที่ใหม่กว่า ดีกว่า และมีความพร้อมมากกว่า ที่จะขับเคลื่อนไปในอนาคต โดยอาจเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึง “การแปลงร่าง” แบบพลิกโฉมจนไม่เหลือเค้าโครงร่างเดิม

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ depa กล่าวว่า ภารกิจของ depa คือ ส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล รวมทั้งส่งเสริมให้เมืองไทยก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เราต้องการเห็นการเติบโตของผู้ประกอบการไทย โดย depa พร้อมที่จะร่วมมือกับ EXIM BANK ในการให้ความรู้ผู้ประกอบการ ส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) และสนับสนุน Platform ต่าง ๆ ที่เป็นของคนไทย ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นกองทัพ Digital Startup เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเศรษฐกิจไทย ก้าวไกลถึงการส่งออกสู่ตลาดโลก
 

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในไตรมาส 3 ปี 2564 ธุรกิจ SMEs ปิดกิจการ 3,819 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 14,749 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของการบริโภคจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนให้ทุกภาคธุรกิจต้องเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจากเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งอาจกลายเป็นภัยเงียบที่ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจนต้องปิดกิจการในที่สุด หากเจ้าของกิจการมิได้เตรียมแผนรองรับหรือปรับตัวได้ทัน ธุรกิจจึงต้อง Transform ซึ่งก็คือ การเปลี่ยนอัตลักษณ์รูปแบบการทำธุรกิจจากแบบเดิมไปสู่รูปแบบใหม่ ผู้ประกอบการจึงต้องพิจารณาตนเองว่าดำเนินธุรกิจด้วยความประมาทหรือไม่ พร้อมให้ความสำคัญกับการ ‘ปรับเปลี่ยน’ เพื่อให้ไปต่อได้ ด้วยการ Transform 3 ประการ ได้แก่
•    Process Transformation ใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยี ซ่อมร่างให้กลับมาแข็งแรง ใช้ Automation ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประหยัดแรงงานคน
•    Business Model Transformation เกิดใหม่เพื่อก้าวต่อไป โดยใช้จุดแข็งและ Business Network ที่เคยมี
•    Cultural / Organization Transformation ปรับจิตวิญญาณ เปลี่ยน Mindset ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
 

EXIM BANK เล็งเห็นความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในการแปลงร่างผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ให้กลายเป็นคนจิ๋วแต่แจ๋ว มีความทันสมัย กระฉับกระเฉง ว่องไว แข่งขันได้ สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจาก Technology Disruption ได้อย่างประสบความสำเร็จ EXIM BANK จึงได้พัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์เพื่อ “ซ่อม” “สร้าง” “เสริม” ผู้ประกอบการทุกระดับให้สามารถปรับตัวทางธุรกิจโดยเชื่อมโยงสู่โลกดิจิทัลมากขึ้นได้

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กูรูด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนา Digital Platform ชั้นนำ พูดถึงเศรษฐกิจดิจิทัลว่า เศรษฐกิจดิจิทัลคือ การนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัล มาเชื่อมโยงธุรกรรมต่าง ๆ โดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางกายภาพ เช่น เงินสด กระดาษ การพบเจอคนต่อหน้า หรือลดขั้นตอนการตัดสินใจด้วยคน เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้เร็วขึ้น มีความคล่องตัวสูง ลดต้นทุนและเข้าถึงผู้ใช้บริการทุกระดับได้ การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้หลาย ๆ ธุรกิจ ค่อย ๆ ล้มหายไป ในขณะเดียวกัน ดิจิทัลทำให้ธุรกรรมดีขึ้น เร็วขึ้น ต้นทุนต่ำลง ผู้ประกอบการต้องหันมาพิจารณาธุรกิจตนเองว่าพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนหรือไม่ 

นายที่รัก บุญปรีชา หรือ พี่หลาม จิ๊กโก๋ไอที กูรูและ Influencer ด้านไอทีจากแบไต๋ไฮเทค ให้คำแนะนำผู้ประกอบการ SMEs ว่า การ Lockdown ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ใน 2 ปีที่ผ่านมานี้ Disrupt วิถีชีวิตปกติ ทำให้เราต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ผู้ขายจึงต้องปรับตัวเองเข้าสู่โลก Digital เช่นกัน โอกาสในการทำธุรกิจก็เปลี่ยนไปด้วย ผู้ได้เปรียบไม่ใช่ผู้ประกอบการรายใหญ่เสมอ แต่กลับเป็นผู้ที่ให้บริการลูกค้าได้อย่างทันท่วงที ในการ Transform ธุรกิจ ข้อดีของการเป็น SMEs คือ องค์กรขนาดเล็กปรับเปลี่ยนได้ง่าย สามารถเข้าไปใช้ Platform ต่าง ๆ และมีเครื่องมือทางดิจิทัลมากมายให้ใช้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ด้าน ภญ.ภาคินี จิวัฒนไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซองเดอร์ ไทยออร์กานิคฟูด จำกัด แบรนด์อาหารสุขภาพออร์แกนิคสัญชาติไทย ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จจากการ Transform องค์กรว่า การ Transform หรือการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย ใช้เวลาถึง 2-3 ปี โดยต้องทำให้ทีมงานเห็นความสำคัญของการปรับปรุงระบบการทำงาน แต่เมื่อเปลี่ยนแล้วทุกอย่างดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อยากฝากถึงผู้ประกอบการท่านอื่นว่าการที่จะพัฒนาสินค้า การจัดการ การตลาด การส่งออก ต้องเห็นภาพรวมมากที่สุด แล้วโฟกัสในจุดที่สามารถนำดิจิทัลมาพัฒนา ก็จะสามารถทำให้เราก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคงมากขึ้นในโลกที่ไม่หยุดนิ่ง

“ผู้ประกอบการควรฟังเสียงของลูกค้าเพื่อรับทราบความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค นอกจากนี้ ธุรกิจต้องมีความหลากหลายและมี Plan B เสมอ ต้องพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนจิตวิญญาณขององค์กร ใช้ Agile Management หรือ Lean Management เพื่อฝึกตัวเองให้ต่อสู้ในอนาคต โดย EXIM BANK พร้อมช่วยพลิกโฉมการ Transform ของผู้ประกอบการไทยเพื่อเพิ่มนักรบเศรษฐกิจไทยให้ออกไปค้าขายในต่างประเทศ จาก 20,000 กว่าราย ให้กลายเป็น 100,000 รายภายใน 4 ปี” ดร.รักษ์ กล่าว

ธุรกิจจะก้าวผ่านวิกฤต หากสามารถปรับตัวได้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ช่องทางการทำตลาด มาตรการหรือกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการสามารถปรึกษากูรูหรือสถาบันการเงินอย่าง EXIM BANK ได้ เพื่อเข้าถึงบริการทั้งด้านข้อมูลความรู้ เงินทุน และเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs มีศักยภาพและสามารถก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เติบโตเป็นผู้ส่งออกป้ายแดงหรือผู้ส่งออกไทยที่ประสบความสำเร็จในตลาดการค้าโลกได้มากขึ้น