‘วราวุธ’ กระตุ้นภาคธุรกิจลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หวังลดข้อเสียเปรียบการแข่งขันทางภาษี
‘วราวุธ’ กระตุ้นภาคธุรกิจลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หวังลดข้อเสียเปรียบการแข่งขันทางภาษี
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 8 ธันวาคม 2565 ที่โรงแรมเซ็นทารา แอท เซ็นทรัล เวิลด์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ประธานการแถลงข่าวการประชุม COP 27 Debrief โดยมี Mr.Georg Schmidt เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก พร้อมด้วยผู้บริหาร และสื่อมวลชน เพื่อทำความเข้าใจแก่ภาครัฐ และเอกชนในการเดินหน้าสู่เวที COP 28 ปี 2023
นายวราวุธ กล่าวว่า ก่อนจะก้าวเข้าสู่การประชุม COP 28 ประเทศไทยจะต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของภาคธุรกิจ ในเรื่องปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะต่อไปประเทศไทยจะต้องมีการกำหนด Carbon Footprint ให้เป็นภาคบังคับ การขับเคลื่อนจากนี้ไปทุก 1 ตัน ของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมานั้น จะต้องมีการสำรวจ และจำกัดการปล่อย เพราะว่าการทำธุรกิจ หรือดีลซื้อขายกับต่างประเทศนั้น หลังจากนี้จะเริ่มมีมาตรการทางภาษีมากขึ้น เริ่มมีการกีดกันเข้ามามากขึ้น โดยใช้มิติของสิ่งแวดล้อมเข้ามา ดังนั้นกฎหมายอย่าง Climate Change Act จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทาง ว่าภาคเอกชน และภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องไม่เสียเปรียบในการดีล หรือการทำการค้ากับต่างประเทศ
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า กระทรวงทรัพย์ฯ ของเรา เหมือน Focal Point ที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ Carbon neutrality หรือ Net zero ตามที่เราได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว รวมไปถึงการตั้งกรม Climate Change และในส่วนของภาคธุรกิจจะต้องมาดูเรื่องนี้อย่างจริงจัง ว่าองค์กรของคุณจะมีการจัดการปัญหาอย่างไร จะปรับตัวอย่างไร ทุกภาคส่วนไม่ว่ารัฐหรือเอกชนต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน เราทิ้งใครไว้ข้างหลังไม่ได้ฉันใด การแก้ไขปัญหาก็ต้องขยับเขยื้อนไปพร้อม ๆ กันฉันนั้น
นายวราวุธ กล่าวต่ออีกว่า "การมีส่วนร่วม" จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะผลักดันแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจก ต้องอาศัยการมีส่วนร่วม ภาคประชาสังคม NGO พี่น้องประชาชนทุกคน ผมใช้คำว่าต้องมามีส่วนร่วม เพราะว่า การบริหารจัดการ ทำอะไรก็แล้วแต่ มันจะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของทุก ๆ คน ในทุก ๆ ระดับ ตั้งแต่ระดับ ผู้บริหาร ไปจนถึง ระดับรากหญ้า ดังนั้นการมีส่วนร่วมของทุก ๆ ฝ่าย ในทุก ๆ เรื่อง เป็นภาคบังคับซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง เพื่อการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ เชื่อว่าเวลามีไม่มาก แต่ถ้าพวกเราร่วมมือกันไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้