สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) ชี้ “วิถีใหม่ของโครงข่ายไฟฟ้า มุ่งสู่พลังงานแห่งอนาคต”
สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) ชี้ “วิถีใหม่ของโครงข่ายไฟฟ้า มุ่งสู่พลังงานแห่งอนาคต”
สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) ชี้ทิศทางพลังงานในอนาคต ภายใต้หัวข้อปาฐกถาพิเศษ “วิถีใหม่ของโครงข่ายไฟฟ้า มุ่งสู่พลังงานแห่งอนาคต” ในงาน PEACON & Innovation 2022 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ระบุนวัตกรรมดิจิทัลหลากหลายรูปแบบที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจะช่วยทำให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานและความยั่งยืนซึ่งจะเป็นกลไกช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้ในปี 2050 โดยยกตัวอย่าง Smart Island Porto Santo ของโปรตุเกส เป็นกรณีศึกษา
หนึ่งในไฮไลท์ของงานดังกล่าว ดร.ประดิษฐพงษ์ สุขสิริถาวรกุล เลขาธิการ สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) ได้ขึ้นเวทีปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “วิถีใหม่ของโครงข่ายไฟฟ้า มุ่งสู่พลังงานแห่งอนาคต” เพื่อชี้ให้ผู้เข้าร่วมงานเห็นถึงความสำคัญการมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ว่าจะต้องมีการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเข้ามาในระบบมากขึ้น สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นวัตกรรมดิจิทัลและความปลอดภัยทางไซเบอร์จะเป็นตัวช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาบริหารจัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้า หรือการใช้ Machine Learning มาทำกลยุทธ์การเสนอราคาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฎิบัติการและการจ่ายกระแสไฟฟ้า การนำโรงไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าดิจิทัลมาช่วยลดการใช้สายเคเบิล และนำอุปกรณ์นวัตกรรมดิจิทัลแบบเรียลไทม์มาใช้เพื่อดูข้อมูลสถานะและวิเคราะห์แก๊สในน้ำมันของหม้อแปลงไฟฟ้าอย่างอัจฉริยะรวมถึงการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์รูปแบบใหม่มาใช้ในระบบสื่อสารของสถานีไฟฟ้าช่วยประมวลผลข้อมูลซึ่งจะส่งผลให้เกิดการประมวลผลที่เร็วกว่าคอมพิวเตอร์แบบเดิมและมีความปลอดภัยทางไซเบอร์เพิ่มขึ้น เป็นต้น
ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งประกาศเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 นั้นได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆซึ่งสอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลกที่เริ่มเห็นมาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ ไม่ว่าจะเป็น การใช้ประโยชน์และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Storage) โรงไฟฟ้าชุมชนและโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ BCG (Bio-Circular-Green) Economy รวมถึงนวัตกรรมทางเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาใช้พัฒนาการผลิตพลังงานสำหรับภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ซึ่งนวัตกรรมที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าพลังงานไฟฟ้าจะกลายเป็นแกนหลักของระบบพลังงานทั้งหมดในอนาคต โดยในปี 2050 กว่า 80% ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าจะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล น้ำ และไฮโดรเจน
อย่างไรก็ดี ได้มีเทคโนโลยีต่าง ๆ มากมายในปัจจุบันที่รองรับและส่งเสริมการผลิตพลังงานหมุนเวียนอยู๋แล้ว เช่นการส่งพลังงานไฟฟ้าผ่านเทคโนโลยี HVDC (High Voltage Direct Current)ในระยะทางไกลโดยไม่ต้องกังวลเรื่องข้อจำกัดของกำลังไฟฟ้าสูงสุดที่จ่ายได้หรือความยาวของสายส่ง หรือการเริ่มนำระบบ MVDC (Medium Voltage Direct Current) และระบบ LVDC (Low Voltage Direct Current) มาใช้งาน เป็นต้น Power Electronics เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เริ่มเข้ามามีบทบาทช่วยขับเคลื่อนระบบไฟฟ้าและพลังงานกว่า 70% เพิ่มความมั่นคงหรือความต่อเนื่องในการทำงานของระบบต่อไปได้อีกระยะเวลาหนึ่งหากเกิดเหตุขัดข้องที่รุนแรงขึ้นกับระบบ รวมถึง เทคโนโลยีซิงโครนัสคอนเดนเซอร์ (Synchronous Condensers) ซึ่งช่วยให้การทำงานของกริดและสายส่งมีประสิทธิภาพพร้อมช่วยลดความผันผวนของแรงดันไฟฟ้า ส่วนเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ช่วยลดความผันผวนของพลังงานทดแทนทำให้จ่ายไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ช่วยสนับสนุนในการนำพลังงานหมุนเวียนไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพสูงสุด
พร้อมกันนี้ ดร.ประดิษฐพงษ์ ยัง ได้ยกกรณีศึกษา Dalrymple ประเทศออสเตรเลีย ที่มีการนำระบบควบคุมขั้นสูงมาจัดการและทำ Seamless Transition และ Grid Stabilization ช่วยเพิ่มรายได้และผลตอบแทนได้ รวมถึงยกตัวอย่างเกาะเล็กๆอย่าง Smart Island Porto Santo ของโปรตุเกสที่รัฐบาล ตั้งเป้าหมายที่จะทำให้เกาะที่มีประชากรเพียง 6,000 คนแห่งนี้ปราศจากฟอสซิลแห่งแรกของโลก และได้เปิดตัวโครงการ “Porto Santo ที่ยั่งยืน ด้วยการเพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้ภายในเกาะรวมถึงหามาตรการรับมือกับความไม่แน่นอนของธรรมชาติที่เป็นปัจจัยในการผลิตพลังงานหมุนเวียน โดย Groupe Renault ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รายใหญ่ที่สุดของยุโรป ได้จัดหาแพลตฟอร์มการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืนให้กับเกาะแห่งนี้ ด้วยระบบ Ecosystem เต็มรูปแบบของโซลูชั่น EV และแพลตฟอร์มการรวม (Aggregation Platform) มาใช้เพื่อยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ซึ่งรวมไปถึงการนำกลับมารีไซเคิลใหม่ เพื่อกักเก็บพลังงานส่วนเกินที่เกิดจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนของเกาะไว้ในแบตเตอรี่และนำมาป้อนกลับเข้าสู่กริดของเกาะได้
ดร.ประดิษฐพงษ์ คาดว่า New Businesses Models & Platforms ใหม่ๆ จะเกิดขึ้นมากมายเช่นการบูรณาการพลังงานทดแทน (RE) ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (BESS) โดยใช้ Digital Ecosystem และ Optimizing Energy ในการบริหารโครงข่าย แนวคิดTrend3 ซึ่งประกอบด้วย Electrification, Decentralization และ Digitalization จะเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่ New Energy Ecosystem การเติบโตอย่างต่อเนื่องของ EV และ E-mobility ที่แสดงให้เห็นว่าพลังงานไฟฟ้าจะเข้ามาเป็นแกนหลักของพลังงานในอนาคต พร้อมยกบทเรียนและประสบการณ์เพื่อการใช้และการวางแผนรองรับ EV ในอนาคตต่อไป
สำหรับงานประชุมทางวิชาการและนวัตกรรมดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันระหว่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA กับสถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศและหน่วยงานวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชนจัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมวายุภักดิ์ โรงแรมเซนทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ เพื่อเป็นเวทีสำคัญเปิดโอกาสให้ นิสิต นักศึกษา อาจารย์ นักวิชาการ และพนักงาน PEA ที่มีความรู้ความสามารถแลกเปลี่ยนความรู้และนำเสนอบทความทางวิชาการเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนา ด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในอนาคตต่อไป