กยท.ส่งเสริมการสร้างคาร์บอนเครดิตในสวนยาง

กยท.ส่งเสริมการสร้างคาร์บอนเครดิตในสวนยาง

กยท.ส่งเสริมการสร้างคาร์บอนเครดิตในสวนยาง

หลายคนเริ่มคุ้นชินกับ “ตลาดคาร์บอนเครดิต” ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น เพราะเอกชนที่ไม่สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตได้ ก็จะมาหาซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อไปถัวเฉลี่ยชดเชยกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเป็นคนปลูกป่าเพื่อเก็บคาร์บอนเครดิตไปถัวเฉลี่ยเองก็ได้ ปัจจุบันในประเทศไทย “คาร์บอนเครดิต” ยังเป็นเรื่องของความสมัครใจ ในขณะที่ต่างประเทศเริ่มมีมาตรการภาคบังคับกันแล้ว

 

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท  ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีพืชเกษตรหลายชนิดที่ถูกนำมาประเมินหาปริมาณการสะสมคาร์บอน หนึ่งในนั้นก็คือยางพารา ถือเป็นพืชเกษตรที่มีศักยภาพสูงในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยปริมาณมวลชีวภาพมีผลต่อศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนและอัตราการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในลักษณะแปรผกผันตามอายุของยางพารา ดังนี้

1.ยางพาราอายุ 1-5 ปี สามารถกักเก็บและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 3.91 ตันต่อไร่ต่อปี

2.อายุ 6-10 ปี สามารถกักเก็บและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 3.14 ตันต่อไร่ต่อปี

3.อายุ 11-15 ปี สามารถกักเก็บและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 2.36 ตันต่อไร่ต่อปี

4.อายุ 16-20 ปี สามารถกักเก็บและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 1.59 ตันต่อไร่ต่อปี

5. อายุ 21-25 ปี สามารถกักเก็บและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 0.81 ตันต่อไร่ต่อปี

 

นายณกรณ์ กล่าวว่า ในสภาพปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk Management) การกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะเป็นการช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้ ประเทศไทยมีการปลูกยางพาราเป็นอันดับ 1 ของโลก มีพื้นที่ปลูกยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย 18 ล้านไร่ หากดำเนินการในเรื่องนี้ จะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับประเทศไทยได้

นอกจากจะช่วยในเรื่องการบริหารจัดการลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว สิ่งที่ได้โดยตรงคือการลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร อาทิ ค่าน้ำมัน การใส่ปุ๋ยเท่าที่จำเป็น กยท.จึงเข้ามาบริหารจัดการในเรื่องนี้ ส่วนผลพลอยได้ก็คือรายได้อีกทางหนึ่งที่มาจากการขายคาร์บอนเครดิตที่กักเก็บไว้ ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสที่ดีของชาวสวนยางที่จะมีรายได้เสริม นี่เป็นสิ่งที่เราตั้งใจที่จะทำ ก็มองว่าเป็นหนึ่งในมาตรการที่ กยท.จะส่งเสริมให้มีรายได้ และต้องการให้มีคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ให้กับพี่น้องเกษตรกรดีขึ้น

"โครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยางพารา “ กยท. ผนึกพันธมิตร ความร่วมมือกับ ภาคเอกชน ,สถาบันการศึกษารวมทั้งหน่วยงานของพี่น้องเกษตรกรที่ให้ความสนใจที่จะยินยอมและยินดีที่จะเข้าร่วมในโครงการนี้ในการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ นวัตกรรมให้แก่ เกษตรกรชาวสวนยาง พัฒนาความรู้ความเข้าใจ นำไปสู่การทำสวนยางพาราอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานในระดับสากล บริหารจัดการการลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตจากสวนยางพาราได้อย่างยั่งยืน" 

นายณกรณ์  กล่าวว่า กยท. มีเป้าหมายครอบคลุมพื้นที่สวนยางพาราทั่วประเทศ เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องไปกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่เป้าหมายสำคัญของการลดคาร์บอนอย่างแท้จริง ตลอดจนมีความมุ่งมั่นในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการหยุดยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมการดำเนินงานทุกขั้นตอน สู่การเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน  รวมทั้งเพิ่มรายได้ ลดความเสี่ยง สร้างโอกาสให้กับเกษตรกรชาวสวนยางขายคาร์บอนเครดิตได้อีกทางหนึ่ง

นับจากนี้ต้องติดตามกันต่อว่า กยท. จะช่วยชาวสวนยาง ขายคาร์บอนเครดิตครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อไร รายได้จะแซงราคายางหรือไม่  ซึ่งจะเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ที่สำคัญ ต้องตามอย่างใกล้ชิด